คู่มือกรูมมิ่งเด็กวันนี้ให้พร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21
เด็กน้อยวันนี้ที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของโลกอนาคต ไม่ได้ต้องการแค่ความรู้ทางวิชาการ แต่พวกเขาต้องการติดอาวุธทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม(Social and Emotional Learning Skills: SEL) เพื่อใช้เป็นแต้มต่อสำหรับการสร้างอนาคตที่สวยงาม
ในรายงานของ World Economic Forum เมื่อปี 2016 ได้ชี้ชัดว่า ถ้าเด็กๆ วันนี้ หวังจะเจริญเติบโตและเป็นที่ต้องการในตลาดงานในอนาคต พวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะทางอารมณ์และสังคม
พ่อแม่ยุคใหม่อาจเริ่มคุ้นหูกับทักษะนี้ แต่อาจไม่เคยรู้ว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร สรุปง่ายๆว่าหัวใจของทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม คือ ความสามารถที่อยู่โดยรอบแกนของการเรียนรู้ เช่น การอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ เป็นทักษะที่ช่วยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การสื่อสาร และเป็นหัวใจของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
ถามว่า ทักษะนี้สำคัญแค่ไหน หรือ เป็นแค่เทรนด์ในสังคมที่มาไวไปไว ในรายงานฉบับนี้ชี้ชัดว่า 16 ทักษะที่ว่ากันว่าเป็นทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 นั้น ประกอบด้วยทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมมากถึง 12 ทักษะด้วยกัน เรียกว่าแทบจะเกินครึ่งเลยทีเดียว โดยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สามารถแบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่
1.ความรู้พื้นฐาน หมายถึง ทักษะสำคัญที่พึงมีเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย การรู้หนังสือ การคิดคำนวณ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ความรู้ทางการเงิน และ ความรู้ทางวัฒนธรรมและพลเมือง
2.ความสามารถ เพื่อทดสอบว่าเด็กยุคใหม่จะรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างไร ประกอบด้วย ทักษะการคิดวิเคราะห์/แก้ปัญหา ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดสื่อสาร และ ทักษะการร่วมมือ
3.คุณลักษณะที่พึงประสงค์ เพื่อประเมินว่าเด็กๆจะเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ประกอบด้วย ความอยากรู้ ความคิดริเริ่ม ความวิริยะอุตสาหะ ความสามารถในการปรับตัว ความเป็นผู้นำ และ ความตระหนักด้านวัฒนธรรมและสังคม
สำหรับความสามารถ และ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ล้วนเป็นทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ใหญ่หรือผู้เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาว่าจะจะส่งเสริมทักษะทางอารมณ์และสังคมให้กับเด็กๆ อย่างไร
ในรายงานดังกล่าวเช่นกันได้แจกแจงทักษะทางอารมณ์และสังคมไว้อย่างน่าสนใจ แบ่งออกเป็น 12 ทักษะ ดังนี้
1.ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการเล่น
2.แตกการเรียนรู้ให้เล็กลง โดยให้แต่ละส่วนประสานสอดคล้องกัน
3.สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้
4.พัฒนาชุดความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) เพื่อให้เด็กเชื่อคนเราสามารถพัฒนาศักยภาพและความสามารถได้
5.สร้างความสัมพันธ์ที่ดีมีการดูแลเอาใจใส่กัน
6.ให้ความชื่นชมต่อความสำเร็จอย่างสม่ำเสมอ แม้สำเร็จเพียงเล็กน้อย
7.นำการค้นพบของเด็กไปสู่หัวข้อ
8.ช่วยให้เด็กได้ใช้ข้อได้เปรียบในด้านบุคลิกภาพและจุดแข็งของตัวเอง
9.จัดกิจกรรมที่ท้าทายอย่างเหมาะสม
10.ให้เด็กมีส่วนในการดูแลผู้อื่น
11.จัดการเรียนรู้ให้มีจุดประสงค์การเรียนรู้และทักษะที่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
12.ใช้แนวทางการลงมือปฏิบัติ
ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ครูอาจารย์ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง สามารถนำ 12 เครื่องมือนี้ไปใช้สร้างทักษะให้เด็กๆได้ง่ายๆ ดังนี้ ยกตัวอย่าง หากต้องการเพิ่มทักษะความเป็นผู้นำ อาจสอนด้วยการสร้างความสามารถในการต่อรองควบคู่ไปกับส่งเสริมการเอาใจใส่ต่อผู้อื่น แต่ถ้าอยากเพิ่มทักษะความสร้างสรรค์ อาจให้โอกาสในการสร้างและประดิษฐ์ ให้มีการตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง หรือถ้าต้องการเพิ่ม ทักษะความตระหนักทางสังคมและวัฒนธรรม อาจใช้วิธีอบรมให้เกิดความเคารพและอดทนต่อผู้อื่น ส่งเสริมการเอาใจใส่ต่อผู้อื่น และ สนับสนุนวัฒนธรรมการรู้จักตนเอง เป็นต้น
เครื่องมือพร้อมแล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่ารอช้าที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่สดใสให้กับเด็กๆ
ขอบคุณที่มา : www3.weforum.org