จับเทรนด์ CRM อสังหาฯ สไตล์ จิรดิศ สุขเสงี่ยม มือขวาแห่ง BUILKONE ผู้อยู่เบื้องหลัง PLOY by BUILK
จับเทรนด์ CRM อสังหาฯ สไตล์ จิรดิศ สุขเสงี่ยม มือขวาแห่ง BUILKONE ผู้อยู่เบื้องหลัง PLOY by BUILK
ในวงการอสังหายุคใหม่ ชื่อของ “โบ๊ท” ไผท ผดุงถิ่น เป็นที่รู้จักดีในบทบาทผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์วงการธุรกิจก่อสร้างออนไลน์รายแรกของเอเชีย จากการก่อตั้ง BUILK ซอฟต์แวร์ควบคุมต้นทุนฟรีสำหรับผู้รับเหมาธุรกิจก่อสร้าง SME
ยิ่งโลกเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน Digital Transformation กลายเป็นหัวใจของการต่อยอดธุรกิจ การเก็บ Big Data จึงเป็นสินทรัพย์ล้ำค่าปูทางสู่ความสำเร็จ ยิ่งในวงการอสังหาฯ ที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดด้วยแล้ว การติดอาวุธทางธุรกิจย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี หนึ่งในเครื่องมือสำคัญเวลานี้ คือ กลยุทธ์แบบ CRM (Customer Relationship Management) ที่ทั้งค่ายเล็กหรือใหญ่ต่างให้ความสำคัญ ซึ่ง BUILK เองตระหนักดีถึงอานุภาพของการใช้ CRM สังเกตได้จากหลายๆ โปรแกรมที่พัฒนาโดย BUILK ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์นี้ เพื่อมาตัวช่วยให้โครงการอสังหาฯ รายย่อยพร้อมแข่งขันกับรายใหญ่ได้
ไม่แปลกใจวันนี้ BUILK มาไกลกว่าก้าวแรกมาก มาพร้อมกับเป้าหมายที่ต้องการยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย จนปัจจุบันได้รับการยอมรับในฐานะองค์กรที่พัฒนาโปรแกรมและซอฟท์แวร์ครอบคลุมทุกภาคส่วนของวงการรับเหมาก่อสร้างตั้งแต่ ผู้รับเหมา ผู้ผลิต-จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง จนไปถึงผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์
พิสูจน์ได้จากผลงานโปรแกรม POJJAMAN ระบบ ERP เพื่อธุรกิจก่อสร้างโดยเฉพาะ, JUBILI โปรแกรมบริหารงานขายสำหรับร้านค้าวัสดุก่อสร้าง, KWANJAI ระบบประสานงานแจ้งซ่อมหลังการขายโครงการหมู่บ้าน-คอนโด จนมาถึง Ploy by BUILK (พลอย บาย บิลค์) อีกหนึ่งโปรแกรม CRM ช่วยบริหารงานขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ล่าสุดได้ “ดิศ” จิรดิศ สุขเสงี่ยม อดีตวิศวกรหนุ่มไฟแรงมาทำหน้าที่มือขวา รั้งตำแหน่ง Product Owner “Ploy App” แห่งบริษัท บิลค์วัน กรุ๊ป จำกัด (BUILKONE)
อดีตวิศวกรสู่นักแก้ปัญหา
คำถามคือ เขาคนนี้คือใคร? ได้รับความไว้วางใจจากซีอีโอสายบู๊อย่างโบ๊ท เอาเป็นว่าถ้าเปรียบโบ๊ทเป็น Steve Jobs ดิศก็คล้ายๆ กับ Tim Cook นั่นล่ะ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักมือขวาคนนี้ให้มากขึ้น
