นับเป็นอีกหนึ่งคำถามคาใจ และเป็นคำถามที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ กับคำถามที่ว่า การขออนุญาตก่อสร้าง แบบไหนจำเป็นต้องได้รับการเซ็นแบบจากสถาปนิก หรือวิศวกร และแบบไหนที่พรบ.ควบคุมอาคารไม่ได้บังคับให้มีการเซ็นแบบ วันนี้ rabbit finance มีคำตอบนั้นมาให้แล้วค่ะ

แบบบ้านที่ขออนุญาตก่อสร้างได้ โดยไม่ต้องมีวิศวกร และสถาปนิกเซ็นแบบ

  • บ้าน 1-2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 150 ตร.ม. วิศวกร และสถาปนิกไม่ต้องเซ็นแบบ

อ้างอิงจาก กฎกระทรวงฉบับที่ 56 (พ.ศ.2543)

การขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร รื้อถอนอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด เฉพาะในเขตสภาตำบล หรือเขตองค์การบริหารส่วนตำบล แต่มิได้อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีกฎกระทรวง หรือข้อบัญญัติท้องถิ่น กำหนดการตามมาตรา 8 (10) หรือประกาศกระทรวงมหาดไทยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกตาม มาตรา 13 ใช้บังคับ ถ้าเป็นอาคารดังต่อไปนี้ ให้แนบเฉพาะแผนผังบริเวณแสดงที่ตั้งอาคารโดยสังเขป และสำเนาเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินพร้อมกับคำขอ

“อาคารอยู่อาศัยไม่เกินสองชั้น และมีพื้นที่ทุกชั้นในหลังเดียวกัน รวมกันไม่เกิน 150 ตารางเมตร นั่นหมายถึงบ้านพักอาศัย มีพื้นที่ไม่เกิน 2 ชั้น และพื้นที่ใช้สอยรวมกันไม่เกิน 150 ตารางเมตร เป็นลักษณะที่ทางกฎหมายอนุญาต ไม่จำเป็นต้องมีสถาปนิก และวิศวกรเซ็นรองรับ ส่วนการคุมงานก่อสร้างนั้น เจ้าของบ้านสามารถเซ็นควบคุมงานได้เอง”


และนอกจากพื้นที่ใช้สอยแล้ว การออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมยังมีผลต่อการขออนุญาตเช่นกัน โดยกฎหมายได้ระบุไว้ว่า บ้านหรืออาคารดังกล่าวนี้ต้องเข้าข่ายให้มีวิศวกรออกแบบ และควบคุมงาน
“อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป หรือโครงสร้างของอาคารชั้นใดชั้นหนึ่งสูงตั้งแต่ 4 เมตร หรือมีช่วงคานตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป”

  • ช่วงคานไม่ถึง 5 เมตร วิศวกร และสถาปนิกไม่ต้องเซ็นแบบ

โดยปกติแล้ว บ้านเรือนทั่วไปจะนิยมออกแบบช่วงคานประมาณ 4 เมตร ซึ่งหากช่วงคานยาวมากกว่านี้ ก็อาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น กฎหมายจึงได้ระบุไว้ว่า หากช่วงคานยาว 5 เมตรขึ้นไป ต้องมีวิศวกรออกแบบ และคุมงาน

  • ช่วงความสูงชั้นใดชั้นหนึ่งไม่ถึง 4 เมตร วิศวกร และสถาปนิกไม่ต้องเซ็นแบบ

โดยปกติแล้ว บ้านเรือนทั่วไปจะนิยมออกแบบให้พื้นจรดฝ้าเพดาน มีความสูงประมาณ 2.6-3 เมตร แต่อาจมีบ้านลักษณะพิเศษ เช่น บ้านชั้นครึ่ง หรือบ้านที่มีความสูงโปร่ง ที่อาจมีความสูงเกินกว่า 4 เมตร ซึ่งหากพื้นที่ใดมีความสูงตั้งแต่ 4 เมตรเป็นต้นไป จะต้องมีลายเซ็นรับรองจากวิศวกรออกแบบ และควบคุมงาน

ปล. ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากเขตการปกครองบางแห่งจะมีกฎหมายเฉพาะที่ที่ใช้เฉพาะพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งเทศบาลบางแห่งอาจแตกต่างไปจากเทศบาลอื่นๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก rabbitfinance.com