คุณกำลังเข้าข่าย “กลัวตัวเองมีความสุข” หรือเปล่า?
จั่วหัวมาแบบนี้ หลายคนอาจคิดว่าพิมพ์ผิดไปหรือเปล่า ใครหนอจะ “กลัวตัวเองมีความสุข” ในเมื่อความสุขเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ปรารถนา แต่ก่อนจะสรุปเช่นนั้น และกดปิดบทความนี้ ลองอ่านให้จบ แล้วคุณจะต้องบอกว่า แบบนี้ก็มีเหรอ?
ถึงจะเคยได้ยินอาการกลัวที่ยากจะหาเหตุผลมาก็เยอะ ที่แปลกเหลือเชื่อมาก็มาก แต่หนึ่งในความกลัวรูปแบบใหม่ที่ชวนให้หลายคนต้องกลับมาถามตัวเองห้หนักว่ากำลังเข้าข่ายหรือเปล่าคือ อาการ “เชอโรโฟเบีย” (Cherophobia) หรืออาการหวาดกลัวการมีความสุขมากเกินไป
Cherophobia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คำว่า “chairo” มีความหมายว่า ฉันมีความสุข ส่วน phobia นั้น อย่างที่รู้กันว่า หมายถึงอาการกลัวอย่างไม่มีเหตุผล เพราะฉะนั้นนิยามของผู้ที่มีอาการสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็น “เชอโรโฟเบีย” คือ ผู้ที่มีอาการไม่พึงใจกับการที่ตัวเองมีความสุขโดยไม่มีเหตุผล หรือบางครั้งรู้สึกทุกข์ทรมานหากตนเองจะมีความสุข หรือสนุกในกิจกรรมต่างๆ
อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นผลจากการที่คนๆ นั้นต้องทำกิจกรรมที่น่ากลัวแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะความวิตกกังวลมากเกินไปที่เกิดขึ้นในใจ ทำให้คนกลุ่มนี้เกิดอาการหวาดกลัวว่าหากพวกเขาปล่อยให้ตัวเองมีความสุขแล้ว จะเกิดสิ่งเลวร้ายขึ้นตามมา
จนถึงขณะนี้ Cherophobia ยังไม่ได้เป็นศัพท์ที่นำมาใช้อย่างแพร่หลาย และไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในคู่มือวินิจฉัยและสถิติของอาการทางจิต หรือ DSM-5 แต่มีข้อมูลที่พบว่าผู้ที่เข้าข่ายว่าจะมีความกลัวดังกล่าว จะไม่ได้มีอาการซึมเศร้าตลอดเวลา เพียงแต่จะพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้มีความสุข ทั้งนี้แครี่ บารอน จิตแพทย์ได้วิเคราะห์ถึงต้นตอของอาการนี้ รวมถึงอาการ hedonophobia ซึ่งหมายถึงอาการกลัวที่จะเป็นที่พึงพอใจ ว่าอาจมาจากปมในวัยเด็ก หรือ เรื่องสะเทือนใจในอดีตที่ต้องเจอกับประสบการณ์ที่เลวร้ายหลังจากดื่มด่ำกับช่วงเวลาแห่งความสุข ทำให้รู้สึกต่อต้าน หากจะต้องเผชิญกับวัฏจักรของความรู้สึกนั้นอีกครั้ง
สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ ชักไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเข้าข่ายดังกล่าวหรือไม่ ลองเช็คตาม 7 สัญญาณนี้
1.รู้สึกวิตกกังวลเมื่อได้รับเชิญให้ไปร่วมงานสังคม
2.เลือกที่จะปฏิเสธโอกาสที่จะก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า เพราะกลัวว่าจะมีเรื่องร้ายเกิดขึ้น
3.หลีกเลี่ยงที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมที่สนุกสนาน
4.คิดแต่ว่าการมีความสุขนั้น เป็นสัญญาณกำลังจะมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นตามมา
5.คิดว่าการมีความสุขจะทำให้คุณดูเป็นคนไม่ดี
6.เชื่อว่า การแสดงออกว่าตัวเองมีความสุขเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อคุณ เพื่อนและครอบครัวของคุณ
7.คิดว่าการพยายามที่จะมีความสุขเป็นการเสียเวลาและเสียแรงเปล่า
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาอาการนี้ แต่วิธีการรับมือที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่คิดว่าเข้าข่ายอาการดังกล่าว คือเปลี่ยนวิธีคิดของตนเอง และพยายามยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ขณะที่จิตแพทย์เองอาจต้องอาศัยจิตวิทยาเชิงลึกเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของความเจ็บปวดในอดีต และคลายปมสิ่งที่เชื่อมโยงความสุขกับความทุกข์ออกจากกัน
ขอบคุณที่มา www.businessinsider.com