GDP Q1/61 ประเทศไทย โตตรงไหน ? จากการเปิดเผยข้อมูล GDP ไตรมาสแรก ปี 2561 จาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ขยายตัว 4.8% หากมองด้านการผลิต จะพบว่าภาคเกษตรขยายตัว 6.5% และ ภาคนอกเกษตร ขยายตัว 4.7% TerraBKK สรุปข้อมูลดี ๆ ด้วย “เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจ” มาดูสิว่า ภาคส่วนใดในระบบเศรษฐกิจไทย โตสุด ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 รายละเอียดดังนี้

              ภาคโรงแรมและภัตตาคาร โตขึ้น 12.8% เรียกได้ว่าเป็นภาคธุรกิจที่ขยายตัวโดดเด่นที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 15.4% ส่วนใหญ่เป็นชาวฮ่องกง , ชาวจีน, ชาวรัสเซีย และชาวอินเดีย ภาพรวมรายรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 16.8% (ชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น 19% , ชาวไทยเพิ่มขึ้น12.2% ) ด้านอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 76.79% ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง Q0Q และ Y0Y

 

              การส่งออก (มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูป USD) โตขึ้น 9.9% โดยปริมาณการส่งออกโตขึ้น 5% ด้านราคาส่งออกโตขึ้น 4.7% โดยมูลค่าสินค้าส่งออกที่ขยายตัวมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 41.1% , อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม 37.7% และ มันสำปะหลัง 28.7% เป็นต้น ส่วนมูลค่าสินค้าส่งออกลดลงมากที่สุด คือ ยาง ลดลง 34.8%

             ภาคการขนส่งและคมนาคม โตขึ้น 7.1% โดยกลุ่มขนส่งที่มีการขยายตัวสูงสุด คือ ขนส่งทางอากาศ เพิ่มขึ้น 12.5% ปริมาณเที่ยวบิน Low cost ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 25.9% ด้านขนส่งทางน้ำ ขยายตัว 9.5% และขนส่งทางบก ขยายตัว 3.4%

             ภาคค้าปลีกค้าส่ง โตขึ้น 7% โดย “ดัชนีค้าปลีก” เพิ่มขึ้น 5.7% ตัวอย่างหมวดสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้าและร้านค้า ขยายตัวสอดคล้องตามการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

             ภาคเกษตร โตขึ้น 6.5% โดยกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีผลผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ข้าวเปลือก, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, อ้อย, กลุ่มผลไม้, กุ้งขาว, หมู และไก่เนื้อ ด้าน “ดัชนีราคาสินค้าเกษตร” ที่มีราคาสูงสุด คือ ข้าวเปลือก, มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มสินค้าที่มีราคาลดลง คือ ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ภาพรวม “ดัชนีรายได้เกษตรกร” โดยรวมลดลง 4.8%

             ภาคอุตสาหกรรม โตขึ้น 3.7% โดยอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวสูงสุด คือ น้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ 38.8% รวมทั้ง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 20.6% ยานยนต์ 12% คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ต่อพ่วง 10.2% และ พลาสติก/ยาง 8.7% ขณะที่อุตสาหกรรมหดตัว จะเป็น ผลิตภัณฑ์จากยาสูบ, การกลั่นและผสมสุรา และผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่น ๆ

             การบริโภคภาคเอกชน โตขึ้น 3.6% เรียกว่าขยายตัวในทุกหมวดสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในหมวดบริการและสินค้ากึ่งคงทน , สินค้าคงทน และสินค้าไม่คงทน แม้ว่ายอดขายรถยนต์นั่งจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนไปบ้าง แต่ด้าน “ความเชื่อมั่นผู้บริโภค” เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ระดับ 66.7 สูงสุดในรอบ 12 ไตรมาสที่ผ่านมา

             การลงทุนรวม โตขึ้น 3.4% ปรับตัวดีขึ้น ทั้งการลงทุนภาครัฐ (ขยาย 4%) และการลงทุนภาคเอกชน (ขยาย 3.1%) ไม่ว่าจะเป็นหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และหมวดก่อสร้าง ด้านมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 203 พันล้านบาท สูงกว่าไตรมาสก่อนที่ผ่านมา

             การผลิตภาคสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา โตขึ้น 2.2% เป็นผลมาจากการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.3% ขณะที่การผลิตอื่น ๆ เช่น ก๊าซ , ประปา ปรับตัวลดลง 4.7% และ1.8% ตามลำดับ

             การใช้จ่ายภาครัฐ โตขึ้น 1.9% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากที่ผ่านมา โดยหมวดค่าตอบแทนแรงงาน เพิ่มขึ้น 2.1% หมวดค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินถาวร เพิ่มขึ้น 2.7% หมวดการโอนเงินเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่ใช่ตัวเงิน เพิ่มขึ้น 1.3% และหมวดรายจ่ายซื้อสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้น 4.9%

             ภาคการก่อสร้าง โตขึ้น 1.2% โดยการก่อสร้างภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส สอดคล้องกับการขยายตัวของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้าง ขณะที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัย ขยายตัว 4.1% โรงแรม ขยายตัว 3.4% ด้านการก่อสร้างภาครัฐ หดตัว 0.1% จากการก่อสร้างภาครัฐที่ลดลง 5.4% ด้าน “ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง” เพิ่มขึ้น 2.8% ตามราคาคอนกรีต, ซีเมนต์, ไม้ และเหล็ก

            ท้ายนี้ TerraBKK มองว่า ยังคงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจต่อไปว่า ไตรมาสที่เหลือของปี 2561 นี้จะเป็นอย่างไร เพราะหากสถานการณ์ยังราบรื่นไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ ชาวไทยคงได้เห็น การขยายตัวของ GDP ในกรอบ 4.2-4.7 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้เป็นแน่ ---TerraBKK

บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก