องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศ ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2017 ปรากฏว่า 2 ใน 3 จาก 180 ประเทศทั่วโลกยังคงได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนนเช่นเดียวกับปีก่อน และมีค่าคะแนนเฉลี่ยที่ 43 คะแนน

สำหรับประเทศที่ได้อันดับหนึ่ง คือ นิวซีแลนด์ ด้วยคะแนน 89 คะแนน เอาชนะเดนมาร์กไปได้หลังจากที่ในปี 2016 ครองอันดับหนึ่งร่วมกันเพราะมี 90 คะแนนเท่ากัน โดยเดนมาร์กที่ครองอันดับสองของปีนี้ได้ 88 คะแนน อย่างไรก็ตาม สองประเทศมีคะแนนที่ลดลง

ในปีนี้สิงคโปร์ยังคงทำชื่อเสียงให้กับประเทศจากทวีปเอเชีย เพราะแม้ได้คะแนน 84 เท่าปีก่อน แต่อันดับเลื่อนขึ้นมาอยู่ที่ 6 จากอันดับที่ 7 ส่วนของประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น 2 คะแนนเป็น 37 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ส่งผลให้ลำดับเลื่อนขึ้นมาอยู่ที่ 96 ใน 180 ประเทศจากอันดับที่ 101 ในปี 2559 จาก 176 ประเทศ

ในการให้ค่าคะแนน CPI ปี 2017 นี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติให้คะแนนและจัดอันดับประเทศไทยโดยพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งเท่ากับปี 2016 อย่างไรก็ตาม กลับมีคะแนนปรากฏอยู่เพียง 8 แหล่ง โดยมี 3 แหล่งที่ให้คะแนนไทยเพิ่มขึ้น คะแนนลดลง 3 แหล่ง ให้คะแนนเท่าเดิม 2 แหล่ง สามารถสรุปแต่ละแหล่งข้อมูลได้ ดังนี้

1. แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมี 3 แหล่ง คือ

1.1 World Justice Project (WJP): Rule of Law Index ได้คะแนน 40 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 37 คะแนนในปีที่ผ่านมา โดย WJP ประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้หลักนิติรัฐ

1.2 Global Insight Country Risk Rating (GI) ได้ 35 คะแนน จาก 22 คะแนนปีที่ผ่านมา โดย GI ประเมินปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวกับคอร์รัปชัน การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับพิจารณาสัญญาและขอใบอนุญาต

1.3. World Economic Forum Executive Opinion Survey 2017 ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 42 จาก 37 คะแนน โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวการจ่ายสินบนในเรื่องการส่งออกและนำเข้า สาธารณูปโภค ภาษี การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และคำตัดสินคดีของศาล รวมถึงการยักย้ายถ่ายเทเงินจากภาครัฐไปสู่เอกชน

2. แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทยได้คะแนนลดลงกว่าปีก่อนมี 3 แหล่ง คือ

2.1 IMD World Competitiveness Yearbook 2017 วัดภาพลักษณ์เกี่ยวกับการติดสินบนและการคอร์รัปชัน คะแนนลดลงจาก 44 คะแนน เป็น 43 คะแนน

2.2 Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF-BTI) ได้คะแนน 37 คะแนน ลดลงจาก 40 คะแนนในปีก่อน โดย BF-BTI ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1. ด้านการเมือง 2. ด้านเศรษฐกิจ 3. ด้านการจัดการของรัฐบาล

2.3 Varieties of Democracy Project แหล่งข้อมูลใหม่ในปีที่แล้ว ให้คะแนนไทย 23 คะแนน ลดลงจาก 24 คะแนนในปีที่ผ่านมา โดยวัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เสรีภาพ การเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย

3. แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทยได้คะแนนเท่ากับปีก่อน มี 2 แหล่ง คือ

3.1 International Country Risk Guide (ICRG): Political Risk services ได้ 32 คะแนนเท่ากับปีก่อน โดย ICRG เป็นองค์กรแสวงหากำไร ให้บริการวิเคราะห์วิจัยและจัดอันดับสภาวะความเสี่ยงระดับประเทศ ประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเงิน

3.2 Economist intelligence Unit (EIU): Country Risk Rating ได้ 37 คะแนนเท่ากับปีก่อน โดย EIU วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ

สำหรับแหล่งข้อมูลที่ไม่ปรากฏคะแนน คือ Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ที่วัดภาพลักษณ์เกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันในประเทศ จากที่ปีก่อนได้ 38 คะแนน

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ที่ Transparency International จัดทำขึ้น ปีนี้เป็นครั้งที่ 23 นับจากปี 1995 ที่มีการจัดทำครั้งแรก และเป็นปีที่ครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งอีกด้วย CPI คือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเป็นการวัดจากภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของภาครัฐหรือราชการในสายตาผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจ ด้วยการให้คะแนนตั้งแต่ระดับ 0 คือ คอร์รัปชันมากที่สุด ไปจนถึง 100 คือ คอร์รัปชันน้อยที่สุด ประเทศใดมีคะแนน CPI ต่ำประเทศนั้นมีความโปร่งใสน้อยคอร์รัปชันสูง

การจัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปีนี้มีการสำรวจนักธุรกิจและการประเมินของผู้เชี่ยวชาญถึง 13 ครั้ง และผ่านวิเคราะห์ที่เชื่อมโยงการคอร์รัปชัน เสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพของพลเมืองทั่วโลก

