โลกใบเดิมเปลี่ยนไปแล้ว ถึงเวลาที่เหล่าทายาทนักธุรกิจต้องลุกขึ้นปัดฝุ่น ปรับสูตรปั้นธุรกิจแบบเดิมๆที่เคยใช้ได้ผลสมัยรุ่นอากงอาม่าให้ทันกับโลกยุคดิจิทัล เพราะขืนยังมัวก้มหน้าตาบริหารธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่สนโซเชียล ไม่แคร์อินฟลูเอ็นเซอร์ คงไม่เพียงพอสำหรับต่อกรและยืนหยัดธุรกิจในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ได้

          ใครที่กำลังคิดไม่ตก เลือกไม่ถูกว่าจะเฟ้นหาเคล็ดวิชาการตลาดที่มีอยู่ดาษดื่นตอนนี้มาใช้อย่างไรดี อย่าเพิ่งใจร้อน ลองไปดู 5 เคล็ดวิชาพาให้รอดเพื่อเป็นไกด์ไลน์ในการปรับจูนความคิดในการนำพาธุรกิจกันก่อน   

          1.ท่องไว้ให้ขึ้นใจว่า การบริหารแบรนด์ทุกวันนี้ซับซ้อนกว่าที่เคย

          การพาแบรนด์ไปนั่งอยู่ในใจลูกค้าทุกวันนี้ ไม่ได้อาศัยแค่การสื่อสารผ่านโลโก้แบรนด์เก๋ๆ ออกแบบตัวอักษรเท่ๆ คิดสโลแกนโดนๆ ที่ฟังแล้วติดหู พูดแล้วติดปาก แต่การบริหารแบรนด์ทุกวันนี้ต้องการกลยุทธ์มากกว่านั้น เริ่มตั้งแต่การวางแผน การวิจัยและพัฒนา การเฟ้นหานวัตกรรม รวมไปถึงการสร้างทีมงานคุณภาพ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการบริหารแบรนด์แบบบูรณาการ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับธุรกิจที่จะอยู่ให้รอดในยุคดิจิทัล เพราะเป้าหมายของแบรนด์ยุคนี้ไม่ได้มองแค่ยอดขายแต่มองไปถึงความยั่งยืน ข้อดีของการสืบทอดธุรกิจ คือ ค้นหาให้เจอว่าตัวตนของแบรนด์คุณเป็นใคร และทำไมยังยืนหยัดอยู่จนถึงวันนี้  จากนั้นค่อยๆ สื่อสารตัวตนนี้ออกไป พร้อมนำประสบการณ์ที่สั่งสมด้วยกาลเวลามาสร้างความแตกต่างให้แบรนด์มีความยูนีค และ เติบโตต่อไป

          2.”เวลา”ไม่ใช่คำตอบของกลยุทธ์ที่เจ๋งเสมอไป

          หากมองย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครคาดคิดว่าหรือจินตนาการได้ว่าโลกวันนี้จะรุดหน้ามาถึงเพียงนี้ เพราะฉะนั้น แทนที่หลงเดินตามกลยุทธ์เดิมๆ เสียเวลาค้นหาภาพแห่งอนาคตเพื่อวาดฝันแผนธุรกิจ 5 ปี 10 ปี สู้สร้างแผนธุรกิจที่เรียบง่าย ง่ายต่อการเข้าใจ มีความเป็นสากล ที่สำคัญสามารถนำไปปรับใช้ในหลากหลายสถานการณ์ได้ดีกว่า

          3.ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์บริหารธุรกิจ ถึงโลกดิจิทัลจะทำให้ธุรกิจซับซ้อน แต่ก็ใช่จะไร้กรอบใดๆ หนึ่งในเฟรมเวิร์กที่ผู้บริหารยุคใหม่นิยมนำมาใช้ในการบริหารธุรกิจ เรียกว่า Business Model Canvas (BMC) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยออกแบบโมเดลธุรกิจผ่านปัจจัยทั้ง 9 ด้านที่ถูกมองว่าครอบคลุมส่วนสำคัญๆ ต่อธุรกิจทุกประเภท ข้อดีของ BMC คือ ช่วยให้สามารถทำความทำความเข้าใจภาพรวมธุรกิจได้อย่างง่ายดาย และยังสามารถแชร์กลยุทธ์ระหว่างแผนกเพื่อให้ทั้งองค์กรเห็นภาพรวมในการทำงาน เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายได้อย่างชัดเจน

          4.ตั้งคำถามด้วย Why (ทำไม) เข้าใจแบรนด์ เข้าใจธุรกิจแล้ว อีกหนึ่งส่วนผสมที่จะทำให้ธุรกิจรุ่งหรือร่วง คือ ผู้นำทัพ ไซมอน ซิเน็ค ผู้เขียนหนังสือ Start with Why: How Great Leaders Inspire Everyone to Take Action ได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับภาวะผู้นำไว้อย่างน่าสนใจว่า ทำไมแอปเปิลถึงสร้างสรรค์นวัตกรรมได้มากนักทั้งที่แอปเปิลก็เป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ธรรมดาๆ ทำไมมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ถึงนำการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวดำได้สำเร็จ? ทั้งที่เขาก็ไม่ใช่นักพูดที่มีโวหารเป็นยอดคนเดียวในยุคนั้น ก่อนจะเฉลยว่าสิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างไม่ใช่เพราะความสามารถที่เหนือกว่าคนอื่น แต่เพราะพวกเขารู้ถึงอานุภาพของการตอบคำถามว่า “ทำไม” ยกตัวอย่าง แอปเปิ้ลตอนที่ผลิตไอโฟนออกมา แทนที่จะสื่อสารกับลูกค้าทั่วโลกแบบที่ใครๆ ก็ทำกัน แอปเปิ้ลเลือกชี้ให้เห็นว่าทำไมต้องผลิตนวัตกรรมนี้ให้โลก แล้วนวัตกรรมที่ว่าคืออะไร เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ผู้นำที่ดีต้องปรับจูนทัศนคติเสียใหม่ เลิกตั้งคำถามเพื่อหาว่าต้องทำอะไร (What) มาสู่การหาคำตอบว่า ทำไมต้องทำเช่นนั้น (Why)

          5.สร้างแนวทางของตัวเอง ธุรกิจก็เหมือนการใช้ชีวิต ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวเหมือนแผนที่บอกทาง ว่าไปทางไหนแล้วจะเจอจุดหมาย ผู้บริหาร และเจ้าของธุรกิจทุกคนต้องลองผิดลองถูก ทดลองเครื่องมือต่างๆดูว่าตัวไหนตอบโจทย์ เรียนผูกลองแก้กันไป