จิรดิศ สุขเสงี่ยม หรือที่น้องๆ ในออฟฟิศเรียกสนิทสนมว่า “พี่ดิศ” เดิมทีดิศก็มีชีวิตวนลูปเหมือนวิศวกรทั่วๆ ไป เรียนจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เดินหน้างสร้างตึก คุมงานโครงการ งานก่อสร้างอาคารสูงมานานกว่า 10 ปี จนชีวิตตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำแบบนี้ตลอดไปหรือ? ความรู้สึกอิ่มตัวและอยากลองความท้าทายใหม่ๆ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เขาจึงตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาโทคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ด้านบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยหวังว่าจะได้จุดประกายแรงบันดาลใจใหม่ๆ
ที่สุดเขาก็ได้เจอจริงๆ เพราะตอนนั้นทางคณะเชิญ “โบ๊ท” ไผท มาเป็นวิทยากรพิเศษ ชีวิตเหมือนเจอคนคอเดียวกัน Attitude ตรงกัน หนังม้วนนั้นจึงจบที่ได้ทำงานกับ BUILKONE แบบไม่ต้องยื่นสมัคร (ซะงั้น) โดยช่วงแรกดิศเข้ามาดูแลโปรแกรม KWANJAI ก่อนมาพัฒนา Ploy เต็มตัวดูแลทุกอย่างของโปรแกรม Ploy ตั้งแต่โปรดักชั่นไปจนถึงมาร์เก็ตติ้งจากเคยทำงานองค์กรใหญ่ เมื่อข้ามห้วยมาในสาย Start up ดิศยอมรับว่าไม่แค่ปรับรูปแบบทำงานจากการคุมคนงานก่อสร้างเท่านั้น แต่ต้องปรับตัวให้กระฉับกระเฉงขึ้นกับวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างด้วย น่าแปลกเขากลับไม่รู้สึกกดดันแต่สนุกกับการทำงาน โดยเฉพาะได้เรียนรู้จากโบ๊ทที่เขานับถือเสมือนพี่ชาย
“ผมเคยอยู่ในวงการก่อสร้างที่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างต่ำ วันที่เข้ามาทำงานที่นี่ แรกๆ คิดเหมือนกันว่าตัวเองจะไปรอดไหม? เหมือนเราอยู่ในคอมฟอร์ทโซนมาสักพัก พอเข้ามาก็ปรับตัวเยอะ แต่พี่ๆ เขาสอนงานเหมือนพี่สอนน้อง พี่โบ๊ทสอนผมเยอะ ผมว่าพี่โบ๊ทเป็นคนคม คุยทุกประเด็นนะ แต่อะไรที่เป็นละเอียดปลีกย่อย ไม่จำเป็น แกตัดออก เรียกว่าทำงานกับแกคือเน้นเนื้อๆ ไม่ต้องน้ำ (หัวเราะ)” ดิศเกริ่นถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากพี่ชายโบ๊ท
เทรนด์ CRM บุกวงการอสังหา
หลังโลดแล่นอยู่บนถนน Start up ประกอบกับได้กุนซือดี ทำให้ดิศมองเห็นภาพรวมวงการ Start up บนเส้นทางอสังหาฯ ที่เทรนด์ CRM เข้ามามีบทบาทมากขึ้นจนยากปฏิเสธ
“จริงๆ นานกว่า 5 ปีที่วงการอสังหาฯ ตื่นตัวเรื่อง CRM เพียงแต่ยังไม่ค่อยรู้ว่ามีโปรแกรมเข้ามาตอบโจทย์เรื่องนี้ ซึ่งในยุคที่ Start up เฟื่องฟูบ้านเรา มีผู้ประกอบการหลายเจ้าพยายามจะพัฒนาจุดนี้ แต่ผมคิดว่าไม่ว่าใครจะพัฒนาอะไรขึ้นมา ก็ต้องกลับไปมองว่าความต้องการของผู้ใช้งานคืออะไร”
“ช่วงก่อนอาจมีผู้พัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ที่สนใจ CRM แต่ตอนนี้จะรายย่อยหรือขนาดกลางต่างสนใจการทำ CRM มากขึ้น เพราะรู้สึกว่าเป็นยุคต้องเก็บข้อมูลด้วยโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ ผมมองว่าสำหรับรายกลางหรือรายย่อย ถ้าใครยังใช้รูปแบบเดิมๆ วันหนึ่งเขาจะตามเพื่อนๆ ไม่ทัน ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จึงพยายามหาเครื่องมือเข้ามาช่วยมากขึ้นเมื่อเทียบจาก 4-5 ปีที่แล้ว”
Ploy ผู้ช่วยบริหารงานขาย เพิ่มศักยภาพการแข่งขันรายย่อย
ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองเห็นกว้างขึ้น บวกกับวิถีในสไตล์ของ BUILKONE ที่ไม่ยึดโยงอยู่กับกรอบเดิมๆ การพัฒนาโปรแกรม Ploy by BUILK จึงได้เกิดขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาการบริหารงานขายและช่วยดูแลข้อมูลของลูกค้า (Pre-Sales Process) โดยหวังเป็นผู้ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับดีเวลลอปเปอร์รายย่อยเทียบชั้นกับรายใหญ่ได้
“เมื่อเราคลุกคลีกับดีเวลลอปเปอร์มากขึ้น เราพบว่าดีเวลลอปเปอร์รายกลางถึงเล็ก ส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องมือช่วยเก็บข้อมูล หรือช่วยขาย บางทีเซลล์ลาออกไม่อัพเดตข้อมูลลูกค้า เราจึงพยายามสร้างเครื่องมือขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้พัฒนาอสังหาใช้จัดการข้อมูลด้วย จัดการฝ่ายขายด้วย คือสุดท้ายเราต้องดูด้วยว่าฟีเจอร์ที่พัฒนาออกไปแล้ว ได้ช่วยเขาไหม ถ้าไม่ได้ช่วย ก็ไม่มีประโยชน์และจะกลายเป็นแค่แอปฯ ที่อยู่ในระบบแต่ไม่มีการใช้งาน”
ดังนั้นจุดเด่นของ Ploy จึงเป็น REAL ESTATE SOLUTION ที่ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ช่วยลดต้นทุน ประหยัดเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพถึง 6 มิติไปพร้อมๆ กัน ได้แก่
1.Executive Overview : ให้ผู้บริหารเห็นภาพรวม
2.Transfer Management : ช่วยเร่งยอดโอนบ้านได้เร็วขึ้น
3.Construction Management : อัพเดตสเตตัสระหว่างการก่อสร้างให้กับทุกฝ่ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
4.Sales Management : รวมข้อมูลอยู่ในที่เดียวกัน เก็บ Customer Journey ได้เป็นระบบ
5.Marketing Management : ช่วยฝ่ายการตลาดวิเคราะห์ได้ทันที
6.Financial Management : ช่วยให้เห็นภาพรวมคุณสมบัติผู้กู้ ช่วยให้ผู้พัฒนาโครงการวางแผนการเงินได้ดีขึ้น
“สิ่งที่เราพยายามให้เป็นจุดเด่นของ Ploy คือขึ้นระบบได้เร็วภายใน 3 วัน เพราะเราเข้าใจว่าบริษัทกลุ่มเล็กถึงกลางไม่สามารถรอได้นานในการขึ้นระบบ จำนวนพนักงานของเขาไม่ได้เยอะ เราจึงดีไซน์โปรแกรมให้ใช้ง่าย แค่ใส่ข้อมูลเข้าไปมี Data Base และ Master Base ก็ใช้งานได้แล้ว”
ยากยิ่งกว่าคือปรับพฤติกรรมผู้ใช้
หลายคนอาจมองว่าการพัฒนาโปรแกรม ขั้นตอนที่ยากคือการสร้างฟีเจอร์ หรือปัญหาเชิงเทคนิค แต่เปล่าเลย ดิศกลับบอกว่าสิ่งที่ยากคือ ทำอย่างไรให้คนใช้โปรแกรมต่างหาก Ploy จึงมีทีมเวิร์คช้อป เทรนนิ่งบริษัทที่ใช้บริการ Ploy อยู่เสมอ ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ใกล้ไกลแค่ไหน โดยเฉพาะการมีทีม User Care คอยตรวจเช็คว่าลูกค้ามีปัญหาการใช้งานตรงไหน เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และบ่อยครั้งปัญหาการใช้งานของลูกค้าเองกลายเป็นสิ่งจุดประกายในการพัฒนาระบบ เกิดฟีเจอร์ใหม่ๆ ย้อนมาช่วยเหลือลูกค้าเอง
“ผู้บริหารแฮปปี้กับการใช้โปรแกรมเหล่านี้ แต่ตัวฝ่ายขายกลับรู้สึกว่าไปสร้างความยุ่งยากในการทำงาน สิ่งที่เราทำคือสร้างความเข้าใจว่าการมีโปรแกรมพวกนี้จะช่วยอะไรพวกเขาบ้าง ผมว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนพฤติกรรม ที่สำคัญผู้บริหารของแต่ละบริษัทต้องช่วยผลักดันให้พนักงานบริษัทตัวเองใช้จริงๆ”
