การพัฒนาเมืองโซลกับราคาที่ต้องแลก? (ตอนที่ 1)
ความขัดแย้งระหว่างคุณประโยชน์และสิ่งที่ต้องเสียไปจากการพัฒนาเมืองของประเทศเกาหลีใต้ คล้ายเป็นความหมายที่แอบแฝงของสัญลักษณ์หยิน-หยาง ที่ซ่อนอยู่ภายใต้วงกลมน้ำเงิน-แดงบนผืนธงชาติ โดยบทความนี้คือการพูดถึงหนึ่งในโครงการพัฒนาเมืองที่เป็นการพลิกเมืองโซล เมืองหลวงที่บ่มลึกประวัติศาสตร์และความภาคภูมิใจอย่างยาวนานของประเทศเกาหลีใต้
ภายใต้ชื่อโครงการ CheongGyeChoen Restoration Project (โครงการบูรณะคลองชองเกชอน) ซึ่งผลิกผันปัญหามลภาวะทางการจราจรที่มาพร้อมกับการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของกรุงโซล ถึงแม้ชาวไทยที่เคยไปได้เยี่ยมเยียนแดนโสม จะชื่นชมเมืองโซลในปัจจุบันที่พรั่งพร้อมไปด้วยการพัฒนาเมืองเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถจินตนาการได้ว่าเมื่อไร ภาพเหล่านั้นถึงจะปรากฎใน กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยได้ เพราะสิ่งที่ กรุงโซล จะต้องแลกมากับความสำเร็จของโครงการชองเกชอนนี้ เป็นราคาที่หลายภาคส่วนในกรุงเทพฯ อาจยังไม่พร้อมที่จะจ่าย?ความรุ่งเรืองที่ผิดแปลกในยุคอุตสาหกรรมของเมืองโซล
ในช่วงยุค 1960-1980 หลายประเทศทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากภาวะสงครามและลัทธิคอมมิวนิสต์ มีการเร่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระดับประเทศ โดยในประเทศไทย สาระสำคัญด้านการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 3 เป็นต้นมา มีการเร่งรัดการพัฒนาด้านการผลิตและส่งออกอย่างเข้มข้นมากขึ้น เช่นเดียวกันกับ กรุงโซล ภายหลังสงครามในคาบสมุทรเกาหลี มีการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น การวิ่งตามความเจริญเพื่อเทียบเท่ากับประเทศชั้นนำในโลก ทำให้กรุงโซลต้องแบกรับปัญหาชุมชนแออัดที่กระจายทั่วกรุงโซล ทำให้ในช่วงปี 1958-1977 คลองชองเกชอนที่ถูกขุดขึ้นมาแล้วกว่า 600 ปี ต้องเปลี่ยนตัวเองจากสายน้ำสู่สายถนนในที่สุด
การปิดทับคลองชองเกชอนด้วยคอนกรีตแข็งกร้าว เป็นไปเพื่อยกระดับการจราจรและขนส่งสินค้า ตอบสนองต่อการเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เพียบพร้อมในสายตาโลก ทำให้มีบ้านเรือนกว่า 2 ล้านหลัง ใน 210 ชุมชน ถูกรื้อถอน และถูกแทนที่ด้วยทางด่วน อาคารสูงสมัยใหม่ และการลงทุนจากต่างประเทศ ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของ Modernization จนในปี 2000 มีการเปิดเผยข้อมูลว่า การถมทับคลองชองเกชอนเพื่อแลกกับความฝันของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมชั้นนำของคนยุคหลังสงคราม ต้องแลกมาด้วยคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของคนเมืองโซล โดยต้องทนรับเสียงและมลพิษจนรถยนต์ที่วิ่งบนถนนกว่า 170,000 คันต่อวัน รวมไปถึงงบประมาณกว่า 3,000 ล้านเหรียญต่อปี ที่ต้องดูแลซ่อมแซมทางยกระดับนี้ให้ยังคงดีอยู่เสมอ และนี่คือความรุ่งเรืองที่หลายประเทศต่างต้องพบจากความฝันของการเป็นเมืองอุตสาหกรรม
