ช่วงนี้ กระแสการใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกกลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้ง สืบเนื่องมาจากการที่โลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนมากขึ้น รวมไปถึงข่าวการสูญเสียวาฬครีบสั้น (Short-finned pilot Whale) และพบว่าสาเหตุหนึ่งก็คือขยะพลาสติกนี่เอง

ด้วยเหตุนี้เอง หลายๆ คนจึงหันมาใช้ถุงผ้ากันมากขึ้น แต่เดี๋ยวก่อน คุณแน่ใจแล้วหรือว่า “ถุงผ้า” คือพระเอกของงานนี้จริงๆ หันมาฟังทางนี้กันก่อน แล้วตัดสินใจกันอีกที

ถุงผ้า
CR : matichon

การสูญเสีย วาฬครีบสั้น จากขยะพลาสติก

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เชื่อว่าน้อยคนที่จะไม่ทราบข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของวาฬครีบสั้น ณ จังหวัดสงขลา แม้ว่าชาวบ้านและทีมแพทย์จะพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตเจ้าวาฬที่น่าสงสารตัวนี้เอาไว้ได้ ทีมแพทย์ได้ออกมาเปิดเผยว่า ระหว่างที่กำลังสอดท่อช่วยหายใจเพื่อทำการช่วยเหลือ ก็พบว่าบริเวณหลอดอาหารของวาฬมีขยะอยู่

ภายหลังจากที่วาฬเสียชีวิตและผ่าชันสูตรซากวาฬ ก็ได้พบอีกว่าภายในกระเพาะอาหารของวาฬมีขยะพลาสติกจำนวนมาก เมื่อนำมารวมกันแล้วมีน้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม ถือว่าเป็นปริมาณที่มากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยเจอมา

ข่าวการสูญเสียครั้งนี้แสดงให้คนไทยเห็นถึงปัญหาของปริมาณขยะในท้องทะเลที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ทั้งย่อยสลายได้ยากและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

ถึงเวลาที่เราควรตระหนักถึงปริมาณขยะในท้องทะเลที่เริ่มส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้น แบบจริง ๆ จัง ๆ เสียที

ถุงผ้า
CR : TheThaiger

ขยะพลาสติก ในท้องทะเลไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศที่มีขยะในทะเลเยอะที่สุดของโลก ย้ำว่าของโลก!  (อันดับ 5 ในปี 2017) ด้วยปริมาณขยะกว่า 30,000-50,000 ตัน/ปี เป็นการติดอันดับที่ไม่น่าภาคภูมิใจเอาเสียเลย

ถึงแม้ว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการกับปริมาณขยะในท้องทะเล ผนวกกับการใช้เครื่องมืออย่างทุ่นกักเก็บขยะเข้ามาช่วยแล้ว ก็ยังไม่สามารถสกัดกั้นขยะทั้งหมดไม่ให้หลุดรอดออกไปได้

ไม่เพียงแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาขยะในท้องทะเลได้ แต่ประชาชนอย่างเราๆ ก็ต้องช่วยกัน ด้วยการไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำ ซึ่งปลายทางก็จะไหลไปรวมกันที่ทะเล

ถุงผ้า
CR : Theatlantic

กระแส ถุงผ้า ฟีเวอร์

เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น สังคมจึงเริ่มตื่นตัวกับปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก และกระแสการใช้ถุงผ้าก็กลับมาบูมอีกครั้ง จะเห็นได้ว่าห้างสรรพสินค้าชื่อดังหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็เริ่มรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติกกันมากขึ้น รวมถึงความต้องการถุงผ้าในจำนวนที่มากขึ้น

ซึ่งความต้องการถุงผ้าของกลุ่มผู้บริโภคที่มีมากขึ้นนี้เอง ส่งผลให้มีการผลิตถุงผ้าหลากหลายรูปแบบออกมาจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย รวมทั้งห้างสรรพสินค้าหลายรายก็ทำการผลิตถุงกระดาษออกมาใช้แทนถุงพลาสติกอีกด้วย

ข้อดีของถุงผ้ากับถุงกระดาษที่ดีกว่าถุงพลาสติกคือ จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะถูกปล่อยทิ้งลงสู่ธรรมชาติได้ ดูดีใช่ไหมล่ะ? แต่เบื้องหลังของการผลิตถุงผ้านั้น… ขอบอกเลยว่าก็ไม่ได้ตอบโจทย์คำว่า “ลดโลกร้อน” เท่าไรนักหรอก

ถุงผ้า

ถุงผ้า ไม่ใช่พระเอกของงานนี้ จริงหรือ?

