ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ ในงานสัมมนา “Credit Spotlight on Thailand: The Link to Continental Southeast Asia” จัดโดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และ S&P Global Ratings

ดร.วิรไทกล่าวว่าสถาบันจัดอันดับเครดิตเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของระบบการเงิน เพราะเป็นสถาบันที่ประเมินคุณภาพของการก่อหนี้ ช่วยลดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของข้อมูลระหว่างผู้ต้องการระดมทุนและผู้ต้องการลงทุน ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ที่ต้องการระดมทุน นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงความยั่งยืนในระยะยาวของผู้ระดมทุนและเชื่อมโยงกับเสถียรภาพของระบบการเงินในภาพรวมอีกด้วย จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่สถาบันจัดอันดับเครดิตต้องประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบและรอบด้าน

ในภาวะปัจจุบัน การประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น เนื่องจากเราอยู่ในโลกที่มีความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือหรือที่เรียกกันว่าโลก VUCA (Volatility Uncertainty Complexity และ Ambiguity) นอกจากนี้ ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เราคุ้นเคยไม่สามารถอธิบายได้ดีเหมือนในอดีต เช่น เงินดอลลาร์กลับอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ ทั้งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาหลายครั้ง หรืออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างที่คาด ทั้งที่ตลาดแรงงานตึงตัวมากขึ้น เป็นต้น

ประเด็นเหล่านี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น puzzle ที่ทำให้การประเมินความเสี่ยงยากมากขึ้นเนื่องจากความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปด้วยหลายเหตุผล มีความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนมากขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายเรื่องอาจไม่ยั่งยืนและเสี่ยงต่อการปรับตัวอย่างรวดเร็วหรือที่เรียกกันว่า sharp market correction

ในสภาวการณ์แบบนี้สิ่งที่จะเป็นอันตรายที่สุดคือ ความชะล่าใจของผู้ร่วมตลาด ซึ่งบางครั้งการที่สภาวะตลาดนิ่งและดูดีอาจจะเป็นสภาวะช่วงคลื่นลมสงบก่อนที่จะเกิดพายุใหญ่ก็ได้ ถ้าผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่มีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะมุมมองที่อาจจะไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบัน การใช้โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมือน ๆ กัน ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน มักจะให้ผลวิเคราะห์ออกมาคล้ายกัน นำไปสู่พฤติกรรมมองตามกันไปในทิศทางเดียวได้ จนในบางครั้งเกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างมุมมองหรือความคาดหวังของตลาด (market expectation) กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ซึ่งความไม่สอดคล้องหรือ mismatch ดังกล่าว จะไม่สามารถยั่งยืนได้นานและเมื่อถูกกระทบด้วยปัจจัยบางอย่าง อาจจะนำไปสู่การปรับตัวของตลาดที่รวดเร็วและรุนแรงได้ปรากฏการณ์ market correction ที่กล่าวถึงนี้ได้แสดงตัวอย่างขึ้นแล้วทั่วโลกในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง หรือผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับขึ้นเร็ว หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ บางตัวออกมาต่างไปจากที่ตลาดคาดไว้ market correction ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องดีที่ตลาดเริ่มปรับตัวเองก่อนที่ mismatch ระหว่างมุมมองของตลาดกับปัจจัยพื้นฐานจะมีขนาดใหญ่กว่านี้และอาจจะนำไปสู่การปรับตัวรุนแรงได้ในอนาคต

นอกจากนี้ market correction ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับทุกฝ่ายทั้งผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้ประเมินความเสี่ยงว่า อย่าชะล่าใจเมื่อเห็นตลาดผันผวนน้อยหรือมีความเสี่ยงต่ำ เหตุการณ์ market correction แสดงให้เห็นว่า การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานยังเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอ และจะต้องพิจารณาปัจจัยพื้นฐานในบริบทของความคาดหวังของตลาดที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วด้วย เพราะทั้งสองส่วนมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน

“ในวันนี้ ผมจะขอยกตัวอย่าง puzzle ที่เกิดขึ้นสักสามเรื่อง ก่อนที่จะเกิด market correction ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา”

เรื่องแรกคือ การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันในตลาดโลก เราคงจำกันได้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคยอยู่ในระดับสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นเวลานานกว่า 3 ปีระหว่างปี 2554 – 2557 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงแรงและมาอยู่จุดต่ำสุดที่ประมาณ 35 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในต้นปี 2559 ส่วนสำคัญเป็นเพราะความอ่อนแรงของเศรษฐกิจโลกและการเข้ามาของ shale oil ที่มีศักยภาพจะเพิ่มอุปทานพลังงานในตลาดโลกได้อีกมาก ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นเหนือ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้อีก