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติระบุในเอกสารข่าวว่า ในช่วง 6 ที่ผ่านมาหลายๆ ประเทศได้มีคะแนน CPI ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ ไอวอรีโคสต์ เซเนกัล และสหราชอาณาจักร แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่คะแนนลดลง เช่น ซีเรีย เยเมน และออสเตรเลีย โดยที่ซีเรีย ซูดาน และโซมาเลีย มีคะแนนต่ำสุด คือ 14 คะแนน 12 คะแนน และ 9 คะแนน ตามลำดับ

ภูมิภาคที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ยุโรปตะวันตก โดยมีคะแนนเฉลี่ย 66 คะแนน ส่วนภูมิภาคที่มีคะแนนย่ำแย่ คือ กลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา (Sub-Saharan Africa) ที่มีคะแนนเฉลี่ย 32 กับยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางที่มีคะแนนเฉลี่ย 34 คะแนน

รายงานระบุว่า ปัญหาการคอร์รัปชันยังค่อนข้างหนักหนาในกว่า 2 ใน 3 ของประเทศที่ทำการจัดอันดับทั้งหมด และผลการจัดอันดับในปีนี้ไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราแม้ว่าจะมีการต่อต้านการคอร์รัปชันทั่วโลกแต่ประเทศส่วนใหญ่ยังผลักดันการต่อต้านคอร์รัปชันได้ช้ามาก แทบจะไม่มีความคืบหน้าในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองเสรีภาพสื่อและ NGOs มีแนวโน้มที่จะได้คะแนน CPI ต่ำมาก

เอเชีย-แปซิฟิกแก้ปัญหาคืบช้า

รายงานดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ยังระบุว่า ในปีนี้การสำรวจค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตในภาครัฐยังมีความหลากหลายสูงในเอเชียแปซิฟิก เพราะมีประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับหนึ่งอย่างนิวซีแลนด์ ขณะที่สิงคโปร์มีอันดับที่ดีขึ้น และมีประเทศที่ได้คะแนนแย่ เช่น กัมพูชา เกาหลีเหนือ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีคะแนนน้อยกว่า 50 คะแนน ส่งผลให้ทั้งภูมิภาคมีคะแนนเฉลี่ย 44 คะแนน และหากวัดจากค่าคะแนนตั้งแต่ 0 ที่คอร์รัปชันฝังรากลึกจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไปจนถึง 100 ที่คอร์รัปชันน้อยสุดนั้น ถือว่าเอเชียแปซิฟิกสอบตก

ไม่มีประเทศใดในเอเชียแปซิฟิกที่ทำคะแนนได้ถึง 100 เต็ม แม้แต่นิวซีแลนด์หรือสิงคโปร์ ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมามีเพียง 2-3 ประเทศเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ก็ส่งสัญญานที่ดีขึ้น ส่วนอินโดนีเซียยังต้องต่อสู้กับการคอร์รัปชันไปอีกนาน อย่างไรก็ตาม ในรอบ 5 ปีได้คะแนนดีขึ้นเป็น 37 จาก 32 คะแนนเป็นผลจากการดำเนินงานของหน่วยงานต่อต้านการคอร์รัปชัน และอันดับเลื่อนขึ้นเป็น 96 เท่ากับไทย นอกจากนี้ยังมีบางประเทศที่อันดับไม่ขยับไปไหนเลย คือ เกาหลีใต้ ที่คะแนนทรงตัวมาตลอด 5 ปี

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปีนี้ยังแสดงให้เห็นว่า การคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาใหญ่ในบางประเทศ แม้จะมีประชาชนลุกขึ้นต่อสู้ แต่มีหลายประเทศที่นักข่าว นักกิจกรรม ผู้นำฝ่ายค้าน หรือแม้แต่หน่วยงานที่ทำหน้าด้านนี้ถูกข่มขู่ หรือร้ายแรงกว่านั้นคือถูกฆาตกรรม โดยฟิลิปปินส์และมัลดีฟเป็นสองประเทศที่สถานการณ์ด้านนี้ย่ำแย่ ในรอบ 6 ปีมีนักข่าวที่ขุดคุ้ยการทุจริตถูกฆาตกรรมจำนวน 15 คน

นอกจากนี้ พื้นที่เสรีภาพของพลเมืองถูกจำกัดให้แคบลง องค์กรที่ทำงานด้านเสรีภาพพลเมืองใน กัมพูชา ปาปัวนิวกินี และจีน ถูกข่มขู่คุกคามจากทางการอย่างต่อเนื่อง

แต่ละประเทศก็ย่อมมีประเด็นของตัวเองให้แก้ไข แต่รายงานมองว่าแม้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันยังไม่หมดไป แต่สามารถทำให้ดีขึ้นได้หากมีความตั้งใจจากฝ่ายการเมืองและมีการวางยุทธศสาสตร์ที่ดี และไม่ควรที่จะคำนึงถึงคะแนน อันดับ หรือวิธีการจัดอันดับ สิ่งที่ควรทำคือมองว่าส่วนไหนที่ทำได้ก็ทำไปก่อน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง การแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมมีความจำเป็น มิฉะนั้นผลในการจัดอันดับครั้งต่อไปทำได้ดีที่สุดก็เพียงดีขึ้นเล็กน้อย หรือทำให้แย่ลงไปอีก

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด 
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : www.thaipublica.org จากหัวข้อ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ คอร์รัปชัน โลก ปี 2560 คะแนนไทยเพิ่มจาก 35 เป็น 37 อันดับขยับมาที่ 96 จาก 101 ใน 180 ประเทศ