สรท.ยืนเป้าส่งออกทั้งปี 61 ขยายตัว 5.5% ปัจจัยเศรษฐกิจโลก หลายกลุ่มสินค้าที่ส่งออกยังเติบโตดี ขณะที่เงินบาทก็ยังเป็นปัจจัยห่วงของผู้ส่งออก วอนรัฐเข้ามาดูแลพร้อมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่น

         นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สรท. คงเป้าการส่งออกทั้งปี 2561 ที่ 5.5% ภายใต้สมมุติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 31.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ น้ำมันดิบ 60-65 เหรียญสหรัฐต่อลาเรล โดยปัจจัยบวกมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกและประเทศคู่ค้าหลัก การเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการผลิต รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุน ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อสินค้าเกษตร และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง อย่างไรก็ดีภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ยังมองทิศทางที่สดใสอยู่

       ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลต่อค่าเงินบาแข็งค่าตั้งแต่ต้นปี 2.88% ซึ่งยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกที่ผู้ส่งออกให้ความกังวล มาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐ และมาตรการตอบโตของประเทศคู่ค้า ปัญหาด้านโลจิสติกส์โดยเฉพาะการขาดแคลนตู้สินค้า ความแออัดของท่าเรือ การจราจรเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นมาตรการของภาครัฐที่จะมีผลต่อต้นทุนของผู้ส่งออก

โดยเฉพาะในเรื่องของภาษีเศษซากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นโยบายประกันราคาสินค้าทุนพื้นฐานบางชนิด เช่น การประกันราคาข้าวโพด ที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่เป็นต้นทุนของผู้ส่งออกที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผลต่อการแข่งขัน การรวมกลุ่มเศรษฐกิจของ (ข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก) CPTPP เป็นกลุ่มที่ไทยไม่ได้เข้าร่วม ไทยอาจจะเสียประโยชน์ กลุ่มเศรษฐกิจ EAEU (สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย)

อย่างไรก็ดี สภาผู้ส่งออกมีข้อเสนอแนะที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล คือ มาตรการกีดกันทางการค้า หรือNTB การดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่แข็งค่ากว่าคู่แข่ง รัฐควรมีมาตรการในระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากผลกระทบค่าแรง เช่น การลดหย่อนภาษี ยกเว้นภาษีนิติบุคคลที่นำเข้าเครื่องจักร ให้ความสำคัญการเจรจาการค้า เอฟทีเอ EU-Thai กรอบเจรจาการค้าใหม่ที่จะเป็นโอกาสทางการค้าของไทย รัฐควรให้ความสะดวกทางการค้ามากขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมการค้าในระบบอีคอมเมิร์ซด้วย

สำหรับการส่งออกเดือนมกราคม 2561 มีมูลค่า 20,101 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 17.6% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี 2 เดือน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 20,220 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 119 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สาเหตุจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบในปริมาณมาก ซึ่งเกิดจากค่าเงินบาทแข็งค่า