อาการ “แพ้” ทางผิวหนัง ผื่นคันและลมพิษ
ถ้าถามว่าโรค “แพ้” เป็นอย่างไร ทำไมถึงแพ้ มีกลไกเช่นไร ก็ต้องบอกว่าโรค “แพ้” มีหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่โรคแพ้ทางผิวหนังมักจะเห็นเป็น ผื่นคัน มีตุ่มน้ำ จุดแดงเล็กๆ ปรากฏขึ้นตามตัว บางครั้งจะเห็นลักษณะเป็นหนังแห้งกว่าปกติ เป็นผุย เป็นสะเก็ด คัน มีรอยเกา
ถ้าถามว่าทำไมแพ้ ก็บอกง่ายๆ ว่า เพราะไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่มีแรงต้านทาน คนทั่วไปที่เขาไม่แพ้ เพราะเขามีภูมิคุ้มกัน มีแรงต้านทาน คนไข้บางคนมักถามว่า โรคนี้คือโรคน้ำเหลืองเสียใช่ไหม ซึ่งก็ตอบได้ว่า จะว่าเช่นนั้นเพื่อให้เข้าใจง่ายก็พอได้เหมือนกัน หมอเคยถามคนไข้ว่าที่ว่าน้ำเหลืองเสีย หมายความว่าอย่างไร คนไข้บอกว่า ลูกผมน้ำเหลืองเสียเพราะถูกยุงกัดนิดเดียว แต่เป็นตุ่มคันไปทั้งขา ลูกคนอื่นเขาถูกยุงกัดเป็นกอง เห็นเป็นแค่จุดแดง หมอที่รักษาบอกว่า ถ้าเช่นนั้นจะว่าน้ำเหลืองเสียก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าพูดว่าแพ้น้ำลายยุง ก็จะชัดที่สุด
คนที่เป็นโรคแพ้นั้น อาจจะมีสื่อที่จะทำให้เกิดการแพ้ได้ตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ คือ เป็นกรรมพันธุ์ ในคนพวกนี้ จะพบว่ามีญาติพี่น้องเคยเป็น หรือเป็นหวัดจามทั้งปี หรือโพรงจมูกอักเสบบ่อยๆ หรือเป็นหืด ลมพิษ ปากบวมตาบวมเก่ง อาการทางผิวหนังของคนพวกนี้ จะเห็นเป็นผื่นแดง ผิวหนังแห้ง ชอบเกา ถ้าเป็นเด็กจะซนอยู่ไม่สุก เราเรียกคนพวกนี้ว่าเป็นโรค “อะโทบีค” สาเหตุที่แพ้เก่ง ก็เพราะมีโปรตีนชนิดภูมิแพ้อยู่ในตัวมากไปหน่อย เรียกว่า “อมมูนโน โกลบลูลิน อี” หรือย่อว่า “ไอ.จี.อี.”
เวลาถูกต้องกับสิ่งที่แพ้เข้า เช่น อาหาร ละอองเกสร ฝุ่น ก็จะมีปฏิกิริยาระหว่างสารเหล่านี้กับ ไอ.จี.อี. ทำให้เกิดเป็นโรคแพ้ผื่นคัน หวัดจามทั้งปี หรือไข้ละอองฟาง หืด หรือลมพิษ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อ นายวิทย์ ภรรยาชื่อคุณนิด มีลูกคนสุดท้องอายุ 4 ขวบ ชื่อลูกนก แกซนเหมือนบรรพบุรุษมนุษย์ เป็นโรคอะโทปิคเหมือนกัน พอพามาพบหมอ คุณแม่บรรยายความรำคาญต่ออาการผื่นคันของลูกคนนี้รักษาไม่หาย รักษาแล้วหลายหมอ ทายาก็หลายอย่างแล้ว และอะไรต่างๆ ร้อยแปด และลูกซนมากถามอีกนิดว่า เด็กฉลาดไหม คุณแม่ก็เปลี่ยนเรื่องเสียใหม่ว่า เด็กเรียนเก่ง แสนรู้ คือ คุณแม่จะพูดได้ทุกเรื่องเกี่ยวกับลูกคนนี้ไม่รู้จบถามประวัติทางบ้าน พบว่า พี่สาวคนหนึ่งก็เป็นผื่นคัน ระหว่างซักถามนี้ให้ปล่อยเด็ก จะเห็นว่า เด็กซุกซนไม่อยู่กับที่และไม่กลัวคน เด็กพวกนี้เวลาเล่นถูกฝุ่นก็จะคัน อากาศร้อนไปหน่อย เย็นไปหน่อยเหงื่อออกก็คัน กินอาหารผิดก็คัน อาบน้ำบ่อยใช้สบู่แรงๆ หรือสบู่ยาก็คัน ใส่เสื้อผ้าที่เป็นขนก็คัน ถูกแดดจัดก็คัน เด็กหญิงลูกนกเวลาคันที่ศีรษะก็หยิบหวีของคุณแม่มาหวีที่ศีรษะอย่างแรงจนดังแกรกๆ เวลาคันตามตัวก็เกาอย่างแรงจนเนื้อตัวเป็นรอย เพราะฉะนั้นจึงตัดเล็บให้สั้นเอาไว้ เมื่อนำเด็กมาตรวจก็พบว่า ผิวหนังแห้งกว่าเด็กปกติ ตามหน้า แขน ขา ข้อพับ มีรอยผื่นแดง และจุดแดง ลักษณะของผื่นคันกระจาย อยู่เป็นหย่อมๆ หากเจาะเลือดตรวจดู อาจพบว่า มีเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกว่า อีโอซิโนฟิล อยู่มากกว่าปกติ
ในการรักษาทั่วไปมี 2 อย่าง
คือ แนะนำและการใช้ยา ต้องแนะนำให้หลีกเลี่ยง และสังเกตสาเหตุของอาการแพ้ และอาการคัน เช่น ถ้าคันหลังอาบน้ำก็ไม่ควรอาบน้ำบ่อย บางคนแพ้ฝุ่นก็ไม่ควรถูกฝุ่น ไม่ควรถูกแดดร้อน หรืออากาศเย็นมาก เสื้อผ้าที่เป็นขนไม่ควรใช้ แป้งฝุ่นต่างๆ ควรงดไว้ก่อน และหากเด็กยังไม่เคยปลูกฝี ก็ควรจะเว้นไว้ จนกว่าหมอเด็กจะเห็นสมควร สบู่ควรใช้สบู่ครีม สบู่อ่อนที่อเมริกามีสบู่ทำขาย บอกไว้ว่าสำหรับ “อะโทปิค สคิน” (คนขี้แพ้ หนังเปราะ) โดยเฉพาะ ยากินก็ให้กินยาแก้คันแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ขององค์การเภสัชกรรม (ราคาเม็ดละ 10 สตางค์) ยาทา ก็ใช้พวกสเตอรอยด์ เช่น ครีมแพร็ดนิโซโลน (ราคาหลอดละ 5 บาท) หรือ ครีมเบตาเมธาโซน (ราคาหลอดละ 11 บาท) เวลาซื้อควรระวัง องค์การเภสัชกรรมทำยาพวกนี้ออกมา 2 อย่าง ซึ่งอย่างหนึ่งมีคำว่า “เอ็น” อยู่ด้วย อย่าซื้อมาใช้เพราะทำให้แพ้ได้ ส่วนยาครีมผสมสเตอรอยด์ กับยาแก้คันนั้นก็ใช้ได้ เช่น ยูแรกซ์วิท ไฮโดรคอร์ดีโซน เป็นต้น
หลังจากนี้ผู้ปกครองหรือคุณแม่จะตั้งคำถามว่า ลูกเป็นเพราะอะไร เมื่อไรจะหาย โดยมากควรจะหลีกเลี่ยงการอธิบาย เรื่องภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันแอนติเจน แอนติบอดี้ และกรรมพันธุ์ เพราะคุณแม่เป็นกังวลอยู่แล้ว จะปวดหัวมากขึ้น ควรอธิบายว่าเด็กคนนี้ฉลาด จึงซน และเพราะความฉลาด เลยมีการแสดงออกทางผิวหนัง ผมเคยอธิบาย เรื่องกรรมพันธุ์ ไอ.จี.อี. และการแพ้ให้คุณแม่ของลูกนก ซึ่งเป็นโรคอะไรไม่รู้เรื่อง และเท่านั้นก็ได้เรื่อง คุณแม่เขาไม่ยอมแพ้ เพราะแม้แต่คุณวิทย์ซึ่งเคยเป็นนักมวยแชมเปี้ยน และเดี๋ยวนี้เป็นทนายความชนะมาทั่วประเทศ คุณนิดเขายังปราบเสียอยู่หมัด หงอยเหงาอยู่ใต้ข้อศอกตลอดมา คุณนิดแอบสืบสวนญาติพี่น้องของตัวเองจนหมด แน่ใจว่าไม่มีใครเคยเป็นโรคภูมิแพ้ ส่วนความฉลาดของลูกนั้นเป็นเพราะฉัน ซึ่งคุณวิทย์ก็ต้องยอมรับแต่โดยดี
ลมพิษ
ก็เกี่ยวกับการแพ้เหมือนกัน โดยมากเกี่ยวกับการสูดดม กินอาหารหรือฉีดยาที่เป็นสาเหตุเข้าไป พวกที่เป็นลมพิษแล้วมีอาการบวมที่ตา ปากควรระวังเยื่อบุผิวของทางผ่านอากาศ เข้าสู่ปอด อาจจะบวมด้วย เกิดหายใจลำบาก หายใจขัดได้
ลักษณะของลมพิษ คือ เป็นวงแดง รูปร่างต่างๆ กันเหมือนเอาลิปสติกผู้หญิงมาขีดวงไว้บนผิวหนังเป็นกลมบ้าง รีบ้าง รูปหยักบ้าง คล้ายวาดแผนที่ไว้บนตัว เนื้อภายในวงจะนูนเล็กน้อย และมีสีซีดกว่าขอบ อาการสำคัญคือ คันมาก คนไข้มักจะบอกว่า พอเกาตรงไหน ก็เป็นผื่นแดงขึ้นมาตรงนั้น ผื่นคันพวกลมพิษนี้มักจะเกิดอยู่ 3-4 ชั่วโมงและหายไปเอง หรือเกิดขึ้นใหม่ได้อีก จะเป็นๆ หายๆ อยู่ในระยะไม่เกิน 2 เดือน เรียกว่า “ลมพิษชนิดเฉียบพลัน” ถ้าเป็นอยู่นานกว่านี้เรียกว่า “ลมพิษชนิดเรื้อรัง” ลมพิษชนิดเรื้อรังเป็นอยู่ได้เป็นปีๆ
สาเหตุของลมพิษ มีมากมายหลายชนิด กลไกที่ทำให้เกิดเป็นผื่นขึ้นมา จึงเป็นเรื่องซับซ้อนอธิบายกันว่า เมื่อสิ่งใดที่ทำให้เกิดลมพิษได้มาถูกผิวหนัง หรือถูกนำเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโดยการกิน การดมสูดเข้าไป หรือฉีดเข้าไป (ไม่จำเป็นต้องฉีดยา) ตัวอย่างเช่น มดกัด ในคนที่แพ้ก็จะเกิดปฏิกิริยาขึ้นในร่างกาย เกิดการขับสาร ชื่อ ฮีสตามีน (สารแพ้) ออกมาจากเซลล์ในชั้นใต้ผิวหนัง ทำให้ผนังเส้นเลือดพองขยายตัวออก น้ำเหลืองและโปรตีนหลุดออกมา เกิดรอยนูนแดง และคันขึ้นบนผิวหนัง ว่ากันว่า สารเคมีอีกบางชนิด เช่น “บราดิไคนิน” “โปรสแกลนดิน” และ “เสโรโตมิน” ก็มีส่วนร่วมในปฏิกิริยานี้เช่นกัน
สาเหตุของลมพิษก็มีหลายอย่าง เช่น พวกทำให้เกิดการแพ้ คือ อาหาร ยา ซีรั่ม พิษสัตว์ ขนแมว ขนหมา อาหารทะเล ไข่ ส้ม ขนมจีน เป็นต้น สิ่งแวดล้อมทั่วร่างกายก็ทำให้เกิดลมพิษได้ เช่น แดด ความร้อน ความเย็น น้ำ น้ำแข็ง การกด การยกน้ำหนัก เป็นต้น โรคในร่างกายก็ทำให้เกิดลมพิษได้ เช่น มะเร็ง ฟันผุ หูเป็นน้ำหนวก พยาธิลำไส้ แม้แต่ไม่เป็นอะไรเกิดหงุดหงิดคิดมาก ก็เป็นลมพิษได้เหมือนกัน
