ธปท. ปลดล็อกแบงก์พาณิชย์ตั้ง “ตัวแทนฝาก-ถอน-จ่ายเงิน-โอนเงิน” ไม่ต้องขออนุญาต ยันไม่ใช่ตั้งธนาคารใหม่
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้บริบทที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกระทบต่อพฤติกรรมการใช้บริการทางการเงินของลูกค้า ตลอดจนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในการให้บริการแก่ลูกค้าได้กว้างขวางขึ้น ธปท. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์ ให้มีความยืดหยุ่นและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการที่ถูกลง ตรงความต้องการ และมีทางเลือกที่หลากหลาย ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็จะสามารถให้บริการลูกค้าได้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคารพาณิชย์ได้ดีขึ้น
สาระสำคัญของเกณฑ์ฉบับใหม่นี้ คือ การให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวแก่ธนาคารพาณิชย์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบและช่องทางให้บริการ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- สาขาของธนาคารพาณิชย์ จะมีรูปแบบยืดหยุ่นขึ้น ทั้งเรื่องธุรกรรม วันเวลาทำการ และให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ mobile banking
- การแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ (banking agent) ซึ่งเป็นเรื่องที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งได้อยู่แล้ว โดยธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งธนาคารพาณิชย์อื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และไปรษณีย์ เป็นตัวแทนได้ แต่เกณฑ์ใหม่ได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมนิติบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมด้วย
อนึ่ง เดิม ธปท. มีกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลตัวแทนธนาคารพาณิชย์คือ “ประกาศธนาคารแห่งประเทศที่ สนส. 9/2553 เรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตัวแทนของสถาบันการเงิน (banking Agent) ลงนาม ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2553 อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 โดยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถตั้งตัวแทนได้ 6 ประเภท ดังนี้
1) ตัวแทนรับฝากเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์อื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และไปรษณีย์
2) ตัวแทนรับถอนเงิน ได้แก่ ไปรษณีย์
3) ตัวแทนจ่ายเงินผู้ใช้บริการรายย่อย (เช่น การโอนเงินจากธนาคารในกรุงเทพฯ และให้ไปรษณีย์ในต่างจังหวัดจ่ายเงินแก่บุคคล แทนที่จะต้องมาถอนจากบัญชีในสาขาธนาคาร) ได้แก่ ไปรษณีย์
4) ตัวแทนรับชำระเงิน (bill payment) ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์อื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และไปรษณีย์
5) ตัวแทนจ่ายเงินผู้ใช้บริการรายใหญ่ (เช่น ธนาคารต่างชาติที่มีสาขาน้อย จะใช้ตัวแทนธนาคารไทยออกเช็คแก่บุคคลมารับตามสาขาต่างๆ) ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
6) ตัวแทนอื่นๆ จะต้องขออนุญาตเป็นกรณีไป ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 รายที่ไม่เข้าข่าย 5 ประเภทข้างต้นและได้รับอนุญาตจาก ธปท. ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส บริษัทลูกของซีพี, ตู้บุญเติม, ตู้เติมสบาย และ Airpay
ดังนั้น ประกาศฉบับใหม่จะอนุญาตการตั้งตัวแทนทุกประเภท (ยกเว้นการจ่ายเงินผู้ใช้บริการรายใหญ่) เป็นการทั่วไปแก่นิติบุคคลที่มีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามประกาศ โดยไม่ต้องขออนุญาตแก่ ธปท. ก่อน นอกจากนี้ ประกาศฉบับใหม่ยังเปิดช่องให้ธนาคารพาณิชย์สามารถขออนุญาตตั้งตัวแทนที่เป็นบุคคลธรรมดาได้เป็นกรณีๆ ไปด้วย โดย ธปท. มีเป้าหมายไปที่ร้านค้าขนาดเล็กของชุมชนหรือโชห่วย ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเข้ามาร่วมให้บริการได้
“ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์เป็นเพียงผู้ที่ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งในการให้บริการแทนในธุรกรรมบางประเภท มิใช่การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ที่มีใบอนุญาต (banking license) จาก ธปท. ซึ่งในปัจจุบัน ธปท. ยังไม่มีนโยบายในการให้ใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์รายใหม่แต่อย่างใด ส่วนการกำกับดูแลมีหลักเกณฑ์หลักคือการกระทำของตัวแทน ธนาคารจะต้องรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการเสมือนหนึ่งได้ให้บริการด้วยตัวเอง ซึ่งในทางปฏิบัติธนาคารที่จะตั้งตัวแทนจะต้องทำแผนรายงานที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารของธนาคาร พร้อมส่งมายัง ธปท. ในช่วงต้นปีของทุกปี อีกด้านหนึ่ง ธปท. จะมีการตรวจสอบย้อนหลังถึงการดำเนินงานของตัวแทนอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนการกระทำของตัวแทนที่อาจจะก่อความเสียหายตามหลักการธนาคารก็จะต้องรับผิดชอบทั้งหมดตามกฎหมาย” นายสมบูรณ์กล่าว
นายสมบูรณ์กล่าวถึงค่าธรรมเนียมว่า อยากให้มองว่าตัวแทนเป็นเหมือนช่องทางทางการให้บริการทางการเงิน ซึ่งต้องมีการแข่งขันกันกับธนาคารและช่องทางอื่นๆ หากมีการกำหนดเพดานขั้นสูง ค่าธรรมเนียมของทุกตัวแทน สุดท้ายค่าธรรมเนียมในตลาดจะกระโดดไปที่ค่าธรรมเนียมนั้นทันที แม้ว่าบางธนาคารยินดีที่จะแข่งขันหรือมีต้นทุนการให้บริการที่ต่ำกว่าและสามารถคิดค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าได้ แต่ธนาคารนั้นจะไม่มีแข่งขันกับธนาคารอื่นและส่งผลเสียต่อประชาชนโดยรวม
นอกจากนี้ ธปท. ตระหนักถึงการที่ธนาคารพาณิชย์มีการปรับรูปแบบช่องทางการดำเนินธุรกิจและอาจมีการปิดสาขา หลักเกณฑ์ฉบับใหม่จึงกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีมาตรการในการดูแลลูกค้าที่อาจได้รับผลกระทบ โดยต้องจัดทำแผนกลยุทธ์เกี่ยวกับสาขา ช่องทางให้บริการที่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์และแจ้งให้ ธปท. ทราบทุกปี รวมถึงกำหนดให้มีช่องทางทดแทนการให้บริการลูกค้าที่เพียงพอ และต้องกำหนดแนวทางการดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org