ที่มาภาพ : http://uk.businessinsider.com/r-chinas-xi-restructures-military-consolidates-control-2017-4

ในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา จีนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในทศวรรษ 1970 จีนเป็นประเทศที่ยากจน และล้าหลังประเทศตะวันตก รวมทั้งบางประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะในด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี หรือผลผลิตการเกษตร แต่ปัจจุบัน จีนเป็นชาติที่เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นชาติที่ค้าขายกับต่างประเทศ มีมูลค่าอันดับ 1 ของโลก เป็นผู้ผลิตรถยนต์ เรือพาณิชย์ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์ รายใหญ่ที่สุดของโลก

การก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของจีนทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย รวมทั้งต่อสหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจในปัจจุบัน การก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีนมีความหมายและส่งผลต่อสหรัฐฯ คือการสูญเสียอำนาจและอิทธิพลในเวทีการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สหรัฐฯ นั้นวิตกกังวลต่อพัฒนาการที่จะทำให้โลกมีมหาอำนาจหลายขั้ว (multipolar world) โดยสหรัฐฯ กลายเป็นเพียงประเทศมหาอำนาจหนึ่งเท่านั้น

หากว่าโลกยังพัฒนาไปสู่ภาวะมหาอำนาจหลายขั้ว และจีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียเหนือ จะเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ จะเผชิญหน้ากับปัญหาสำคัญๆ เช่น จะร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้มากขึ้นเพื่อถ่วงดุลจีน หรือจะยอมรับการนำของจีน แบบเดียวกับอดีตที่ผ่านมา ที่ประเทศเหล่านี้เคยยอมรับและอาศัยการนำของสหรัฐฯ

โลกที่จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจโดยมีบทบาทและอิทธิพลที่สำคัญ จะเป็นโลกที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าโลกในสมัยที่สหรัฐฯ ยังมีฐานะประเทศมหาอำนาจชั้นนำ ที่จีนเองเคยแสดงบทบาทอย่างจำกัดมาแล้ว หากสหรัฐฯ ลดบทบาทตัวเองลงอย่างรวดเร็วในเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ จีนจะตระหนักทันทีมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นประเทศมหาอำนาจนำแทนที่สหรัฐฯ

ในต้นศตวรรษที่ 20 โลกเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วกับสภาพการเมืองแบบมหาอำนาจหลายขั้ว แต่ในที่สุดแล้ว สภาพดังกล่าวนำไปสู่สงครามโลกถึง 2 ครั้ง และเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำครั้งใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่บทบาทของจีนในยุคมหาอำนาจหลายขั้วจะช่วยโลกเราให้สามารถหลีกเลี่ยงหายนะภัยแบบอดีต ไม่ให้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21

จีนจะเป็นมหาอำนาจแบบไหน?

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นว่า จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแบบสุภาพบุรุษ การพึ่งพิงทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในเอเชียจะช่วยยับยั้งพฤติกรรมก้าวร้าวของจีน เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนครองอำนาจอยู่ได้ก็โดยอาศัยความชอบธรรมที่มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ที่การเติบโตต้องอิงอาศัยการค้ากับต่างประเทศ จีนจึงต้องรักษาความสัมพันธ์ที่สงบสันติกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย

นอกจากนี้ ผู้นำจีนก็ประกาศท่าทีมาตลอดว่า จีนจะเป็นประเทศมหาอำนาจที่แตกต่างจากจากมหาอำนาจในอดีต จีนคัดค้านการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่นๆ และเห็นว่าการสร้าง “เขตอิทธิพล” เป็นโบราณวัตถุของโลกในยุคสงครามเย็น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ประกาศว่า จีนจะไม่ไปเกี่ยวพันกับลัทธิล่าอาณานิคมหรือการรุกรานใดๆ เพราะจีนมีวัฒนธรรมที่รักสันติ หากมองจากท่าทีที่ประกาศของจีนก็พอจะอนุมานได้ว่า โฉมหน้าเอเชียในยุคที่จีนเป็นใหญ่ ก็จะไม่แตกต่างจากสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่ถ้ามองจากอดีตที่ผ่านมา มหาอำนาจของภูมิภาคไม่ได้มีพฤติกรรมแบบที่ผู้นำจีนประกาศออกมา ความจำเป็นด้านความมั่นคงทำให้มหาอำนาจจะต้องครอบงำประเทศในภูมิภาคของตัวเอง มหาอำนาจจะใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันประเทศอื่นๆ สร้างแสนยานุภาพทางทหาร สะกัดกั้นประเทศคู่แข่ง ใช้องค์กรของภูมิภาคและวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างอิทธิพลของตัวเอง มหาอำนาจมักหวาดเกรงว่าประเทศคู่แข่งจากภายนอกจะเข้ามามีฐานทัพทางทหาร จึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งพยายามเผยแพร่วัฒนธรรมของตัวเอง เพื่อดึงประเทศอื่นๆ ให้เข้ามาใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

ศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/28/Jawaharlal_Nehru_Trust_Port.jpg

ในระยะหลายสิบกว่าปีที่ผ่านมา จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศในเอเชียแทบจะทุกประเทศ รวมทั้งเป็นตลาดส่งออกหลักของหลายประเทศในเอเชีย จีนลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับออสเตรเลีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และสมาคมอาเซียน จีนยังตั้งองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมา ในปี 2014 จีนร่วมกับรัสเซีย บราซิล และอินเดีย ตั้ง New Development Bank ด้วยเงินทุน 100 พันล้านดอลลาร์ ธนาคารนี้มีสำนักงานใหญ่ที่เซี่ยงไฮ้

ในปี 2015 จีนตั้ง Asian Infrastructure Investment Bank ด้วยเงินทุน 100 พันล้านดอลลาร์ โดยมีประเทศต่างๆ 80 ประเทศเข้าร่วม โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ทำให้จีนมีความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรธรรมชาติกับประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชีย China Development Bank ปล่อยเงินกู้แก่โครงการต่างๆ ไปแล้วเป็นเงิน 250 พันล้านดอลลาร์

สหรัฐฯ ก็เคยดำเนินนโยบายที่ให้ตัวเองเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศแถบลาตินอเมริกาที่สหรัฐฯ ถือเป็นภูมิภาคหลังบ้าน ในศตวรรษที่ 19 บริษัทอเมริกันแห่กันไปลงทุนทำธุรกิจในภูมิภาคนี้เพื่อค้าขายผลไม้ แร่ น้ำตาล และยาสูบ บริษัทอเมริกันชื่อ United Fruit สามารถควบคุมการส่งออกผลไม้ทั้งหมดของประเทศในอเมริกากลาง

ส่วนสถาบันการเงินของอเมริกาในลาตินอเมริกาก็ระดมเงินทุนในท้องถิ่นไปให้กับบริษัทอเมริกัน ในปี 1948 สหรัฐฯ ตั้งองค์กร Organization of American States (OAS) เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความร่วมมือในภูมิภาค OAS กลายเป็นองค์กรสร้างความชอบธรรมให้กับการแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ ในลาตินอเมริกา สหรัฐฯ ใช้นโยบายต่างๆ เช่น นโยบาย “ลูกพี่ใหญ่” การทูตเรือปืน หรือการทูตดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์การค้าและการลงทุนของตัวเอง

การมีฐานะนำ หรือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค ทำให้มหาอำนาจสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อกดดันทางเศรษฐกิจ เช่น ใช้การคว่ำบาตรเพื่อบรรลุเป้าหมายหรือผลประโยชน์ของตัวเอง เมื่อเร็วๆ นี้จีนเองก็เริ่มใช้วิธีการดังกล่าวนี้เช่นกัน ปี 2017 จีนลงโทษบริษัท Lotte ของเกาหลีใต้ ที่ร่วมมือกับโครงการติดตั้งขีปนาวุธ THAAD ของสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ (Lotte ขายที่ดินให้รัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่อใช้เป็นที่ตั้งขีปนาวุธ THAAD) และรัฐบาลจีนห้ามทัวร์จีนไปเยือนเกาหลีใต้