การรักษาลมพิษเบื้องต้นมี 2 ประการ คือ บำบัดอาการ และบำบัดสาเหตุ การบำบัดอาการก็ให้กินยาพวกแอนตี้-ฮีสตามีน (ยาแก้แพ้) และใช้ยาทาแก้คันดังกล่าวข้างต้น การบำบัดสาเหตุ เป็นกรรมวิธีอันซับซ้อนและกินเวลา อาจทำได้จากการซักประวัติ การสังเกต การทดสอบทางผิวหนัง เป็นต้น
การเป็นลมพิษบางครั้งก็มีประโยชน์ สุภาพสตรีคนหนึ่ง อายุ 45 ปี มีลูกแล้ว 3 คน หลังจากคลอดลูกคนสุดท้อง ต้องพักรักษาตัวอยู่นาน สามีก็เริ่มออกเที่ยว กลับบ้านดึก ในระยะต่อมา หากดึกแล้วสามีไม่กลับบ้าน แกสงสัยว่าสามีไปเที่ยวผู้หญิง ก็จะเกิดหืดหอบเป็นลมพิษ โดยจะให้กินยาอะไรก็ไม่หาย แต่ถ้าสามีกลับมาให้กินยา ทายาเอง และปลอบใจ อาการก็จะหายไป สามีเลยตัดใจเลิกเที่ยว อาการโรคลมพิษก็หายไป เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวดีเหมือนกัน
ยาก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนัง
อาการแพ้จากยา ไม่ใช่ฤทธิ์หรือสรรพคุณของยาโดยตรง แต่เป็นปฏิกิริยาเชิงซ้อนที่ร่างกายโต้ตอบออกมา หรือกลไกอย่างอื่น เช่น กรรมพันธุ์ ยาที่มักจะแพ้กันบ่อยๆ ก็คือ เพนนิซิลลิน และแอสไพริน ลักษณะของการแพ้ยากินมีหลายอย่าง เช่น เป็นผื่น เป็นจุด ลมพิษ คันเป็นวง และอื่นๆ อีกมาก จนมีผู้แนะนำว่าหากมีคนเป็นโรคผิวหนังมาหาก็ให้นึกถึงโรค 3 โรคที่แสดงอาการได้หลายอย่าง ก่อนอื่นนั่นคือ การแพ้ยาโรคซิฟิลิส และโรคแพ้จากการสัมผัส
โรคแพ้จากการสัมผัส (Contact dermatitis) หมายถึง อาการผื่นคันทางผิวหนังที่เกิดขึ้น หลังจากได้สัมผัสถูกต้องกับสิ่งของภายนอกร่างกาย และวัตถุสิ่งนั้นเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดอาการทางผิวหนังขึ้น ทั้งนี้ไมได้เกิดขึ้นกับคนทั่วๆ ไป แต่เกิดกับคนบางคน ที่ไม่มีภูมิต้านทานจากสารชนิดนั้นเท่านั้น
ต้องอธิบายสักหน่อยว่า โรคแพ้จากการสัมผัสนี้ ไม่มีกลไกเกี่ยวข้องกับเรื่องกรรมพันธุ์ถ่ายทอดให้ใครไม่ได้ เป็นกลไกตามธรรมชาติที่ว่าการสัมผัสนั้นจะต้องเป็นมาแล้วระยะหนึ่ง หมายความว่า ไม่ใช่พอถูกเข้าครั้งแรกครั้งเดียวแล้วก็แพ้ อาจจะถูกมาก่อนเป็นเวลาหลายๆ วัน เป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ แล้วจึงเกิดอาการ นี่แสดงว่า ต้องมีการสัมผัสถูกต้องมาอย่างน้อย 2 ครั้ง การถูกต้องสัมผัสครั้งแรกๆ เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อต้านขึ้นมา