แรงงานรุ่นใหม่มียัง? 10 ทักษะจำเป็นมีไว้กันหุ่นยนต์แย่งงาน
สำนักวิจัย แมคคินซีย์ โกลเบิล บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการภายในองค์กร เผยรายงานที่ไม่ต่างจากฝันร้ายว่า ภายในปี 2030 หรืออีกประมาณ 12 ปีต่อจากนี้ หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์มากถึง 800 ล้านตำแหน่งทั่วโลก เพราะฉะนั้น มนุษย์เดินดินกินข้าวแกงทั้งหลาย แทนที่จะก้มหน้าก้มตาใช้แรงแลกเงิน ใช้ทักษะเดิมๆในการหารายได้ ถ้าไม่อยากถูกเหล่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) แย่งงาน ต้องตื่นตัวเตรียมพร้อมติดอาวุธทักษะใหม่ๆให้ตัวเองได้แล้ว
ว่าแต่ ทักษะที่ว่านี้ ต้องเทพขนาดไหน แล้วทักษะที่ว่ามีอะไรบ้าง
คำถามนี้ ไม่ต้องไปตามหาคำตอบให้เหนื่อย เพราะ สถาบันแห่งอนาคต (Institute for the Future หรือ IFTF) แห่งมหาวิทยาลัยฟีนิกซ์ ได้มีการเสวนาเรื่อง Future Work Skills 2020 เพื่อคาดการณ์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต และสรุปเป็น 10 ทักษะการทำงานที่สำคัญที่สุดในปี 2020ไว้เรียบร้อยแล้ว1.มีความสามารถในการทำความเข้าใจข้อมูลในระดับสูง (Sense-making ) ลองนึกภาพตามว่า ในอนาคตหากตำแหน่งงานส่วนใหญ่ถูกยึดครองโดยเครื่องจักรจริง สิ่งเดียวที่แรงงานมนุษย์จะใช้ต่อกรได้คือ สิ่งที่เจ้าสมองกลเหล่านี้ทำไม่ได้ นั่นคือ ทักษะความคิดที่ซับซ้อนขึ้น มีทักษะที่ช่วยในการตัดสินใจได้ในภาวะวิกฤต
2.มีความฉลาดทางสังคม (Social intelligence) นี่คืออีกหนึ่งคุณสมบัติเด่นของแรงงานมนุษย์ที่ต่อให้พัฒนาสมองกลเก่งกาจแค่ไหน ก็ไม่มีวันทำได้ ทักษะที่ว่านี้ หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจอารมณ์และความต้องการของผู้อื่น สามารถเข้ากับผู้อื่นได้ดีและทำให้ผู้อื่นให้ความร่วมมือได้
3.มีความคิดนอกกรอบและความคิดในเชิงปรับตัว (Novel & adaptive thinking) โลกเปลี่ยนไป สินค้าหรือรูปแบบการให้บริการเดิมๆจะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ดังนั้นแรงงานที่มีทักษะในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จึงเป็นทักษะที่หลายองค์กรต่างเฟ้นหา
4.มีความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง (Cross-cultural competency) โลกที่ไร้พรมแดน ได้สร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในทุกมิติของสังคม ไม่เว้นแม้แต่ในที่ทำงาน แรงงานที่มีความเข้าใจในความแตกต่างของวัฒนธรรม สามารถทำงานได้ในบริบทที่แตกต่างจะเป็นกลไกสำคัญในการนำความสำเร็จมาสู่องค์กรในอนาคต
5.มีกระบวนการคิดเชิงคำนวณ (Computational thinking) จากนี้ทักษะเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน อย่างโปรแกรม Microsoft Office จะกลายเป็นทักษะที่ใครๆก็ต้องเป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่ทักษะพิเศษที่ช่วยสร้างแต้มต่อ เพราะสิ่งที่นายจ้างยุคใหม่มองหา คือ ความสามารถในการเขียนโปรแกรม ทักษะการวิเคราะห์สถิติ และตรรกะในแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์
6.มีความเข้าใจในสื่อใหม่ (New-media literacy) สังคมออนไลน์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ไปแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่ต่อไป เพราะฉะนั้นแรงงานที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ ประเมิน และพัฒนาเนื้อหาที่สร้างสรรค์โดยการใช้สื่อรูปแบบใหม่ สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่จับใจคนอ่าน และ ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมได้ จะเป็นที่ต้องการ
7.มีความสามารถในการเรียนรู้และความเข้าใจในเนื้อหาข้ามศาสตร์(Transdisciplinarity) จะเก่งแค่ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งคงไม่พอ แต่ต้องมีการเรียนรู้แบบ T-Shaped คือ “รู้ลึกในศาสตร์หนึ่ง และรู้กว้างในอีกหลายศาสตร์”
8.มีกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่สามารถนำไปประยุกต์ในด้านต่างๆ (Design mindset) สามารถคิดและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของการทำงานให้บรรลุตามเป้าหมาย
9. มีความสามารถในการแยกแยะและคัดกรองข้อมูลสำคัญ (Cognitive load management) ในยุคที่ระบบ Big Data มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละวันมีข้อมูลข่าวสารไหล่บ่ามากมายจนยากที่จะตั้งรับ แรงงานที่ถูกติดอาวุธให้มีทักษะในการคัดกรอง และสามารถจัดลำดับความสำคัญของภูเขาข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้คือทักษะจำเป็นที่ตลาดแรงงานต้องการ
10.มีความสามารถในการทำงาน และขับเคลื่อนทีมงานในลักษณะทีมเสมือน (Virtual collaboration) โลกที่เชื่อมต่อกันด้วยอินเตอร์เนต ได้ทลายกรอบการทำงานแบบเดิมๆ การทำงานเกิดขึ้นได้จากทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ ดังนั้นโจทย์ท้าทายคือ ความสามารถในการทำงานให้บรรลุผล และ ผลักดันให้เกิดการดำเนินงานร่วมกันได้อย่างไร้ปัญหาแม้จะอยู่คนละที่
ขอบคุณที่มา : www.iftf.org