กรุงเทพฯ7 สิงหาคม 2561  ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังภูเก็ตที่มากถึง 8.4 ล้านคนเฉพาะในปี 2560 จึงนับได้ว่าภูเก็ตเป็นเกาะที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวสูงที่สุดในไทย  และจำนวนนักท่องเที่ยวก็ทำลายสถิติสูงสุดเป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน  เมื่อย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกาะแห่งนี้ได้เกิดการพัฒนาที่สำคัญหลายประการก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างทุกวันนี้

          ในอดีต ภูเก็ตเป็นเกาะที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็ค โดยมีรีสอร์ทขนาดเล็กเพียงไม่กี่แห่ง    จากนั้นปริมาณนักท่องเที่ยวค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากสะพานสารสินแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2510   ถัดมาในช่วงทศวรรษปี 2520 เกาะภูเก็ตเป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยมีการพัฒนาโครงการที่สำคัญ เช่น อมันปุรี โรงแรมและวิลล่าหรูแห่งแรก ซึ่งเปิดให้บริการในปี 2530

          ท่าอากาศยานภูเก็ตเริ่มเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศในปีพ.ศ. 2527 ทำให้เกาะแห่งนี้ยิ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยว    ในปีพ.ศ. 2531 การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ได้เข้าบริหารท่าอากาศยานภูเก็ตและได้พัฒนาจนทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 966,294 คน   การเป็นท่าอากาศยานนานาชาติทำให้ท่าอากาศยานภูเก็ตสามารถรองรับการขยายตัวและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้

          การพัฒนาโครงการบนเกาะเริ่มต้นที่โครงการลากูน่า ภูเก็ตในปีพ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นรีสอร์ทแบบครบวงจรแห่งแรกในเอเชียบนเนื้อที่หลายพันไร่ที่เคยเป็นเหมืองแร่ดีบุก ขณะเดียวกันซีบีอาร์อีได้เข้าไปทำตลาดภูเก็ตเป็นครั้งแรกในฐานะตัวแทนขายให้กับโครงการอัลลามันดา ภายในลากูน่า ภูเก็ต  ซึ่งเป็นโครงการรีสอร์ทคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่แห่งแรกในภูเก็ตที่แล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2536

          หลังจาก 10 ปีแห่งความเจริญรุ่งเรือง ภูเก็ตประสบกับมรสุมจากวิกฤตการณ์ทางการเงินเอเชียในปีพ. ศ. 2540 รวมถึงภัยพิบัติสึนามิในปีพ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ซีบีอาร์อีเปิดสาขาในภูเก็ต  เกาะแห่งนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและทำเลสำหรับซื้อบ้านหลังที่สอง อ้างอิงจากการจัด 5 อันดับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมโดยนิตยสารฟอร์บส์เมื่อปีพ.ศ. 2548 และถึงแม้ว่าภูเก็ตจะได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกปีพ.ศ. 2551  แต่จำนวนนักท่องเที่ยวกลับเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จาก 1 ล้านคนในปีพ.ศ. 2550 เป็น 2 ล้านคนในปีพ.ศ. 2553

          ปริมาณนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาได้นำไปสู่แผนการขยายสนามบินภูเก็ตในปีพ.ศ. 2557  ซึ่งเฟสแรกได้แล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2559  จำนวนผู้โดยสารขาเข้าจากเที่ยวบินระหว่างประเทศในปีพ. ศ. 2560 มีจำนวนถึง 8.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 800% จากปีพ.ศ. 2550    การท่องเที่ยวในภูเก็ตได้เปลี่ยนตลาดนักท่องเที่ยวเอเชียและยุโรปที่มีฐานะมาเป็นตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีถึง 37%ในปีพ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นสิ่งที่ในปีพ.ศ. 2531เราต่างก็คิดไม่ถึง

          ปัจจุบัน ภูเก็ตมีห้องพักในโรงแรมทั้งหมดถึง 23,000 ห้อง ไม่รวมเกสต์เฮาส์ คอนโดมิเนียมตากอากาศ 8,000 ยูนิต และวิลล่าตากอากาศ 4,000 หลัง   ตลาดที่พักตากอากาศได้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้ผู้ซื้อที่พักตากอากาศไม่เพียงแต่ต้องการสถานที่สำหรับพักผ่อนในวันหยุดเท่านั้น แต่ยังต้องการสร้างรายได้จากบ้านพักตากอากาศด้วย  ซึ่งหมายความว่าผู้พัฒนาโครงการจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสินค้าของตนเองให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ รวมทั้งปฏิบัติตามข้อกำหนดในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมเพื่อให้สามารถปล่อยเช่ารายวันได้

          โครงการที่พักตากอากาศที่บริหารอาคารโดยเครือโรงแรม หรือ Branded Residence อย่าง บันยันทรี และเชอราตัน รวมถึงวิลล่าหรูระดับท็อปที่มีราคาขายสูงกว่า 500 ล้านบาทต่อหลังอย่างลายัน เรสซิเดนเซส บาย อนันตรา   อวาดินา ฮิลส์ บาย อนันตรา และดิ เอสเตท แอท มอนท์เอซัวร์ ล้วนมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าในตลาดระดับบน

นางสาวประกายเพชร มีชูสาร ผู้อำนวยการ แผนกซื้อขายบ้านพักตากอากาศ ซีบีอาร์อี ภูเก็ต เห็นถึงวิวัฒนาการของตลาดนับตั้งแต่เริ่มเข้ามาร่วมงานกับซีบีอาร์อีในปีพ.ศ. 2547   “แต่เดิมผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่ทำงานในเอเชียที่ต้องการบ้านพักหลังที่สอง  จากนั้น ตลาดก็ขยายไปสู่ผู้ซื้อชาวรัสเซีย และปัจจุบันก็เป็นชาวจีนและชาวเอเชียอื่นๆ รวมถึงชาวไทย ผู้ซื้อชาวไทยยังต้องการได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่เติบโตด้วยการซื้อที่พักอาศัยจากโครงการที่มีการสร้างรายได้จากค่าเช่า”

          ความสำเร็จของตลาดอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตได้ขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง และตอนนี้เราสามารถพูดถึง "ตลาดภูเก็ตและตลาดใกล้เคียง" (Greater Phuket Market) หรือ "ตลาดชายฝั่งอันดามัน" สำหรับธุรกิจโรงแรม ซึ่งรวมถึงโอกาสที่จะมีการพัฒนาที่พักตากอากาศตั้งแต่บริเวณเขาหลักไปจนถึงกระบี่

          ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ภูเก็ตมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด จากเกาะที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาและมีธุรกิจหลักคือการทำเหมืองแร่ดีบุกและสวนยาง มาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นๆ   ในอนาคตยังมีโอกาสการเติบโตจากนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น โดยเป็นคนที่อาศัยอยู่ในระยะการเดินทางด้วยเครื่องบินไม่เกิน 4 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มจะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงวันหยุด   กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นในยุโรปช่วงทศวรรษ 2510 และตอนนี้ได้เกิดขึ้นในเอเชีย ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ทำให้เกือบ “ทุกคนสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้”   ผู้พัฒนาโรงแรมและที่พักตากอากาศต่างได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้  แต่ก็ยังมีความท้าทายในยุคแห่งการท่องเที่ยวแบบกลุ่มขนาดใหญ่ ตั้งแต่เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีมากเกินไป ไปจนถึงความพยายามในการสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโต กับการรักษาความน่าสนใจของภูเก็ตในฐานะแหล่งท่องเที่ยว

ขอบคุณข้อมูลจาก www.cbre.co.th