การกู้เงิน ดูเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาทางการเงินของหลายๆครอบครัวไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การกู้สินเชื่อส่วนบุคคล กู้สินเชื่อบ้าน  ซึ่งหากใครที่จะไปกู้ร่วมกับใครๆ ต้องคิดดีๆก่อนนะคะ เพราะหากยังส่งผ่อนไม่หมด อาจจะเกิดปัญหาได้

อีกทั้งคุณไม่รู้เลยว่า นานไปแล้ว จะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คุณมีความจำเป็นต้อง ยื่นขอสินเชื่อ ซึ่งหลายคนรู้อยู่แล้วว่า หากเรามีสถานะเป็นผู้กู้ร่วม เราจะไม่สามารถทำการยื่นกู้เดี่ยวได้ เอาเป็นว่าวันนี้ หากใครที่ประสบปัญหานี้อยู่ แล้วต้องการคำแนะนำดีๆ ติดตามได้ในบทความนี้เลยจ้า

ผู้กู้ร่วม

กู้ร่วม คือ เป็นหนี้ร่วม

ตามหลักการของธนาคารที่ปล่อยกู้แล้ว การเป็นผู้กู้ร่วม ก็คือ การเป็นหนี้ร่วมนั่นเอ ผู้กู้ร่วมมีหน้าที่ต้องช่วยผ่อนชำระหนี้เงินกู้นั้นด้วย แม้ว่าในทางปฏิบัติจริงๆแล้วหลายคนจะเป็นผู้กู้ร่วมเพียงแต่ในนามเท่านั้น หรือก็คือเพียงใส่ชื่อผู้กู้ร่วมเพื่อเพิ่มรายได้ให้ตรงตามเกณฑ์ เพื่อจะ ได้รับอนุมัติสินเชื่อ เท่านั้น

จากหลักการกู้ร่วม จะเท่ากับ เป็นหนี้ร่วม สมมติว่าวงเงินกู้ 2 ล้าน ร่วมกู้ 2 คน ก็เท่ากับว่าแต่ละคนจะมีภาระหนี้คนละ 1 ล้านบาท

ดังนั้น หากในกรณีที่ ผู้กู้ร่วมต้องการที่จะเป็นผู้กู้หลักเอง ภาระหนี้ร่วมของคุณก็จะติดตัวไปด้วย ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการลดความสามารถในการขอกู้ใหม่ และเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณ ยื่นกู้ไม่ผ่าน

แต่หากคุณต้องการที่จะกู้จริงๆ ก็สามารถที่จะ ถอนชื่อจากการเป็นผู้กู้ร่วม ได้ แต่จะทำได้สำเร็จหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่การพิจารณาของสถาบันการเงินที่คุณยื่นกู้

ผู้กู้ร่วม

เรื่องต้องรู้ ถ้าคุณอยากถอนชื่อผู้กู้ร่วม

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากคุณซึ่งเป็นผู้กู้ร่วม และต้องการจะถอนชื่อออก ต้องการจะถอนชื่อออก เนื่องจากธนาคารต้องมีการประเมินว่า หากคุณถอนชื่อผู้กู้ร่วมไปแล้ว เหลือผู้กู้เพียงผู้เดียว รายได้หรือความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้หลักจะเพียงพอหรือไม่? ซึ่งโดยปกติแล้วยอดผ่อนชำระจะต้องไม่เกิน 40-50% ของรายได้ในแต่ละเดือน

ในกรณีที่ผ่อนกันมาหลายปีจนเหลือวงเงินกู้เพียงเล็กน้อย การขอถอนชื่อผู้กู้ร่วมมักจะไม่มีปัญหา หรืออีกกรณีเมื่อเวลาผ่านไป รายได้ของผู้กู้หลักรายเดียว ก็เพียงพอสำหรับเกณฑ์มาตรฐานของธนาคาร ผู้กู้ร่วมก็สามารถถอนชื่อได้อย่างไม่มีปัญหาเช่นกัน

แต่ส่วนใหญ่ปัญหาที่ทำให้ผู้กู้ร่วมไม่สามารถถอนชื่อได้ มักจะมาจากการที่ผู้กู้เพิ่งเริ่มผ่อนกู้ได้ไม่กี่ปี วงเงินกู้ยังเหลือเยอะ ผู้กู้หลักคนเดียวมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ของธนาคาร ทำให้ธนาคารเล็งเห็นว่าต้องมีผู้กู้ร่วมจึงจะเหมาะสมกว่า

ทั้งนี้หากคุณยังยืนยัน ที่จะ ถอนชื่อออกจากผู้กู้ร่วม  ก็สามารถทำได้ แต่ต้องหาผู้กู้ร่วมคนใหม่ มาแทนผู้กู้ร่วมที่ถอนออกไปนั่นเอง จะเห็นว่าการถอนชื่อผู้กู้ร่วมไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะตัดสินใจเซ็นชื่อกู้ร่วมกับใครควรคิด วิเคราะห์ความน่าจะเป็นภายในอนาคตของคุณด้วยนะคะ

ผู้กู้ร่วม

ขั้นตอนการถอนชื่อผู้กู้ร่วม

ในการกู้ร่วมนั้น ธนาคารมักจะกำหนดให้ผู้กู้ร่วม มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิ์ใน หลักประกัน นั้นๆด้วย ดังนั้นเมื่อจะมีการถอนชื่อผู้กู้ร่วมสิ่งที่ต้องทำ คือ

- ทำเรื่องเปลี่ยนแปลงสัญญากับธนาคาร

- ทำเรื่องเปลี่ยนสัญญากรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน

- มีค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ 2% ของราคาประเมิน

- มีการคิด ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ด้วย (หลักการ = ผู้กู้ร่วมขายกรรมสิทธิ์)

ผู้กู้ร่วม

ขอรีไฟแนนซ์ ดีไหม?

อีกหนึ่งวิธีเมื่อต้องการถอนชื่อผู้กู้ร่วม นั่นคือ รีไฟแนนซ์ โดยเป็นการยื่นรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินแห่งอื่น เปรียบเสมือนกับการเปลี่ยนเจ้าหนี้นั่นเอง มีขั้นตอนดังนี้

1. ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารเดิม

2. ทำเรื่องซื้อขายระหว่างกัน ซึ่งมีค่าธรรมเนียม 5% ของราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

3. ทำการจดจำนองกับธนาคารใหม่ มีค่าธรรมเนียม 1% ของเงินที่ขอกู้ธนาคาร

ซึ่งหลังจากคุณขอรีไฟแนนซ์แล้ว อาจจะ มีหนี้เพียงคนเดียว หรือมี ผู้กู้ร่วม คนอื่นมาแทนคนเดิม ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถาบันการเงินด้วยว่าคุณพร้อมที่จะเป็นผู้กู้เพียงคนเดียวหรือเปล่า

เห็นไหมคะว่าการมี ผู้กู้ร่วม เป็นสิ่งสำคัญหากคุณต้องการขอสินเชื่อ ที่มีมูลค่าสูง ผู้กู้ร่วมจะช่วยให้คุณสามารถขอสินเชื่อผ่านได้ง่ายขึ้น แต่คุณต้องเลือก ผู้กู้ร่วม ที่เชื่อใจได้ และสามารถเป็นผู้กู้ร่วมไปกับคุณได้จนกว่าจะส่งชำระเงินกู้หมด ไม่เช่นนั้น คุณจะต้องมาทำเรื่องเปลี่ยนผู้กู้ร่วมให้เสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุ

ขอบคุณข้อมูลจาก rabbitfinance.com