เมื่อโลกขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว การปรับตัวเพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็นใน ศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จที่ผู้นำรุ่นใหม่ต้องใส่ใจและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะโลกใบเดิมในมิติใหม่ไม่ได้ต้องการผู้นำแบบเก่าอีกต่อไป แต่ต้องการผู้นำเวอร์ชั่นใหม่ที่มีไอเดียนอกกรอบ กล้าเสี่ยง และมีฝีไม้ลายมือในการสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่พร้อมตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ในธุรกิจ

         

แน่นอนว่า เพื่อไปให้ถึงฝั่งฝันของผู้นำแห่งศตวรรษหน้า ความรู้ความสามารถที่ต้องสั่งสมจากมหาวิทยาลัย และ คลังความรู้ที่กว้างใหญ่ยังเป็นพื้นฐานสำคัญ แต่อีกวิชาสำคัญที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน คือ ทักษะนอกตำราที่ผู้นำแห่งอนาคตต้องมี

         1.ทักษะการมองโลกในแง่ดี มายด์เซ็ทของผู้นำ เปรียบเสมือนเข็มทิศที่สะท้อนว่าองค์กรนั้นๆ มีวิธีการมองโลกภายนอกด้วยเลนส์แบบไหน ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอันแสนดุเดือด ผู้นำที่โลกอนาคตต้องการต้องไม่เอาแต่หยุดอยู่กับที่ และโทษปัจจัยรอบด้าน แต่ควรมองไปข้างหน้า แล้วหาทางเร่งฝีมือเพื่อไปให้เร็ว และไปให้ไกลกว่าเดิม

         2.เป็นนักตั้งคำถามมากกว่าตอบคำถาม หนึ่งในสิ่งที่ผู้นำยุคใหม่ต้องมีคือ ทักษะในการตั้งคำถามที่จุดประกายให้เกิดไอเดียใหม่ๆ แทนที่จะมัวยึดติดกับคำถามเดิมว่า จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างไร อาจต้องชวนให้ทีมเห็นภาพเดียวกันว่า เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่เราวาดฝันไว้หน้าตาเป็นอย่างไร  

         3.เลิกยืมจมูกคนอื่นหายใจ กลยุทธ์การจัดจ้างกิจการภายนอก (Outsourcing) อาจเป็นที่นิยมกันมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพราะหลายองค์กรมองว่าการ outsource งานบางอย่างออกไปให้องค์กรภายนอกที่มีความพร้อมมากกว่าทำ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้ได้รับผลงานที่มีคุณภาพสูงกว่าการทำเองภายใน ยังเปิดโอกาสให้คนภายในได้โฟกัสกับงานที่มีความชำนาญ แต่จากนี้วิสัยทัศน์ผู้นำยุคใหม่จะเปลี่ยนไป เพราะพวกเขาจะเริ่มหันมามองเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรภายในให้เป็นขุนพลแทนพลทหาร เพราะเชื่อว่า คุณค่าของสินค้าและบริการที่ดีที่สุดนั้น ไม่มีใครจะถ่ายทอดและสร้างสรรค์ออกมาได้ดีกว่าคนในองค์กร

         4.ทักษะการคิดแบบนวัตกรรม ผู้นำเจนใหม่ที่มีไอเดียสร้างสรรค์อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีทักษะในการสร้างบรรยากาศในการทำงานให้เหมือนสนามประลองไอเดียที่พร้อมกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดในเชิงนวัตกรรมให้ได้

         5.บาลานซ์ตัวเองเป็น แค่ผลงานไร้เทียมทานอาจไม่พอ เพราะถ้างานรุ่งแต่ชีวิตส่วนตัวล้มเหลว ก็ไม่มีประโยชน์ สิ่งที่ผู้นำแห่ง ศตวรรษที่ 21 ต้องรับมือให้ได้ คือ การสร้างเขตแดนระหว่างเรื่องงาน และ เรื่องส่วนตัวให้ชัดเจน

         6.กระจายงานเป็น ผู้นำยุคใหม่ก็เหมือนโรงงานไฟฟ้า ที่มีหน้าที่จ่ายไฟไปยังหม้อแปลงต่างๆ เพื่อส่งต่อกระแสไฟไปยังบ้านเรือนต่างๆ เท่านั้น แทนที่จะต้องลงมือทำเองทุกอย่าง หน้าที่ของผู้นำแห่งศตวรรษหน้าคือ การกระจายความรับผิดชอบไปยังลูกทีม พร้อมเป็นโค้ชและกำลังเสริมในการพาทีมไปสู่จุดหมาย

        7.มีความสัตย์จริง ( Integrity) สตีเฟ่น คาร์เตอร์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ Integrity ว่า ความสัตย์จริงนั้น นับเป็นคุณธรรมอันดับแรกที่สะท้อนว่า เราเป็นคนดีหรือไม่ เป็นคุณสมบัติที่เหนือกว่าคุณสมบัติอื่นๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณธรรมในใจเรา สำหรับผู้นำแห่งอนาคตนี่คือคุณสมบัติสำคัญที่ขาดไม่ได้ มิฉะนั้นความหวังที่จะสร้างความผูกพันระยะยาวให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะกับคู่ค้า ลูกทีม หรือลูกค้าไม่มีทางเกิดขึ้นได้

ขอบคุณที่มา :  www.leadershipthoughts.com  และ www.kriengsak.com