ยุคหลังอุตสาหกรรมและเส้นทางใหม่ในการพัฒนาเมืองโซล
ในปี 1992 สมาคมวิศกรรมโยธาแห่งเกาหลีใต้ (Korea Society of Civil Engineer) มีการให้ข้อมูลว่าทางยกระดับชองเกชอน ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกต่อไป เห็นได้จากการใช้จ่ายงบประมาณส่วนใหญ่ใน 3,000 ล้านเหรียญต่อปี ไปกับการซ่อมแซมตอม่อทางยกระดับ ทำให้แนวคิดในการฟื้นฟูอดีตคลองชองเกชอนได้เริ่มถูกพูดคุยในกลุ่มนักวิชาการและนักผังเมือง
แนวคิดการบูรณะคลองชองเกชอนกลับขึ้นมาใหม่กลายเป็นประเด็นที่ชาวเกาหลีใต้ต่างให้ความสนใจ เมื่อผู้สมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองโซล 2 คนในขณะนั้น ต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างเผ็ดร้อน และในที่สุดผู้สมัคร Myug-bak Lee สามารถเอาชนะคู่แข่งในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีได้ และทำให้โครงการบูรณะคลองชองเกชอน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของเขาเป็นจริงขึ้นมา
หนึ่งในข้อคัดค้านใหญ่ของผู้สมัคร Min-suk Kim คู่แข่งของ Myug-bak Lee ได้ให้เหตุผลก็คือ การโยกย้ายร้านค้ากว่า 60,000 ร้าน จำนวนกว่า 220,000 รายที่ตั้งอยู่บริเวณข้างเคียงทางยกระดับชองเกชอน รวมไปถึงปัญหาหารจราจร ที่มาการปิดเส้นทางจราจรบนทางยกระดับที่เคยลำเลียงรถยนต์จำนวนกว่า 170,000 คันต่อวัน ถึงแม้ Myug-bak Lee ที่ยังไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ในตอนนั้น จะไ้ด้รับความเห็นด้วยและคะแนนท่วมท้นจนเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งก็ตาม แต่ก็น่าคิดว่า หากเหตุผลในข้อเดียวกันนี้หากเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ชาวกรุงเทพมหานครอย่างเราจะคิดเห็นอย่างไร และจะมองว่าโครงการสวยหรูอย่างการเปลี่ยนทางลอยฟ้าให้กลับมาเป็นคลองเหมือนเดิม จะเป็นไปได้หรือไม่?
โครงการบูรณะคลองชองเกชอน หรือ CheongGyeChoen Restoration Project ใช้เวลาดำเนินการเพียงแค่ 2 ปี (ปี 2003-2005) ก็แล้วเสร็จ ภายใต้งบประมาณ 12,000 ล้านเหรียญหากมูลค่าโครงการขนาดนี้เกิดในกรุงเทพมหานครอาจเกิดหลายเสียงสะท้อนตามมา (อย่างโครงการ หอชมเมืองกรุงเทพ และ ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา) แต่คลองชองเกชอนในยุค 2000 สามารถดึงดูดผู้ใช้บริการทั้งชาวโซลและนักท่องเที่ยววันละ 90,000 คน สร้างมูลค่ากว่า 750,000 ล้านเหรียญต่อปี และกลับมาเป็นสายน้ำสำคัญที่ของกรุงโซลอีกครั้ง
ในบทความต่อไป TerraBKK จะพูดถึงการจัดการและพัฒนาโครงการนี้ ว่า Myug-bak Lee จัดการกับผู้ประกอบการกว่า 220,000 รายที่ตั้งร้านอยู่บริเวณทางยกระดับโซลอย่างไร รวมไปถึงการแก้ปัญหาจราจรระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับเมืองที่ยังไม่หลุดพ้นความเป็นเมืองอุตสาหกรรมในยุคก่อน 2000 อย่างกรุงเทพฯ - เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK เคล็ดลับการลงทุน
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก