“แพชชั่น” หรือ “ความภักดี” ความสัมพันธ์แบบไหนที่องค์กรต้องการ
อาการ “รักพี่เสียดายน้อง” ไม่ใช่ความผิดแต่เป็นความรู้สึกที่ใครๆ ก็เกิดขึ้นได้ ไม่เว้นแม้แต่องค์กรระดับหมื่นล้านหรือร้อยล้านที่สุดท้ายก็ยังคิดไม่ตก อะไรคือสิ่งที่สำคัญกว่ากันแน่ ระหว่างการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ในองค์กรให้มีความมุ่งมั่นทุ่มเท (Passion) ในการทำงาน หรือ สร้างสายใยแห่งความผูกพัน และภักดี (Engagement) ให้เหนียวแน่น
เพราะ ในเว็บไซต์ officevibe แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีมิชชั่นว่าจะสร้างสุขให้พนักงานและองค์กรทั่วโลกได้ไขปริศนานี้ให้แล้วผ่านบทความที่ชื่อว่า “Passion For Work Is More Important Than Engagement” หรือ แปลแบบบ้านๆ ว่าแพชชั่นในงานนั้นสำคัญมากกว่าความผูกพัน โดยบทความดังกล่าวชี้ชัดว่า การบ่มเพาะบุคลากรให้เปี่ยมไปด้วยแพชชั่นในการทำงานนั้นส่งผลผลดีกับบริษัทในระยะยาวมากกว่าการสร้างความผูกพันระหว่างพนักงานกับองค์กร
ในขณะที่หลายบริษัทเลือกที่จะทุ่มเทสุดกำลังเพื่อสร้างความผูกพันของพนักงาน(Employee Engagement)ให้เกิดขึ้น ด้วยการพุ่งเป้าไปที่การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี เพื่อให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน ทว่าผลลัพธ์จากความพยายามดังกล่าว มีผลการศึกษาที่ยืนยันแล้วส่งผลในวงแคบ และ ไม่ยั่งยืน ผิดกับผลลัพธ์ที่เกิดจากความพยายามในการบ่มเพาะให้พนักงานมีแพชชั่นในงานที่ทำ เพราะเมื่อใดที่มีแพชชั่นเป็นตัวตั้ง พนักงานเหล่านั้นจะมีความมุ่งมั่นเกินร้อยที่จะมองหาหนทางพัฒนาบทบาทและความรับผิดชอบของตัวเองให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ปัญหา คือ การจะเฟ้นหาพนักงานที่มีแพชชั่นในการทำงานนั้น ไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทร ถ้าเช่นนั้นควรทำอย่างไร?
จากผลการศึกษาของดีลอยท์ อินไซต์ ถึงแพชชั่นในการทำงานของชาวอเมริกัน เมื่อปี 2014 ไม่เพียงพบว่า กลุ่มตัวอย่างถึง 88% ไม่มีแพชชั่นในงานที่ทำ ในจำนวนนี้ 80% ยังอยู่ในระดับหัวหน้างาน ซึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เพราะบริษัทส่วนใหญ่ไม่สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้พนักงานเกิดแพชชั่นในการทำงาน แถมบางแห่งยังจ้องมองพนักงานที่มีแพชชั่นในการทำงานอย่างเปี่ยมล้นด้วยสายตาที่กังขา และเลือกที่จะลดความเสี่ยงจากการคิดนอกกรอบด้วยการคงรูปแบบการทำงานแบบเดิมๆ ไว้
ก่อนที่องค์กรจะต้องเสียบุคลากรคุณภาพไปโดยไม่รู้ตัว ถึงเวลาแล้วที่ต้องสร้างบรรยากาศการทำงานที่จะบ่มเพาะแพชชั่นในการทำงานให้เกิดขึ้น ด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้
1.สร้างเครือข่าย พนักงานที่มีแพชชั่นในงานที่ทำ มักจะมองหาโอกาสที่จะได้ผูกสัมพันธ์กับผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาศักยภาพ และชี้ทางสว่างในการแก้ปัญหา ดังนั้น องค์กรที่ดีต้องช่วยเปิดโอกาสเพื่อสร้างเครือข่ายนี้ขึ้นในองค์กร หรืออาจดึงคนนอกที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยก็ได้
2.เปิดเวทีให้ลองฝีมือ แทนที่จะกำหนดกรอบการทำงานแบบเดิมๆ จนทำให้ไอเดียสร้างสรรค์ตีบตัน สู้ปล่อยให้พนักงานที่มีแพชชั่นพลุ่งพล่านได้ปล่อยของ มีโอกาสการเรียนรู้และทดลองสิ่งใหม่ๆ ด้วยการออกไปลุยหน้างาน ลงพื้นที่ หรือ ลงมือทำในโปรเจกต์ที่ชอบหรือสนใจดีกว่า หรือถ้าไม่เช่นนั้น องค์กรอาจส่งเสริมพนักงานทางอ้อม เช่น เปิดคอร์สเรียนภายใน หรือ ส่งพนักงานไปฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพ
3.อยากให้รักในงานต้องเพิ่มความเป็นเจ้าของเข้าไปด้วย แทนที่จะให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่คนที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของบริษัท ไม่สู้ทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่บริษัทได้รับ
4.บ่มเพาะให้เกิดแนวคิดแบบเติบโตได้ (Growth Mindset) หัวใจสำคัญที่จะทำให้องค์กรก็วิน พนักงานก็วินคือ ต้องขจัดความกลัวที่จะล้มเหลวในใจออกไปให้หมดสิ้น เพราะความผิดพลาด ล้มเหลวไม่ใช่จุดจบของความตั้งใจเสมอไป แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จก็ได้
5.ทลายความเชื่อผิดๆ บอกลาความเชื่อผิดๆที่คิดว่ามีเพียงพนักงานรุ่นใหม่ไฟแรงเท่านั้นที่จะมีแพชชั่นในการทำงานได้ เพราะจากการศึกษาของดีลอยท์ อินไซต์พบว่า อายุและระดับการศึกษาของพนักงานไม่มีผลกับการสร้างแพชชั่นใดๆทั้งสิ้น เช่นเดียวกับขนาดขององค์กรก็ไม่ได้มีผลกับการสร้างแพชชั่นแต่ปัจจัยที่มีผลเหนือกว่าขนาดองค์กรคือ นโยบายและวัฒนธรรมองค์กร
ขอบคุณที่มา : www.officevibe.com