เช่น พอถูกโลหะเงิน เงินก็ขับผ่านผิวหนังไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อต้าน ระยะนี้เรียกว่า “ระยะฟัก” ซึ่งอาจจะนานเป็นวันเป็นเดือน เป็นปี ซึ่งขึ้นอยู่กับส่วนประกอบหลายอย่าง หลังจากนั้น ถ้าถูกเงินเข้าอีกครั้งหนึ่ง จึงจะเกิดปฏิกิริยาขึ้น เรียกระยะแสดงตัว และหลังจากนี้หากถูกเงินเข้าอีก ก็จะขึ้นเป็นผื่นคันเกือบทุกครั้ง เช่น
ปกติแม่บ้านทั่วๆ ไป มักมีงานประจำ คือ ซักผ้า ทำความสะอาดของใช้ในบ้าน ในการนี้มักจะใช้ผงซักฟอกช่วยในการทำความสะอาดบุคคลทั่วๆ ไป ทำงานบ้านเช่นนี้ได้เป็นปกติ แต่ก็มีแม่บ้านบางคนหลังจากทำงานประจำนี้อยู่ได้สักระยะหนึ่ง ก็เกิดผื่นแดง เป็นตุ่ม กับอาจมีลักษณะผิวหนังเปื่อยที่มือ แม่บ้านเหล่านี้เป็นพวกที่แพ้ผงซักฟอก คือเกิดมีอาการทางผิวหนังขึ้นมา ซึ่งโดยภาวะปกติทั่วไปเขาไม่เป็นกัน
ปกติทุกคนมักจะผูกนาฬิกาที่ข้อมือ โดยใช้สายนาฬิกาทำด้วยหนังหรือวัตถุโลหะ บุคคลทั่วๆ ไปผูกนาฬิกาได้โดยปกติ แต่ก็มีบางคนที่ผูกนาฬิกา ก็เกิดผื่นแดงคันขึ้นที่ข้อมือ บุคคลพวกนี้เป็นพวกแพ้ส่วนประกอบของสายนาฬิกา ถ้าใช้สายโลหะ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นสายหนัง หากใช้สายหนัง ก็ต้องเปลี่ยนเป็นสายโลหะ
ในสบู่ที่มีสารประกอบ พวกฮาโลเจของซาลิซัยลานิไลด์ สบู่พวกนี้มีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งก็มีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก และไม่มีอาการอะไร แต่มีบางคนใช้แล้วหลังจากตากแดดก็เกิดผื่นคันตามส่วนที่ถูกแดด เช่น ตามบริเวณใบหน้า คอ แขน คนที่แพ้สบู่ชนิดใหม่ที่ไม่มีสารประกอบชนิดดังกล่าว
ยาเพนนิซิลลิน และ ยาแก้ปวดมีจำหน่ายอยู่ทั่วๆ ไป และใช้กันมากไม่มีใครเป็นอะไร แต่บางคน พอกินเพนนิซิลลินก็อาจเกิดลมพิษได้ บางคนกินยาแก้ปวด ก็เกิดผื่นคันเป็นวงแดงขึ้น พวกนี้เป็นพวกแพ้ยาเพนนิซิลลิน และยาแก้ปวด
ควรจะสังเกตดังนี้ว่า ภูมิต่อต้านที่เกิดขึ้น เป็นผลเฉพาะตัวกระตุ้น เช่น ภูมิต่อต้านโลหะเงินก็จะสร้างปฏิกิริยาเฉพาะกับเงินไม่ไปทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้กับตัวกระตุ้นอย่างอื่น คนที่แพ้สีก็ต้องมีภูมิต่อต้านสีเกิดขึ้นมา และคนๆ หนึ่งอาจจะแพ้ได้หลายอย่าง แต่ละอย่างก็มีภูมิต่อต้านของตัวเอง ภูมิต้านทานต่อสารตัวหนึ่งจะกระโดดไปมีปฏิกิริยากับสารอีกชนิดหนึ่งนั้น นับว่ามีได้น้อยมาก