โฉมหน้าใหม่ของเอเชีย

ที่มาภาพ : weforum.org

นโยบายจีนต่อเอเชียในอนาคตจะเป็นอย่างไร อาจคาดการณ์ได้จากพฤติกรรมที่แล้วมาของมหาอำนาจในภูมิภาคอื่นๆ การพึ่งพิงทางเศรษฐกิจซึ่งกันและกันมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกคือทำให้ความขัดแย้งมีต้นทุนสูงขึ้นเพราะจะกระทบการค้าระหว่างกันและกัน แต่ด้านลบคือทำให้ประเทศที่มีฐานะนำทางเศรษฐกิจ สามารถใช้เป็นเครื่องมือกดดันทางเศรษฐกิจต่ออีกประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ ประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค จะเข้าแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศเพื่อนบ้าน

แต่จีนอาจไม่ต้องใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ หากว่าประเทศในเอเชียปรับท่าทีให้ตรงกับนโยบายของจีน อย่างเช่นกรณีของฟิลิปปินส์ ในปี 2013 ประเทศนี้ได้นำเรื่องกรณีพิพาททะเลจีนใต้ ขึ้นฟ้องต่อศาลโลก แต่เมื่อมาถึงรัฐบาลประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต ฟิลิปปินส์เริ่มวางตัวออกห่างจากสหรัฐฯ แล้วหันไปใกล้ชิดกับจีน โดยจีนเสนอที่จะลงทุนในฟิลิปปินส์เป็นเงิน 24 พันล้านดอลลาร์

ในออสเตรเลีย ก็มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ถึงท่าที่ของออสเตรเลียต่อเอเชียใหม่ที่ “ไม่มีอเมริกา” นาย Hugh White นักวิเคราะห์ของ Australian National University เขียนบทความที่มีอิทธิพลมากชื่อ “Without America: Australia in the New Asia” กล่าวว่า การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะดำเนินไปอย่างไร เป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน เช่น จะเป็นไปอย่างสันติหรือรุนแรง จะเกิดขึ้นรวดเร็วหรือช้าๆ แต่ที่แน่นอนก็คือ สหรัฐฯ จะยุติบทบาททางยุทธศาสตร์ในเอเชีย ระเบียบของเอเชียแบบเก่าที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำกำลังจะผ่านพ้นไป และระเบียบใหม่ที่จีนเป็นผู้นำกำลังเกิดขึ้น

ที่ผ่านมา บทบาทของออสเตรเลียต่อเอเชียล้วนอิงอาศัยการสนับสนุนของประเทศที่มีฐานะนำในโลก คือ อังกฤษ และต่อมาสหรัฐฯ ออสเตรเลียจึงไม่รู้ว่าจะวางท่าทีอย่างไรเมื่ออำนาจและบทบาทนำของสหรัฐฯ ในเอเชียจางหายไป ที่แน่นอนก็คือ ออสเตรเลียคงจะสร้างระเบียบความสัมพันธ์ใหม่ในเอเชีย โดยร่วมมือกับมหาอำนาจอย่างจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย รวมทั้งกับประเทศที่มีฐานะระดับกลาง เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม

แต่การที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจในเอเชีย จะทำให้จีนปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศต่างๆ มากขึ้นหรือไม่ ในระยะที่ผ่านมา ท่าทีและนโยบายของจีนไม่ได้ส่อไปในทิศทางนี้ ช่วงปี 2010-2015 นโยบายจีนต่อภูมิภาคเอเชียสะท้อนสิ่งที่เป็นความคิดชาตินิยม เช่น ปัญหาความขัดแย้งกับญี่ปุ่นในกรณีเกาะเซนกากุ (Senkaku) ทำให้ความสัมพันธ์จีนกับญี่ปุ่นที่เคยราบรื่นในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา ต้องสั่นคลอน

การดำเนินนโยบายบนพื้นฐานของสิ่งที่เป็นแกนผลประโยชน์ (core interest) ของจีน ทำให้เป็นเรื่องยากที่จีนจะประนีประนอมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ แต่การประนีประนอมจะเกิดขึ้นได้เมื่อนโยบายของจีนตั้งอยู่บนพื้นฐาน 2 ประการ คือ การปกป้องผลประโยชน์ของจีน และการยึดถือค่านิยมร่วมของชุมชนนานาชาติ

ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org