แต่ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว ราคาน้ำมันในตลาดโลกกลับปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่หลายคนคาด มาอยู่สูงกว่า 70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงต้นปีนี้ ก่อนที่จะปรับลดลงบ้างในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้นเร็วนี้ ฐานะการซื้อสุทธิหรือ net long position ของผู้ค้าน้ำมันที่ไม่ใช่ผู้ค้าเชิงพาณิชย์ทั่วไป เช่น hedge fund และนักลงทุนที่เก็งกำไร ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ด้วย ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนและออกห่างจากปัจจัยพื้นฐานมากขึ้นในบางช่วงเวลา

เรื่องที่สอง คือ อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และประเทศอุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่ได้ถูกกดดันจากสภาวะตลาดแรงงานที่ดีขึ้นเหมือนในอดีต ในช่วงปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งต่ำว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2551 และต่ำกว่าอัตราการว่างงานระยะยาวที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประเมินไว้ที่ร้อยละ 4.6

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำประมาณร้อยละ 1.5 – 2.0 ตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าทฤษฎี Phillips Curve ที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานยังคงใช้ได้อยู่หรือไม่ ตัวแปรทั้งสองควรแปรผกผันกัน แต่ในช่วงหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ความสัมพันธ์นี้ดูจะลดลงมากหรือเลือนหายไป และปรากฏการณ์นี้ไม่ได้

เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายอย่างเปลี่ยนไป ทั้งเรื่อง shale oil ในสหรัฐฯ บทบาทของ e-commerce การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดแรงงาน โครงสร้างประชากร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการที่เศรษฐกิจโลกเปิดกว้างเชื่อมโยงกันมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตสินค้ามีต้นทุนถูกลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทฤษฎี Phillips Curve กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากที่ค่าจ้างรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมปรับสูงขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อเงินเฟ้อและแนวโน้มการปรับขึ้น
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จนเกิดภาวะ market correction ในตลาดทุนและตลาดเงินทั่วโลกในหลายมิติต่อไป

puzzle ที่สามคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องและผลตอบแทนหรือ yield curve ของพันธบัตรสหรัฐฯ ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก ทั้ง ๆ ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาแล้ว 4 ครั้งตั้งแต่ปลายปี 2559 จากร้อยละ 0.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ในปัจจุบัน ถ้าถอยหลังกลับไปสักสองปีที่แล้วตลาดส่วนใหญ่คาดว่า เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยต่อเนื่องแล้ว จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบกับเงินสกุลต่าง ๆ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินในกลุ่มเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเยน ยูโร หรือปอนด์สเตอร์ลิงอีกด้วย หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า คือ สภาพคล่องที่ล้นตลาดการเงินโลกจากการทำนโยบาย Quantitative Easing ของธนาคารกลางหลายประเทศ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้ง แต่สภาพคล่องส่วนเกินก็ยังอยู่ในระดับสูงมาก

สภาพคล่องส่วนเกินเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่สามารถส่งผ่านไปยัง yield curve ได้ดีเหมือนในอดีต อีกสาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะตลาดมีอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ต่ำด้วยเพราะเชื่อว่าความสัมพันธ์ Phillips Curve เปลี่ยนไปดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การที่ yield curve ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากตาม Fed funds rate ส่งผลให้แรงกดดันที่จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นนั้นมีน้อยกว่าในอดีต

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะ market correction ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาได้เริ่มส่งผลกระทบต่อ yield curve ระยะยาวของพันธบัตรสหรัฐฯ แรงกว่าที่ตลาดคาดไว้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 4 ปี และจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลและภาคเอกชนได้โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ฐานะทางการเงินไม่เข้มแข็ง

puzzle ทั้งสามเรื่องที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่แฝงอยู่ เมื่อเกิด mismatch ระหว่างการคาดการณ์ของตลาดกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า market correction ที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาจะนำไปสู่การปรับตัวของตลาดที่ใหญ่กว่าหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อใด ผู้ประกอบการและนักลงทุนจึงต้องระมัดระวังและตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านี้

นอกจากนี้ ต้องตระหนักว่าการคาดการณ์ของตลาดอาจจะเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยอื่นนอกจากมุมมองเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจได้ด้วยไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี หรือแม้แต่ภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เป็นต้น ปัจจัยทั้งหมดนี้อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินและตลาดทุน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยระยะยาว และต้นทุนทางการเงินที่จะกระทบต่อคุณภาพของหนี้และความยั่งยืนของผู้ประกอบการด้วย

“แม้ว่าตลาดเงินและตลาดทุนโลกอาจจะต้องเผชิญกับ market correction ที่แรงกว่าที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีกันชนหรือความสามารถที่จะรองรับความผันผวนจากตลาดการเงินโลกได้ดีระดับหนึ่ง เนื่องจากภาคการเงินไทย
โดยรวมมีปัจจัยพื้นฐานที่เข้มแข็งหลายประการ”