จะบอกว่าการใช้ถุงผ้ามันก็ดีกว่าการใช้ถุงพลาสติก มันก็ไม่ใช่คำตอบที่ถูกเสียทีเดียว เพราะกระบวนการผลิต กว่าจะมาเป็นถุงผ้าแต่ละใบนั้น ก็เรียกได้ว่ามีกระบวนการที่สร้างมลพิษให้แก่โลกของเราไม่น้อยเลย

ถุงผ้าที่ผลิตจากผ้าฝ้าย หรือผ้าจากพืชชนิดอื่นๆ จะมีกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ทรัพยากรดิน น้ำ ปุ๋ย และสารเคมีมากมาย รวมไปถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว แปรรูป จนกระทั่งผลิตออกมาเป็นถุงผ้า ขั้นตอนเหล่านี้ปล่อยก๊าซคาร์บอน (Carbon footprint) ปริมาณมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ

จากงานวิจัยของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหาร ประเทศเดนมาร์ก เมื่อต้นปี 2018 กล่าวว่า กว่าคนเราจะใช้งานถุงผ้าให้คุ้มในแง่ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับการใช้ถุงพลาสติก เราต้องใช้ถุงผ้าในการใส่ของกว่า 7,000 ครั้ง ส่วนถุงผ้าแบบ Organic ต้องใช้กว่า 20,000 ครั้ง ถึงจะคุ้ม คนเราจะซื้อของอะไรมากมายขนาดนั้นล่ะเนี่ย

ส่วนถุงกระดาษนั้นก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากพอสมควร ถ้าจะใช้ซ้ำให้คุ้มก็ต้องใช้ประมาณ 40-50 ครั้ง ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะถุงกระดาษไม่ได้มีความคงทนมากขนาดนั้น

ถุงผ้า

ถุงผ้า ไม่ใช่พระเอก แล้วใครกันล่ะคือพระเอก?

เราคงไม่สามารถตัดสินได้ว่า อะไรหรือสิ่งใดที่จะช่วยลดโลกร้อนได้ดีที่สุด แต่เราสามารถช่วยลดโลกร้อนได้ด้วยการช่วยกันคนละไม่คนละมือ ตามความสะดวกของตนเอง เพราะ “พระเอก” ในการลดโลกร้อนของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น…

ลดการใช้ถุงพลาสติก

ข้อนี้เชื่อว่าทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่ใช้เวลากว่า 500 ปี กว่าจะย่อยสลาย มันจึงล่องลอยเกลื่อนเมืองได้ง่ายๆ ถ้าเราไม่ช่วยกันควบคุมการใช้ถุงพลาสติกให้ดี

วิธีที่เราสามารถทำได้ง่ายๆ เลยก็คือ เมื่อไปซื้อของตามร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ ให้พนักงานใส่สินค้ารวมมาในถุงเดียวกันเลย ไม่ต้องแยกประเภท ยกเว้นสินค้าที่อาจเป็นพิษ เช่น กระป๋องยากันยุง ไม่ควรใส่รวมกับอาหารสด

ไม่ต้องซื้อถุงผ้าเพิ่ม

การพกถุงผ้าไปใช้ใส่ของแทนการรับถุงพลาสติกเพิ่ม ก็ยังเป็นวิธีที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน อย่างน้อยที่สุดก็คือเราไม่ได้สร้างขยะพลาสติกเพิ่ม แต่แนะนำให้นำเอาถุงผ้าเดิมที่มีอยู่ออกมาใช้งาน

เชื่อว่าทุกคนมีถุงผ้าอยู่ที่บ้านกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องหาซื้อถุงผ้าใหม่ๆ เพิ่มตามกระแสก็ได้ เพราะแบบนั้นก็ถือว่าสิ้นเปลืองเช่นกัน

ถุงผ้า

ใช้ซ้ำ

การ Reuse หรือการใช้ซ้ำ ในที่นี้หมายถึงการใช้ซ้ำถุงพลาสติกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นวิธีที่ดีในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะถุงพลาสติก 1 ใบ สามารถใช้ได้มากกว่า 10 ครั้ง หากเป็นถุงบางๆ ก็สามารถใช้ได้มากกว่า 5 ครั้ง และในขั้นสุดท้ายยังสามารถใช้เป็นถุงขยะได้อีกด้วย

แยกขยะก่อนทิ้ง

การแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง จะช่วยให้กระบวนการจัดการขยะนั้นง่ายขึ้น ขยะจะไม่เสียหายจากการเททุกอย่างรวมกันแล้วเจอของเน่าเสีย และจะง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล

การแยกขยะที่ทำได้ง่ายๆ คือ แยกพวกขวดพลาสติก กล่องนม กระป๋องอลูมิเนียม ขยะเศษอาหาร และแยกขยะเป็นพิษออกจากขยะประเภทอื่นๆ

การเลือกซื้อสินค้า

นอกจากประเด็นของถุงใส่ของแล้ว สินค้าที่เราซื้อนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กันเลย ก่อนจะซื้อก็ลองพิจารณาดูสักนิดว่าสินค้าชิ้นนั้นมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับโลกไหม  ใช้ Carbon footprint หรือเปล่า บรรจุภัณฑ์สามารถใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิลได้หรือไม่

การใช้ถุงผ้าไม่ผิด การใช้ถุงพลาสติก ก็ไม่ผิด แต่เราต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการ “ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่” เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด อย่าลืมว่าทรัพยากรในโลกของเรามีอย่างจำกัด หากเราไม่ร่วมมือร่วมใจกันรักษามันก็จะถูกทำลายจนหมดไปในที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก rabbitfinance.com