โรคซึมเศร้า สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ หรือในเด็กเองก็เกิดขึ้นได้ เมื่อดูจากภายนอกแล้ว อาการที่เห็นใกล้เคียงกับอาการเศร้าหรือเสียใจทั่วไป แต่ผลกระทบนั้นรุนแรงกว่ามาก ซึ่งทั้งตัวผู้ป่วยเองหรือคนรอบข้างอาจไม่ทันสังเกตเห็นด้วยซ้ำ ปัญหาส่วนใหญ่คนที่ป่วยเป็นซึมเศร้ามักจะไม่รู้ตัวเองว่าตนกำลังป่วยเป็นซึมเศร้า หรืออาจรู้ตัวอีกทีตอนที่โรคกำลังพัฒนาไปสู่ขั้นรุนแรงจนเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไปแล้ว ทำให้โรคนี้กลายเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่พรากหลายต่อหลายชีวิตไปอย่างคาดไม่ถึง

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นไม่ได้ถูกจัดประเภทว่าเป็นคนบ้าหรือคนไม่ดีแต่อย่างใด หากแต่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการป่วยทางอารมณ์ที่ควรได้รับการรักษา เพราะหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาในเร็ววันอาจส่งผลเสียถึงชีวิตอย่างหนักได้ โดยอาจจะมีพฤติกรรมคิดสั้นฆ่าตัวตาย ดังนั้น สาเหตุของการเกิดโรค อาการและวิธีรักษานับว่าจำเป็นยิ่งนักที่ทุกคนจะต้องให้ความใส่ใจตระหนักรู้ โดยคุณสามารถติดตามรายละเอียดดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้

โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาและการทำจิตบำบัดและผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ  ระยะเวลาในการรักษาอาจใช้เวลานานตั้งแต่ 3 เดือน หรือ 6 เดือน เป็นต้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการให้ความร่วมมือในการรักษาจากผู้ป่วยและญาติ  

ทำความรู้จักโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและความคิด โดยอาการต่างๆ เหล่านี้จะคอยสร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในประจำวันอย่างมาก เช่น รับประทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุขกับชีวิต ในหัวสมองมักมีแต่ความวิตกกังวล ที่สำคัญผู้ป่วยไม่มีความสามารถในการประสานความคิดและความรู้สึกของตัวเองเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างดีพอ

โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมากที่สุด จากข้อมูล World Health Organization พบว่ามีประชากรทั่วโลกประสบกับโรคซึมเศร้าประมาณ 350 ล้านคน วัฒนธรรมที่แตกต่างกันมีผลต่ออัตราของภาวะซึมเศร้าที่แตกต่างกัน ความชุกของภาวะซึมเศร้าของทุกเพศทุกวัยในญี่ปุ่น จะอยู่ในระดับต่ำ (2.2 เปอร์เซ็นต์) และสูงถีง 10.4 เปอร์เซ็นต์ในบราซิล ตามรายงานประจำปี 2553 ของวารสารประจำปีด้านสาธารณสุข (the journal Annual Review of Public Health)

ในไทยเอง โรคซึมเศร้านั้นถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพของคนไทยที่มีความสำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยสังเกตได้จากสังคมในปัจจุบันนี้ที่มักมีข่าวเกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตาย รวมทั้งปัญหาการทำร้ายร่างกายของตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็นับเป็นเรื่องที่น่าสลดใจไม่น้อยทีเดียว เพราะฉะนั้น ต้นตอสาเหตุจากการที่ผู้ป่วยประสบปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัว การงาน การเงินหรือพบเจอความล้มเหลวสูญเสียในชีวิตอย่างรุนแรง ทุกปัญหานั้นล้วนเป็นสาเหตุนำมาสู่การเกิดโรคซึมเศร้าได้หมดทั้งสิ้น

ตามรายงานจิตวิทยาคลินิก ปี 2007

  • 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ฟื้นตัวจากภาวะซึมเศร้า(Depression)ครั้งแรก มักมีภาวะซึมเศร้าซ้ำอีกหนึ่งครั้งหรือมากกว่า
  • 80 เปอร์เซ็นต์ มีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นถึงสองครั้ง 

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีที่อยู่ในสมองที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) เมื่อสารเคมีดังกล่าวมีปริมาณน้อยลงจากเดิมก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและทางความคิด ซึ่งโดยรวมจะสังเกตเห็นได้ว่าผู้ป่วยจะมีความรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย เหงา ไม่มีชีวิตชีวา ไม่สนุกสนานกับชีวิตประจำวัน ระสับกระส่าย อยากอยู่คนเดีย นอนไม่หลับ มักสะดุ้งตื่นในกลางดึก ฝันร้ายบ่อย เหล่านี้ยังเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานที่ลดลง

