อารียาฯ พร้อมร่วมกับ ยูนิเซฟ และมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก นำร่องพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในแคมป์ก่อสร้าง
บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย มุ่งเน้นการสร้างความสุขและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาตลอด 3 ปี ภายใต้แนวคิด Sustainable Happiness ด้วยนวัตกรรมสร้างความสุขทั้ง 6 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สุขคนสร้าง ที่ตระหนักถึง ความสุขที่ยั่งยืนของบุคลากรและแรงงาน เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนในแคมป์ก่อสร้าง และสร้างศูนย์การเรียนรู้- เสริมสร้างด้านทักษะให้แก่บุตรหลานแรงงานในพื้นที่โครงการอย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมมือกับทางองค์การยูนิเซฟ และมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก เสนอแนวทางปฏิบัติต่อภาคเอกชน ในการลดปัญหาคุณภาพชีวิตเด็ก พื้นที่ปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้าง และเปิดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษา
นายวิศิษฎ์ เลาหพูนรังษี ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะองค์กรภาคเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้นในเรื่องความสุขที่ยั่งยืนของบุคลากรและแรงงาน เราจึงเดินหน้าตามแนวคิด “สุขคนสร้าง” โดยหมายถึงฝีมือแรงงานที่มีส่วนสำคัญในการสร้างและพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพ จึงมองเห็นถึงความสุขในสถานที่ทำงานเป็นสำคัญ หากพื้นที่โครงการก่อสร้างมีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย จะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย สามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุในระหว่างการปฏิบัติงานได้ ในขณะเดียวกันคือการส่งเสริมด้านสุขอนามัยที่ดีของแรงงาน โดยแบ่งสัดส่วนโครงสร้างพื้นฐานการใช้งานอย่างชัดเจน อาทิ ที่พักอาศัยชั่วคราว ห้องอาบน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้พบว่ามีเด็กที่ติดตามครอบครัวแรงงานในแต่ละโครงการมีจำนวนมาก หากจัดสรรพื้นที่อย่างเหมาะสมจะทำให้เด็ก ๆ ไม่เสี่ยงต่ออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จึงได้สร้าง “ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กในสถานที่ก่อสร้าง หรือ Child Friendly Space” ขึ้น เพื่อทำให้เด็กเหล่านี้ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองในอนาคต รวมทั้งยังเป็นการลดข้อกังวลในทุกด้านต่อบุตรหลานระหว่างแรงงานปฏิบัติงานอีกด้วย
ด้าน ดร.ทวีรัก กลิ่นสุคนธ์ ผู้อำนวยการสายงานส่งเสริมพัฒนามาตรฐานงานชุมชนและบริการลูกบ้าน บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2558 ได้นำร่องเปิด “ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กในสถานที่ก่อสร้าง หรือ Child Friendly Space” ในพื้นที่โครงการหทัยราษฎร์ โดยการทำทะเบียนประวัติเด็ก ทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะตามวัย การเรียนรู้การอ่านและเขียนเบื้องต้น ตลอดจนการฝึกระเบียบวินัย โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ช่วยเป็นพี่เลี้ยงและให้การอบรมอาสาสมัครในโครงการศึกษาดูงานมูลนิธิรักษ์ไทย ในการจัดรูปแบบการเรียนการสอน และได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยจัดให้มีครูผู้สอนประจำศูนย์ฯ ดำเนินการตามแผนการเรียนการสอนที่มีมาตรฐาน รวมทั้งครูจิตอาสาที่สับเปลี่ยนมาให้ความรู้พื้นฐานและเสริมทักษะตามช่วงอายุวัย ในวันจันทร์ - ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00 - 16.30 น. โดยมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความสามารถ และเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาตามระบบต่อไป
“ซึ่งในปัจจุบันมีศูนย์การเรียนรู้ที่ครอบคลุม 6 พื้นที่โครงการฯ ได้แก่ หทัยราษฎร์ ไทรน้อย บางนา บางบัวทอง รังสิตคลอง 4 และ รังสิตคลอง 5 โดยมีจำนวนเด็กทั้งสิ้นรวม 149 คน คิดเป็น 95% ของจำนวนเด็กทั้งหมดในแคมป์ก่อสร้าง อีก 5% เป็นเด็กที่ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาพร้อมกับครอบครัว ทั้งนี้จากการเปิดศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว อารียาฯ สามารถนำพาเด็ก ๆ เข้าศึกษาต่อตามระบบปกติได้ถึงจำนวน 24 คน โดยแบ่งเป็นเด็กที่มีสัญชาติไทย 3 คน และเด็กสัญชาติกัมพูชา 21 คน และพบว่าเด็ก ๆ เหล่านี้มีความขยันมุ่งมั่น และพัฒนาการโดดเด่นในเกณฑ์ที่สูงเกินความคาดหมาย โดยมีระดับการเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ 73%” นายวิศิษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยมีนโยบายและกฎหมายในการสนับสนุนให้เด็กทุกคนในประเทศ ซึ่งรวมถึงบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติ ได้เข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติแล้วยังคงมีปัญหาที่เด็กต้องเผชิญอยู่ และด้วยจำนวนโครงการก่อสร้างในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ทุกบริษัทในอุตสาหกรรมก่อสร้าง จะตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และร่วมใจกันนำกรอบปฏิบัติการนี้ไปปรับใช้ ริเริ่มลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กในแคมป์ก่อสร้าง เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย”
ด้าน นายนิโคลา ครอสตา ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาบ้านเด็ก กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีโอกาสร่วมงานกับองค์กรต่าง ๆ มากมาย เพื่อปรับปรุงด้านที่อยู่อาศัย และการดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสิทธิเด็ก ด้านสุขภาพ และด้านการศึกษา โดยมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กที่อาศัยอยู่ที่แคมป์ก่อสร้าง แนวทางแก้ไขปัญหาที่ได้ผล และไม่เพียงช่วยให้เด็ก ๆ มีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ยังส่งผลดีต่อการดำเนินกิจการของบริษัทด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ในขณะนี้คือ การลงมือปฏิบัติ ซึ่งจะเป็นแนวทางบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งหากสามารถพัฒนาเป็นรูปธรรมได้ อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทย จะมีส่วนสร้างบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งส่งผลที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อเด็กรุ่นหลังต่อไป
นอกจากนี้ อารียาฯ ยังมุ่งสร้างพัฒนาสุขภาวะเด็กและเยาวชนในด้านต่าง ๆ การรู้จักใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคม เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านการให้ความรู้และส่งเสริมด้านทักษะชีวิต อาทิ วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ศิลปะ และการปลูกฝังความคิดที่ดีในทุกด้าน ตลอดจนการตรวจสุขภาพร่างกาย และดูแลด้านสุขอนามัยโดยรวม เพื่อสร้างรากฐานอนาคตที่ดีและความสุขอย่างยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก www.areeya.co.th