เครือข่ายผู้นำด้านมาลาเรียในเอเชียแปซิฟิค จับมือ มูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ หยุดภัยไข้มาลาเรีย
กรุงเทพฯ 7 พฤษภาคม 2018 - เครือข่ายผู้นำด้านมาลาเรียในเอเชียแปซิฟิค (Asia Pacific Leaders Malaria Alliance) หรือ APLMA และ มูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ (DT Families Foundation) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการกำจัดไข้มาลาเรียให้หมดจากประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม
มร.เบนจามิน รอล์ฟ (ซ้าย) ประธานกรรมการบริหาร APLMA คุณทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ (ขวา) ประธานกรรมการมูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์
ไข้มาลาเรียเคยเป็นโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์เป็นอันดับหนึ่งและยังคงเป็นโรคร้ายที่ท้าทายต่อสุขอนามัยที่สำคัญของโลก ขณะนี้ภัยของไข้มาลาเรียได้พุ่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการเพิ่มจำนวนของการดื้อยา ในประเทศแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระหว่างปี 2543 ถึง 2558 การกำจัดไข้มาลาเรียในระดับสากลได้มีความคืบหน้าไปมาก โดยสามารถลดอัตตราการเกิดโรคลงไปกว่า 37% และลดอัตราการตายไปกว่า 62% สำหรับประเทศไทยการเกิดโรคไข้มาลาเรียได้ลดลงไปกว่า 65% และระหว่างปี 2553 ถึง 2559 พื้นที่ใน 35 จังหวัดของประเทศไทยได้รับการประกาศให้เป็นเขตปลอดไข้มาลาเรีย จึงทำให้ประเทศไทยเข้าใกล้เป้าหมายของการกำจัดไข้มาลาเรียให้หมดภายในปี 2568
อย่างไรก็ตามความคืบหน้าในการกำจัดไข้มาลาเรียในระดับโลกกลับชะลอตัวลง จากรายงานไข้มาลาเรียโลกปี 2560 (World Malaria Report 2017) มีจำนวนผู้ป่วยไข้มาลาเรียทั่วโลกประมาณ 216 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5 ล้านคน ทั้งนี้เชื้อมาลาเรียที่ดื้อยากำลังเริ่มแพร่เชื้อในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไข้มาลาเรียอีกครั้งและอาจถึงขึ้นเสียชีวิต โดยจะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง และเป็นปัญหาต่อระบบสาธารณสุข
“สถานการณ์นี้เป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องตระหนักว่าความสำเร็จตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากำลังอยู่ในสภาพสุ่มเสี่ยง และกลยุทธ์ในการควบคุมโรคไข้มาลาเรียที่ผ่านมาจะไม่ได้ผลเช่นเดิมอีกต่อไปในอนาคต” มร.เบนจามิน รอล์ฟ ประธานกรรมการบริหาร APLMA กล่าว “การกำจัดไข้มาลาเรียจำเป็นที่จะต้องมีความหลักแหลมและมีการใช้นวัตกรรมมากกว่าก่อน เช่น ยารักษาและสารกำจัดพาหะตัวใหม่ แต่ก็ต้องได้รับความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการต่อสู้กับไข้มาลาเรียในพื้นที่ที่ยังมีการแพร่เชื้ออยู่” ในประเทศไทย ไข้มาลาเรียยังคงแพร่เชื้ออยู่ในพื้นที่ห่างไกลและตะเข็บชายแดน โดยชุมชนในพื้นที่เหล่านี้รับรู้ถึงผลร้ายของโรคที่นับวันยิ่งทวีคูณ
“มีหลายชุมชนที่ประสบกับความยากลำบากจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการศึกษาอยู่แล้ว” คุณทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ประธานกรรมการมูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ (DT Families Foundation) กล่าว “การกำจัดไข้มาลาเรียในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึงเหล่านี้จะช่วยพัฒนาชีวิตของคนที่ต้องการความช่วยเหลืออีกนับพันคน และยังพัฒนาศักยภาพในการต่อสู้กับปัญหาการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียด้วย”
ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นความลงตัวสำหรับทั้งสองฝ่าย โดย APLMA มีพันธกิจในการช่วยขจัดไข้มาลาเรียให้หมดไปจากภูมิภาค และมูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ (DT Families Foundation) มีภารกิจหลักเกี่ยวกับการเข้าถึงการให้รักษาพยาบาลและการศึกษา
“การจับมือกันของทุกฝ่ายในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการรวบรวมทรัพยากรและเสริมสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องความสำคัญของการกำจัดไข้มาลาเรียในประเทศไทย” ดร. รอล์ฟ กล่าวเสริม “หนึ่งในโครงการริเริ่มของเราคือ ‘M2030’ โดยเป็นความร่วมมือที่ไม่เคยมีมาก่อนซึ่งจะนำองค์กรและบุคลากรชั้นนำจากทั่วทั้งทวีปเอเชียเข้ามาร่วมทำงานภายใต้แบรนด์เดียวกันเพื่อเป้าหมายของการขจัดไข้มาลาเรีย”
การร่วมมือกันในครั้งนี้ ภาคีทั้งสองฝ่ายจะร่วมงานและใช้ศักยภาพที่แตกต่าง เพื่อเป้าหมายหนึ่งเดียวคือ ขจัดไข้มาลาเรียให้หมดไป
“ทุกการริเริ่มจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ หากองค์กรต่าง ๆ ทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน หรือองค์กรเพื่อการกุศลให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีและความต้องการของสังคมเป็นหลัก” คุณทิพพาภรณ์กล่าว “มูลนิธิของเรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมให้แข็งแรงและสร้างโลกที่ยั่งยืน เพื่อที่ทุกคนสามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่และมีความเอื้อเฟื้อต่อกันละกัน”
ขอบคุณข้อมูลจาก www.m2030.org.com