“ช่วงแรกเรามอง Ploy เป็นเครื่องมือช่วยบริหารการขาย ช่วยผู้บริหารมอนิเตอร์ฝั่งการขายอย่างเดียว แต่พอใช้ไปสักพักกลุ่มลูกค้ามีคอมเม้นต์ว่าอยากรู้ข้อมูลงานก่อสร้างด้วย อยากรู้ว่าฝั่งโอนไปถึงไหนแล้ว เราเลยทำให้ตอบโจทย์ทุกด้านทั้งขาย-สร้าง-โอน ทำให้เรามีออฟชั่นรายงานความคืบหน้างานก่อสร้าง รายงานการยื่นสินเชื่อของลูกบ้านแบบง่ายๆ เพื่อให้ ณ วันที่โอนหรือขายไม่ติดปัญหา ซึ่งฟีเจอร์นี้เรากำลังพัฒนาให้สมบรูณ์มากขึ้น” ดิศเล่าถึงฟีดแบ็คของผู้ใช้งานที่กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Ploy
สูตรสำเร็จงานแอปฯ ต้องแก้ปัญหาได้จริง
กว่า 3 ปีที่ Ploy ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยในการบริหารงานขายให้กับดีเวลลอปเปอร์ที่ลองใช้แล้วในโครงการแรกกลับมาใช้ซ้ำอีกในโครงการต่อๆ ไป พิสูจน์ถึงความสำเร็จเล็กๆ ที่สร้างกำลังใจให้ทีมงาน
“ผมว่านี่คือความตั้งใจของผมและของ BUILKONE ด้วยที่อยากพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เป็นเพื่อนหรือเป็นตัวช่วยของผู้พัฒนาอสังหาฯ นึกถึงว่าถ้าวันนี้อยากได้เครื่องมือหรือเพื่อนช่วยคิด ช่วยเก็บข้อมูลให้นึกถึง Ploy การตั้งเป้าในเชิงยอดขายอาจจะมี แต่เรามองเป็นเรื่องรองมากกว่า”
“ผมว่าวันนี้ BUILKONE ใหญ่ขึ้น พนักงานร้อยกว่าคน เป็น Start up ที่เริ่มโต แต่ก็ยังไม่เหมือนบริษัทใหญ่ๆทั่วไป คือยังเคลื่อนตัวเร็ว และถ้าเราพัฒนาโปรแกรมไหนแล้วไม่ตอบโจทย์ก็หยุด แล้วไปหาโจทย์ใหม่เพื่อจะแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานได้จริงดีกว่า” ผู้บริหารหนุ่มสะท้อนถึงสไตล์การทำงานขององค์กรที่ไม่ยึดติดอยู่กับตัวเลขความสำเร็จ
ปิดท้ายก่อนจากลาดิศยังทำนายแนวโน้มของเทรนด์อสังหาฯ อีกด้วยว่า โปรแกรมเชิง CRM จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรในวงการอสังหา ขึ้นอยู่แต่เพียงว่าจะแตกย่อยไปในทิศทางไหน
“ดูอย่างตอนนี้การจองคอนโดออนไลน์ก็มีมากขึ้นแทนที่จะต้องไปเข้าคิวตั้งแต่เช้าเหมือนก่อน ผมว่าลักษณะแบบนี้ต่อไปจะเริ่มมากขึ้น ผู้ที่ต้องการบ้านไม่จำเป็นต้องไป Sales Gallery ก็ได้ วันนี้เรามี VR ถ่ายภาพลงเว็บไซต์ก็ มี AR ถ่ายภาพ 360 องศา ผมว่าดีเวลลอปเปอร์ที่มีหัวทันสมัยก็อยากปรับเรื่อง”
ล้อมกรอบ
“Ploy” ชื่อนี้มาจากไหน
สังเกตได้ว่าภายใต้บ้านของ BUILKONE ไม่ว่าโปรแกรมไหน ล้วนตั้งชื่อระบบได้แสนหวาน ราวกับชื่อของผู้หญิง เหตุที่เป็นเช่นนั้น ต้องยกให้กับความมีอารมณ์ขันขององค์กร ที่มองว่าคนที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจนี้ค่อนข้างแข็งแกร่ง เจอปัญหามากมาย ทั้งจัดการวัสดุ แรงงาน เครื่องจักร การขาย ฯลฯ เรียกว่าต้องโชว์ความบู๊ความแมนไม่ต่างจากบุคลิกของผู้ชายสายอึด ซึ่งบางครั้งต้องการคนรู้ใจมาดูแลกองหลัง ที่มีคุณสมบัติละเอียดอ่อน เป็นระเบียบ ฉลาด เป็นมิตร ซึ่งตรงกับคาแร็คเตอร์ของผู้หญิง ทำให้ทุกโปรแกรมของ BUILKONE ตั้งชื่อให้สื่อถึงผู้หญิง เช่นเดียวกับแอพฯ Ploy