ประการแรก เศรษฐกิจไทยพึ่งพาหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำ โดยล่าสุดหนี้ต่างประเทศของทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่เพียงร้อยละ 36 ต่อ GDP1 ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเกณฑ์สากลส่วนสภาพคล่องด้านเงินตราต่างประเทศของไทยยังถือว่าดีมาก สะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูงถึงร้อยละ 10.8 ต่อ GDP ในปี 2560 จากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการที่ดี

นอกจากนี้ เงินสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง โดยปัจจุบันเงินสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 3.3 เท่าและสูงกว่าหนี้ต่างประเทศทั้งหมดถึง 1.4 เท่า แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีกันชนรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ดี

ประการที่สอง ฐานะทางการเงินของสถาบันการเงินไทยยังแข็งแกร่ง และมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลงได้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนเงินสำรองสำหรับหนี้เสียที่มีต่อเงินสำรองพึงกันตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในระดับสูง ถึงร้อยละ 171.9 ขณะที่สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 18.2

ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลสถาบันการเงินหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการดำรงแหล่งที่มาของเงินให้สอดคล้องกับการใช้ไป หรือ Net Stable Funding Ratio เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับมือกับภาวะสภาพคล่องตึงตัวเป็นระยะเวลานานได้ดีขึ้น หรือหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันการเงินรวมถึงหลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลและการตรวจสอบความเสี่ยงที่เกิดจากวัฒนธรรมองค์กรอีกด้วย

ประการที่สาม ในภาพรวมระดับการก่อหนี้ของภาคธุรกิจไม่ได้สร้างความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน โดยหนี้ภาคธุรกิจต่อ GDP ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 76.7 ถือว่าไม่ได้สูงมากและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีสัดส่วนดังกล่าว อยู่ที่ร้อยละ 98.7 ขณะที่หนี้กว่า 3 ใน 5 เป็นหนี้ระยะยาว และหนี้สกุลต่างประเทศของภาคธุรกิจส่วนหนึ่งเป็นของธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อการลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมีจำกัด

อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจบางกลุ่มยังมีฐานะทางการเงินเปราะบาง ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ยังน่ากังวล ความสามารถในการทำกำไรและสัดส่วนกำไรต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทขนาดเล็กบางกลุ่มยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ของธุรกิจ SMEs จะเริ่มปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น แต่ระดับ NPL ยังอยู่สูงเมื่อเทียบกับช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ในอนาคตธุรกิจ SMEs จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่จะกระทบกับรูปแบบของธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEsอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ เราต้องติดตามฐานะการเงินของภาคครัวเรือนอย่างใกล้ชิด เพราะครัวเรือนหลายกลุ่มมีฐานะการเงินเปราะบาง เนื่องจากการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนยังไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง รายได้ครัวเรือนส่วนหนึ่งถูกกระทบจากโครงสร้างตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป นอกจากประเด็นเรื่องรายได้แล้ว ภาคครัวเรือนยังเผชิญกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ได้ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 78.3 แต่ภาคครัวเรือนยังต้องใช้เวลาปรับโครงสร้างทางการเงินอีกระยะหนึ่ง

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มการขยายตัวที่ชัดเจนมากขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น รวมทั้งภาคการเงินมีกันชนที่ดีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกันชนด้านต่างประเทศ แต่พวกเราต้องไม่ประมาท ไม่ชะล่าใจ อย่างที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่าเราอยู่ในยุค VUCA ที่มีความผันผวนสูง ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันสูงขึ้น และที่สำคัญสภาพคล่องส่วนเกินที่ยังมีอยู่มากในระบบการเงินโลก จะส่งผลให้เกิด mismatch ระหว่างการคาดการณ์ของตลาดกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะทำให้เกิด market correction แบบรุนแรงได้

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น การตระหนักถึงความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบด้านจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนประสบความสำเร็จและมีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น สามารถรองรับกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นได้ดีซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันจัดอันดับเครดิตจะต้องมีส่วนสำคัญในการช่วยประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบและรอบด้าน และต้องสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างฐานะการเงินของผู้ระดมทุน การคาดหวังของตลาด ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อราคาสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ตลอดจนเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

หมายเหตุ : สัดส่วนหนี้ต่างประเทศของไทยเคยสูงถึงร้อยละ 72 ในปี 2542 (เป็นตัวเลขประมาณการ ซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีฐานข้อมูลตามมาตรฐานสากลเหมือนในปัจจุบัน) สำหรับค่าเฉลี่ยของหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะอยู่ที่ ร้อยละ 51

ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org