วิกฤตขยะอาหาร (3) มาตรการ นโยบายในระดับโลก และความเป็นไปได้ในประเทศไทย
จากการที่ทั่วโลกมองว่า ปัญหาขยะอาหารว่ากำลังอยู่ในภาวะ “วิกฤต” (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ วิกฤตขยะอาหาร ตอนที่ 1 และตอนที่ 2) ปริมาณขยะอาหารที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงแต่ทำให้โลกต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลในแต่ละปีเพื่อจัดการขยะจากอาหารพวกนี้ แต่ขยะอาหารส่งผลกระทบสำคัญอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเชิงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากเทียบเป็นประเทศ ขยะอาหารนั้นถือเป็นประเทศอันดับที่ 3 รองจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกาและจีน
และนั่นเป็นเหตุผลที่ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหา “ขยะอาหาร” ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในวาระของโลก อย่างในเป้าหมาย 12.3 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ระบุว่าต้องการให้ประเทศทั่วโลกจะต้องบรรลุเป้าหมายนี้ร่วมกันในการลดขยะอาหารลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573ฝรั่งเศสกับกฎหมายห้ามทิ้งของกินได้
ในเวลาที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวจากนานาประเทศเกี่ยวกับความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ ตอนหนึ่งในเวที วิกฤตขยะอาหาร: ความจริงที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก (Food Waste: an Unpalatable Truth) ซึ่งจัดขึ้นโดยเทสโก้ โลตัส และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.อำไพ หรคุณารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นักวิชาการด้านความยั่งยืน ได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการออกกฎหมายล่าสุดเกี่ยวกับขยะอาหารของฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ เป็นกฎหมายที่ห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งหรือทำลายอาหารที่เหลือหรือหมดอายุ แต่ให้ต้องนำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศล หรือนำไปทำเป็นอาหารสัตว์
การผ่านกฎหมายของรัฐบาลฝรั่งเศสครั้งนี้ เป็นความพยายามที่จะลดปริมาณขยะอาหารในประเทศให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2568 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานการศึกษาหนึ่งที่ระบุว่า ปริมาณการทิ้งอาหารของชาวฝรั่งเศสโดยเฉลี่ยสูงถึงราว 20-30 กิโลกรัมต่อปี และในประมาณ 7 กิโลกรัม เป็นอาหารที่ยังอยู่ในบรรจุภัณฑ์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดขยะอาหารมากถึง 7.1 ล้านตัน และทำให้ประเทศต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมากถึงปีละ 20,000 ล้านยูโร
ดร.อำไพกล่าวว่า ยังมีอีกหลายประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะอาหารอย่างเข้มข้น เช่น ฮ่องกง ที่มีมาตรการหลากหลายภายใต้พิมพ์เขียวการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สหรัฐอเมริกา ที่มีการทิ้งอาหารมาก ใช้การออกกฎหมายควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายที่จะลดขยะอาหารให้ได้ร้อยละ 5 ภายในปี 2573 หรือกระทั่งปากีสถาน ที่มุ่งเน้นการลดความสูญเสียอาหารตั้งแต่ต้นทาง โดยมีการสร้างคลังเก็บพืชผักเพื่อลดการสูญเสียระหว่างการบรรจุและการขนส่ง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดสะท้อนให้เห็นนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหาขยะอาหารที่ทางออกขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและโจทย์ที่แตกต่างกัน
“บริบทของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน สหรัฐอเมริกา หรือในยุโรป ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีขยะอาหารค่อนข้างมาก แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาหรืออย่างในประเทศไทยเรามีการสูญเสียอาหาร 2 ส่วน คือ ในส่วนที่ผลิตหรือขนส่ง อีกส่วนหนึ่งคือส่วนที่ถูกทิ้ง โดยส่วนของการผลิตคือส่วนที่มากกว่า ดังนั้น มาตรการในการบริหารจัดการอาจจะแตกต่างกันไป” ดร.อำไพกล่าว
อ่านพิมพ์เขียวขยะอาหารและบทเรียนจากฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ ฮ่องกงเป็นตัวอย่างของการให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาขยะอาหาร นับจากที่เกาะแห่งนี้เผชิญหน้ากับวิกฤตขยะมาตั้งแต่ปี 2555 รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายภายใต้พิมพ์เขียวการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในปี 2556-2565 โดยมีเป้าหมายในการลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งให้ได้ร้อยละ 40 ในปี 2565
ทั้งนี้เพราะขยะอาหารถือว่าเป็นขยะที่มีปริมาณมากที่สุดในหลุมฝังกลบ ในปี 2555 แต่ละวันมีการทิ้งขยะมูลฝอยจำนวน 9,278 ตัน มี 3,337 ตัน หรือ 36% เป็นขยะจากอาหาร และบรรดาอาหารที่ทิ้งส่วนใหญ่มาจากแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและแปรรูป รวมถึงร้านอาหาร โรงแรม และตลาดสด และในช่วง 10 ปีก่อนหน้าจะออกมาตรการ ปริมาณขยะกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ย้อนกลับไปราวเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557 สำนักสิ่งแวดล้อม ฮ่องกง ได้เปิดตัว “โครงการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลสำหรับฮ่องกงในปี 2557-2552” ซึ่งเป็นแผนงานที่ครอบคลุมกลยุทธ์ เป้าหมาย นโยบาย และแผนการดำเนินงานสำหรับการทิ้งขยะและพื้นที่ทิ้งขยะ
ในแผนยังได้กำหนดเป้าหมายการบริหารจัดการเพื่อลดขยะอาหารลงหลุมฝังกลบ และได้กำหนดกลยุทธ์ 4 ด้าน เพื่อจัดการกับขยะอาหาร ได้แก่
- 1. การลดแหล่งกำเนิด (Reduction at Source)
- 2. การใช้ซ้ำและการบริจาค (Reuse & Donation)
- 3. การรีไซเคิล (Recycable Collection)
- 4. การเปลี่ยนของเสียจากอาหารเป็นพลังงาน (Renewable Energy)
โดยประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญที่สุดมุ่งเน้นที่การหลีกเลี่ยงและลดขยะจากต้นทางจากแหล่งที่จะทิ้งอาหาร มีการตั้งคณะกรรมการและดำเนินโครงการ Food Wise Hong Kong เพื่อรณรงค์ลดการสูญเสียอาหารในพื้นที่ทั่วประเทศทั้งกับการประกอบการในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงในครัวเรือน ในการลดการผลิตขยะอาหารที่เกิดตั้งแต่ต้นทาง
อังกฤษกับแพลตฟอร์มใหม่ “FoodShare FoodCloud”
นอกเหนือจากแรงผลักที่เกิดจากฝั่งนโยบายและมาตรการจากภาครัฐ การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะอาหารในสหราชอาณาจักร นับเป็นแพลตฟอร์มตัวอย่างในการลดปัญหาขยะอาหาร โดยทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจ โดยเทสโก้ในสหราชอาณาจักรได้จับมือกับ FoodShare องค์กรสาธารณกุศลในการจัดทำแอปพลิเคชัน “FoodCloud” แบบออนไลน์ที่ครบวงจรซึ่งจะเปลี่ยนเส้นทางอาหารส่วนเกินจากร้านค้าเพื่อส่งต่ออาหารนับล้านมื้อให้กับองค์กรการกุศลท้องถิ่นและกลุ่มชุมชนทั่วประเทศ แอปพลิเคชันดังกล่าวพัฒนาโดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาจาก Trinity College Dublin ซึ่งทำให้พนักงานที่หน้าร้านของเทสโก้แต่ละสาขาจะสามารถรวบรวมข้อมูลอาหารส่วนเกิน (Surplus Food) ของร้านเมื่อสิ้นสุดวัน และข้อมูลนี้จะถูกแจ้งเตือนและแบ่งปันให้กับองค์กรการกุศลในท้องถิ่นเพื่อให้สามารถเดินทางมารับอาหารและนำอาหารที่เหลือจากการจำหน่ายแต่คุณภาพดีไปใช้ ดังนั้น นอกจากจะลดการสร้างขยะอาหารแล้ว การบริจาคอาหารส่วนเกินผ่านแพลตฟอร์มนี้ยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กรสาธารณกุศลในท้องถิ่น
