ที่มาของคำว่า เสพติดอาหาร มาจากนักวิชาการด้านโภชนาการ ที่ได้ทำการศึกษาเรื่องพฤติกรรมการเสพติดอาหารของคน พบว่า คนที่มีการเสพติดอาหาร จะมีสารเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลงไปเหมือนคนที่เสพติดยาเสพติด 

ซึ่งคนที่เสพติดอาหาร เมื่อได้รับอาหารที่ตัวเองเสพติดแล้ว สารโดปามีนก็จะหลั่งออกมาทำให้เกิดความสุข ทำให้อารมณ์ดี ตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิในการทำงานได้ดีขึ้น และนี่จึงทำให้เกิดเป็นการเสพติดขึ้นมา

เพราะคนเราต้องการที่จะได้รับความสุข จนบางครั้งทำให้เรากินอาหารประเภทนั้นบ่อย และมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว ผลที่ตามมาคือน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น เป็นโรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และ โรคร้ายแรง อื่นๆ อีกมากมาย

เสพติดอาหาร

อาหารที่ติดอันดับ การเสพติดอาหาร

นักวิจัยได้ทำการวิจัย และลองเปรียบเทียบอาหารหลากหลายชนิดดู จนพบว่า อาหารขยะ คืออาหารที่ถูกเสพติดเยอะที่สุด เช่น พิซซ่า ตามมาด้วยช็อกโกแลต มันฝรั่งทอดกรอบ คุกกี้ และไอศกรีม

ซึ่งสาเหตุที่คนส่วนใหญ่เสพติดอาหารจำพวกนี้ก็เพราะว่า เป็นอาหารแปรรูปที่ปรุงแต่งรสชาติ น้ำตาลสูง เกลือเยอะ และที่สำคัญอร๊อยอร่อย จะไม่ให้ติดยังไงไหว

แต่อาหารขยะ เป็นคาร์โบไฮเดรตแปรรูปที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว พร้อมจะนำไปใช้ได้ทันที เรียกว่าเป็นอาหารที่ให้พลังงานเร็ว ผลที่ตามมาคือ เราจะ อ้วน ขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ปัจจัยที่ทำให้เกิด โรคเสพติดอาหาร

  • อารมณ์ และความรู้สึก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเสพติดอาหาร มักมาจากเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วย เมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกเศร้า เบื่อหน่าย หรือเครียด คุณจะรู้สึกว่าคุณต้องหาอะไรมาทำเพื่อทดแทน หรือเพื่อให้ลืมความรู้สึกเหล่านั้น และสิ่งที่คุณจะเลือกทำเป็นอันดับแรกก็คือ การกิน นั่นเอง

เพราะเมื่อไหร่ที่คุณได้รับประทานอาหารที่ถูกใจ ร่างกายของคุณก็จะหลั่งฮอร์โมนเอนโดฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการผ่อนคลายออกมา ทำให้คุณรู้สึกฟิน ตามชื่อฮอร์โมนที่ได้รับยังไงล่ะคะ (แอบกระซิบว่า ฮอร์โมนหิว ก็มีส่วนเหมือนกัน) 

  • การถูกปลูกฝังพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติมาตั้งแต่เด็ก

พ่อแม่หลายคนหรือเรียกว่าแทบจะทุกครอบครัว มักจะพยายามให้ลูกทานอาหารเยอะๆ ไหนจะ อาหารเสริม อาหารสุขภาพนู่นนี่นั่นอีก เพื่อให้ลูกดูอ้วนท้วนสมบูรณ์น่ารักในสายตาของพวกเขา  แต่หารู้ไม่ว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต เพราะเด็กอ้วนส่วนใหญ่เมื่อโตขึ้นก็มักจะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนเช่นเดียวกัน

เสพติดอาหาร

พฤติกรรมที่บ่งบอกว่า คุณ เสพติดอาหาร เข้าแล้ว

บางคนอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองเสพติดอาหารหรือเปล่า หรือแค่อยากกินเฉยๆ ถ้าเป็นผู้หญิงก็อาจจะรู้สึกว่าประจำเดือนจะมาล่ะมั้ง เลยอยากกินนู่นกินนี่ กินหมดทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ลองมาเช็คกันหน่อยดีกว่าว่า ใช่หรือไม่?

1. คุณจะเลือกซื้ออาหารชนิดนั้นเป็นประจำ สัปดาห์ละมากกว่า 3 ครั้ง 
2. คุณจะเลือกกินอาหารชนิดนั้นมากกว่าที่คุณวางแผนไว้ หรือกินแล้วหยุดไม่ได้ 
3. คุณจะอยากกินอาหารชนิดนั้นมากกว่าอาหารชนิดอื่น
4. คุณจะอยากกินอาหารชนิดนั้น แม้ว่าจะไม่หิวเลยก็ตาม  
5. เมื่อคุณไม่ได้กินอาหารชิดนั้น คุณจะรู้สึกอารมณ์เสีย หงุดหงิด หรือมีอาการทางด้านร่างกาย เช่น ปวดหัว 
6. คุณจะรู้สึกหน้ามืด ใจสั่น มือสั่น  
7. คุณจะขาดสมาธิ เมื่อไม่ได้กินอาหารชนิดนั้น 
8. คุณจะพยายามหาข้ออ้าง หรือเหตุผลในการกินอาหารชนิดนั้นเสมอ 

เสพติดอาหาร

แนวทางการแก้ไข การเสพติดอาหาร ให้ได้ผล

  • ควบคุมอาหาร

ควบคุมอาหาร หรือวางแผนการกินในแต่ละวัน และพยายามทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้ โดยที่คุณยังสามารถกินอาหารที่เสพติดได้ แต่กินให้น้อยลง และกินเฉพาะในมื้ออาหารเท่านั้น

  • เลือกทานอาหารเพื่อสุขภาพ

คุณควรเลือกทาน อาหารเพื่อสุขภาพ แทนอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่นคุณติดการรับประทานน้ำหวาน คุณอาจจะเปลี่ยนเป็นผลไม้รสหวานแทนก็ได้

  • บันทึกพฤติกรรมการบริโภคอาหาร

คุณควรจดบันทึกพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ว่าคุณมีความถี่ในการกินมากน้อยแค่ไหน

  • ถามตัวเองทุกครั้ง

ก่อนเคี้ยวอาหาร ให้คุณควรถามตัวเองก่อนทุกครั้ง ว่าคุณต้องการกินอาหารที่เสพติดจริงๆ หรือไม่ และต้องกินปริมาณเท่าไหร่ถึงจะพอ

  • หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

คุณควรหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการซื้อหา หรือมีอาหารที่เสพติดอยู่ ทั้งนี้ หากคุณคิดว่าคุณไม่สามารถทำได้ตามแนวทางที่ให้ไว้ด้านบน คุณก็จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโรคเสพติดอาหารโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแพทย์จะพูดคุยเพื่อหาสาเหตุ และจะจ่ายยาให้คุณรับประทาน อาการของคุณก็จะดีขึ้นตามลำดับ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม rabbit finance ขอแนะนำให้คุณเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินของตัวเองก่อน ก่อนที่จะไปพบแพทย์ เพราะเราเชื่อว่าถ้าคุณตั้งใจคุณก็ทำได้ และเมื่อไหร่ที่คุณทำได้แล้ว คุณภาพชีวิตของคุณก็จะกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลจาก rabbitfinance.com