เตือนแล้วนะ! ถ้าอยากคุมเกมส์ให้อยู่ ต้องรู้จักจัดการความรู้สึก
เตือนแล้วนะ! ถ้าอยากคุมเกมส์ให้อยู่ ต้องรู้จักจัดการความรู้สึก
ด้วยบทบาทความรับผิดชอบที่แบกไว้หนักอึ้งบนสองบ่า อาจทำให้ใครหลายคนคิดว่าคุณใช้งานร่างกายไปกับการทำงานต่างๆ และใช้สมองไปกับการคิด และ ตัดสินใจหนักหนาสาหัสมากพออยู่แล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่า หลายคนกำลังประเมินความโหดร้ายของตัวเองที่มีต่อสมองผิดไป เพราะธรรมชาติของมนุษย์ใช้งานสมองในการคิดและตัดสินใจไม่ใช่แค่วันละร้อยหรือพันเรื่อง แต่ใช้สมองคิดเรื่องจิปาถะในชีวิตเฉลี่ยวันละ 6,000 เรื่อง!
ผลลัพธ์จากการคิดและตรึกตรองเรื่องต่างๆที่ผ่านเข้ามาในสมองของเรานี้เอง เป็นต้นเหตุของการแสดงออกทางอารมณ์ และ ความรู้สึกออกมา ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ ดีใจ เสียใจ หรือตื่นเต้น
ถามว่าสมองเราเอาอะไรมาชี้วัด ว่าเมื่อใดควรแสดงความรู้สึกเช่นไร?
คำตอบคือ ประสบการณ์ในอดีต เรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละคนย่อมมีบทเรียนชีวิตที่ต่างกัน ทำให้เรื่องราวบางอย่างอาจกระทบกับความรู้สึกของคนบางคนอย่างแรง ขณะที่อีกคนกลับไม่รู้สึกอะไรเลย จึงอาจกล่าวได้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกออกไปนั้น เหตุและปัจจัยไม่ได้มาจากสิ่งเร้ารอบตัวเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการสั่งการของสมองของคุณด้วย
ถ้าคุณไม่อยากเป็นผู้นำที่ถูกนิยามว่าเป็นบอสที่ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ก่อนที่จะกลายเป็นซูเปอร์บอสที่บริหารจัดการงานตรงหน้าได้เป็นอย่างดี ต้องเริ่มต้นจากการจัดการอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองให้เข้าที่เข้าทางเสียก่อน จากนี้ คือ 3 เทคนิคง่ายๆ ในการจัดระเบียบอารมณ์ไม่ให้บงการชีวิตคุณไปในทางที่ยุ่งเหยิง
1.เล็งหัวกระสุนแล้วยิงไปให้ตรงเป้าความรู้สึก เหล่าพนักงานออฟฟิศทั้งหลายคุ้นชินกับการทำ bullet point หรือ เครื่องหมายที่มีไว้แบ่งหัวข้อต่างๆเพื่อให้กับการทำพรีเซนเทชั่นเป็นอย่างดี แต่คราวนี้ลองเปลี่ยนจากการทำ bullet point เพื่อสรุปไอเดียมาสู่การใช้หัวกระสุนนี้ จี้ไปที่ความรู้สึกของคุณ โดยคุณอาจเลือกช่วงเวลายามเช้าที่ปลอดโปร่ง เพื่อระบายความรู้สึกที่มีในใจออกมา หรือ ใช้เวลาก่อนนอน ถ่ายทอดความจริงในใจที่สั่งสมมาทั้งวัน เช่น วันนี้รู้สึกเหนื่อยเพราะอะไร ตื่นเต้นและมีความสุขกับอะไร เป็นต้น ออกมาเป็นข้อๆ เพื่อทำความรู้จักตัวเองคุณเองให้ดีขึ้น
2.ให้ความรู้สึกนั้นได้รับการปลดปล่อยและบำบัด ไม่มีใครให้โอกาสที่ดีที่สุดกับคุณได้ดีไปกว่าตัวคุณเอง เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่รู้สึกจิตใจกำลังว้าวุ่น ราวกับห้องที่ยุ่งเหยิง ไม่ต่างกับกองด้ายที่เต็มไปด้วยปม ลองปล่อยให้ตัวเองได้หยุดพัก หายใจเข้าลึกๆ ค่อยๆหลับตา แล้วค่อยๆทำตัวเป็นนักสังเกตการณ์ทางอารมณ์ ใช้สมองเป็นเครื่องสแกน เพื่อตรวจจับสัญญาณความเครียด หรือปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวคุณขณะนี้ ค่อยๆเรียนรู้กับความรู้สึกหรืออารมณ์นั้นให้ถ่องแท้ว่ามีคืออะไร มีต้นเหตุมาจากอะไร จากนั้นถามตัวเองว่ามีประโยชน์หรือไม่ที่จะเก็บไว้ หรือ มีไว้ก็มีแต่ทำให้สิ้นเปลืองพลังกาย พลังใจไปวันๆ แล้วตัดสินใจว่าจะเก็บไว้หรือสลัดทิ้ง
3.ตามหาสิ่งเล็กๆที่เรียกว่า “ความวิตกกังวล” ลองหาสมุดโน๊ต หรือ คอมพิวเตอร์ส่วนตัวสักเครื่อง นั่งลิสต์สิ่งที่ชีวิตนี้คุณยังตัดไม่ขาด ลองคุยกับตัวเองให้เคลียร์ แล้วเขียนทุกอย่างในใจออกมาเป็นตัวหนังสือ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องใหญ่ หรือ เรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม เพราะผลลัพธ์ที่คุณจะได้รับจากเวลาที่เสียไป คือ ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ว่าชีวิตนี้ คุณกำลังแบกหรือพกพาอะไรติดตัวไว้บ้างในแต่ละวัน ที่สำคัญ คุณจะได้รู้เสียทีว่า ทุกวันนี้คุณเผลอแบกรับสิ่งที่ไม่จำเป็นอะไรไว้บ้าง
จำไว้ว่า คุณไม่มีทางเป็นผู้นำที่ดี และสอบผ่านในการบริหารงาน หรือ บริหารคน ตราบที่คุณยังสอบตกแม้กระทั่งการบริหารความรู้สึกของตัวเองให้อยู่ในระเบียบ