ปัจจุบัน นอกจากเทสโก้จะกลายเป็นธุรกิจค้าปลีกรายแรกในสหราชอาณาจักรที่บรรลุเป้าหมายไม่ทิ้งอาหารที่กินได้จากทุกสาขาทั่วราชอาณาจักรแล้ว ก็ยังเป็นธุรกิจค้าปลีกรายแรกที่เปิดเผยข้อมูลขยะอาหารในธุรกิจของตนเองมาตั้งแต่ปี 2556 ด้วย
“เดฟ ลูอิส” ซีอีโอ เทสโก้ กล่าวว่า “ในธุรกิจค้าปลีกเรามีอาหารเกินอยู่เสมอ เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากในการที่จะสร้างสมดุลความต้องการในการซื้อและอุปทานที่เรามี และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงอาสาที่จะทำเรื่องนี้”
ที่มา: https://www.edie.net/news/5/Tesco-launches-UK-wide-rollout-of–FoodCloud–waste-donation-platform/
มาตรการและอนาคต “ขยะอาหาร” ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นมากขึ้นในความตื่นตัวของภาคเอกชน เช่น ตัวอย่างของเทสโก้ โลตัส ในการบริหารห่วงโซ่อุปทานในองค์กร หรือที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์ ที่ปรับปรุงการบรรจุผลไม้ โดยใช้การบรรจุภัณฑ์ที่ดีมากขึ้นเพื่อถนอมผัก ผลไม้ ก่อนที่จะวางขาย และมีการวางแผนร่วมกับเกษตรกรเพื่อลดความสูญเสียอาหารในช่วงของการเพาะปลูก ฯลฯ
แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยในอนาคตก็คือ การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมและมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะการดำเนินงานที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
เพราะแม้ว่าปัจจุบัน ปัญหาขยะจะกลายเป็นวาระแห่งชาติ เป็นนโยบายของรัฐบาล และแม้ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะมีการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารระยะเวลา 10 ปี ที่มีประเด็นหลักคือทำให้มีความมั่นคงทางด้านอาหาร มีอาหารอย่างเพียงพอ และมีการใช้อย่างไม่สิ้นเปลืองเป็นกรอบในการทำงาน
แต่ในทางปฏิบัติอาจจะยังต้องอาศัยความพยายามอีกมากตั้งแต่เรื่องข้อมูลขยะอาหาร มาตรการ เทคโนโลยีในการกำจัด ตลอดจนความร่วมมือของภาคธุรกิจและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภค
รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ปัญหาใหญ่ของวิกฤตขยะอาหารคือความตระหนักของคนในสังคมยังมีค่อนข้างน้อย ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ประชาชนตระหนักมากขึ้น โดยเริ่มจากการที่ทุกคนปรับพฤติกรรมการบริโภคหรือการซื้อสินค้า หากทำได้เชื่อว่าสถานการณ์เรื่องนี้จะเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น”
“ดังนั้น ถ้าเราเริ่มจากการรู้ก่อนว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหา ซื้อเยอะเกินไป กินทิ้งกินขว้าง การที่ไม่รู้ว่าอาหารพวกนี้ให้ประโยชน์กับคนอื่นได้ มีคนอยากได้อีกเยอะ มีองค์กรที่เขาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างดี ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ได้ สถานการณ์จะเริ่มเปลี่ยนไป เพราะผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วคำแนะนำของภาครัฐจะตามมา กฎหมายต่างๆ จะตามมาได้ แต่ต้องเริ่มจากที่ตัวเราเองก่อน” ดร.เจษฎากล่าว
การจะปลอดล็อกปัญหาขยะอาหารในประเทศไทย จึงอาจจะต้องกลับไปยืนอยู่ในจุดที่ว่า “ขยะอาหาร” นั้นเป็นปัญหาและถึงเวลาที่เราทุกคนจะต้องตระหนักและเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ร่วมกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org