อีกประการหนึ่ง อาการแพ้จากการสัมผัส มักจะเกิดขึ้นตรงจุดที่สัมผัสจากสารกระตุ้นเท่านั้น เช่น แพ้กางเกงใน ผื่นคันที่เกิดที่หน้าขา หน้าท้อง แพ้ยาดับกลิ่น ก็จะเกิดอาการคันที่รักแร้ ผิดกับพวกลมพิษซึ่งจะเกิดขึ้นได้ทั้งตัว อย่างไรก็ตามอาการแพ้ห่างจุดสัมผัส เช่น จุดสัมผัสที่เท้าแต่มีอาการทั้งที่เท้า และมือก็อาจเป็นไปได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี บางคนถูกสารเคมีเข้าครั้งเดียว อาจเกิดผื่นคันได้เหมือนกัน กรณีนี้เป็นเพราะผิวหนังถูกก่อกวนหรือทำร้ายด้วยสารนั้นโดยตรง เช่น ถูกยางไม้กัด ถูกกรก ถูกต่างกัด เป็นต้น
โรคผิวหนัง ผื่นคันจากการแพ้ มีอีกชนิดหนึ่ง คือ ผื่นคัน ซึ่งเกิดจากงานซึ่งเป็นอาชีพ และผื่นคันของพวกที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น สุภาพสตรีที่ทำงานเป็นโอเปอร์เรเตอร์ (พนักงานรับโทรศัพท์) อาจแพ้หูโทรศัพท์เกิดผื่นคันที่มือ หรือที่ใบหู พวกช่างปูน อาจแพ้ปูนซีเมนต์ พบอาการเกิดขึ้นที่ง่ามมือ พนักงานพิมพ์ดีด อาจแพ้แป้นตัวพิมพ์ หรือหมึกจากกระดาษคาร์บอน เกิดเป็นเม็ดน้ำใสขึ้นที่นิ้ว และส่วนที่อยู่นอกเสื้อผ้า เป็นต้น สำหรับพวกที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม อาจจะแพ้ส่วนผสม ส่วนประกอบที่ใช้ผลิตสินค้าขึ้นมา เช่น ยาง โลหะ แก๊ส และฝุ่นในโรงงานทอผ้า บางคนไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น เป็นช่างคุมเครื่องจักรอาจจะแพ้น้ำมันหล่อลื่นก็ได้
จากการซักประวัติ จากการดูลักษณะตำแหน่งของผื่นคัน แพทย์สามารถบอกได้ว่า คุณเป็นโรคแพ้และอาจทำนายสาเหตุได้ การทดสอบที่แน่นอน ใช้วิธีฉีดสารที่สงสัยว่าแพ้เข้าใต้ผิวหนัง แล้วดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น
การรักษาที่ดีที่สุด คือ แนะนำให้หลีกเลี่ยงตัวสาเหตุ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้รักษาตามอาการ คือ กินยาแก้แพ้ คลอร์เฟนิรามีน และทายาครีมแพร็ดโซโลน หรือ ครีมเบตาเมธาโซนดังกล่าว
สุดท้ายขอบอกว่า คนที่ผิวหนังแพ้ เป็นผื่นคันมักจะมีไอคิวสูง เพราะฉะนั้นหากเพื่อนคุณว่า “เอ็งไอ้คนผิวหนังแพ้ชอบเป็นผื่นคัน” คุณควรจะตอบว่า ‘ถึงกระนั้นข้าฯก็จัดอยู่ในประเภทคนฉลาดของโลก (เว้ย)’
รูปที่ 1 โรคนิวเมอรา เอ็กซีมา
รูปที่ 2 โรคอะโทรปิด
รูปที่ 3 โรคแพ้จากยาทา
รูปที่ 4 โรคเอ็กซีม่าเรื้อรัง คนไข้ทายา เกิดแพ้ยาช้ำ
ขอบคุณข้อมูลจาก www.doctor.or.th