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้านั้นมาจากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของกรรมพันธุ์ ด้านพัฒนาการของจิตใจ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยประสบกับความเครียดที่แสนหนัก เจอมรสุมชีวิตที่ไม่ทันได้ตั้งตัว เกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรังจนทำให้หมดกำลังใจ ตกงาน มีปัญหาเรื่องการเงินที่หาทางออกไม่ได้ มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด รวมทั้งพบเจอกับความสูญเสียในชีวิตที่ทำให้เสียใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียพ่อแม่ในขณะที่ยังอยู่ในช่วงของวัยเด็ก สูญเสียคนรัก สูญเสียครอบครัว และยังรวมถึงปัจจัยทางชีวภาพ เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางชนิด ก็สามารถส่งผลทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน รวมถึงการใช้สารเสพติดที่อาจทำให้สารเคมีในสมองผิดปกติ

โดยสรุปแล้วปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้าได้เช่น

  • ภาวะเจ็บป่วยที่สามารถทำให้เกิดการเสียชีวิต (เช่น โรคมะเร็งหรืออาการปวดเรื้อรัง)
  • ภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม
  • ชีวิตที่เครียด (เช่นปัญหาการหย่าร้างหรือขัดสนเงินทอง)
  • พันธุกรรม (มีความผิดปกติของอารมณ์และการฆ่าตัวตายของคนในครอบครัว)
  • ภาวะบาดเจ็บหรือการถูกล่วงละเมิดในวัยเด็กซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระยะยาวจากการสั่งการของสมองเพื่อจัดการกับความกลัวและความเครียด
  • โครงสร้างสมองและการใช้สารเสพติด
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเช่นฮอร์โมนจากภาวะตั้งครรภ์หรือภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
  • ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้า(Depression) มากกว่าผู้ชายถึง 70 เปอร์เซ็นต์
  • คนที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปีมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้า มากกว่าคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 60

ชนิดของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าแบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน ซึ่งแต่ละชนิดมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปดังนี้

1. Major Depression (โรคซึมเศร้าแบบรุนแรง)

โรคซึมเศร้าชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อภาวะซึมเศร้ารบกวนความสุขในชีวิต การทำงาน การเรียน การนอนหลับ นิสัยการกิน และอารมณ์สุนทรีย์  ติดต่อกันอย่างน้อยสองสัปดาห์ บางคนอาจพบแค่เพียงหนึ่งอาการแสดงของภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาการของโรคซึมเศร้าชนิดนี้จะเกิดเป็นครั้งๆ แล้วหายไป แต่ทั้งนี้ก็สามารถเกิดได้บ่อยครั้ง 

2. Dysthymia หรือ Persistent Depressive Disorder (โรคซึมเศร้าเรื้อรัง)

เป็นโรคซึมเศร้าชนิดที่อยู่ในภาวะที่รุนแรง และสามารถเป็นแบบเรื้อรัง จะมีอาการแสดงของอารมณ์ไม่รุนแรงนัก แต่จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสองปี ในบางช่วงเวลาของภาวะซึมเศร้าประเภทนี้อาจมีภาวะ major depression ร่วมด้วย ซึ่งจะรบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งนี้มันสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดการสูญเสียความสามารถในการทำงานและความรู้สึกที่ดีได้

3. Bipolar หรือ Manic-depressive Illness (โรคซึมเศร้าอารมณ์ตก)

ผู้มีภาวะซึมเศร้าบางคนอาจมีความผิดปกติแบบอารมณ์สองขั้วร่วมด้วย (bipolar disorder) เป็นโรคซึมเศร้าชนิดที่ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นลักษณะที่มีอารมณ์แปรปรวนรุนแรงสลับไปมาระหว่างความคิดฟุ้งซ่านขาดสติ (Mania) และภาวะซึมเศร้า (Depression) 

สำหรับบางคนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยส่วนมากจะค่อยเป็นค่อยไป เมื่อซึมเศร้าก็จะมีอาการมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงอารมณ์สนุกคึกคักเกินเหตุ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการพูดมากกว่าที่เคยเป็น มีความกระฉับกระเฉงมากเกินกว่าเหตุ มีพลังงานในร่างกายที่เหลือเฟือ ในช่วงอารมณ์สนุกคึกคักเกินเหตุนั้น จะมีผลกระทบต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้ป่วย รวมทั้งพฤติกรรมของผู้ป่วยอาจจะหลงผิด หากผู้ป่วยในภาวะนี้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นโรคจิต

ประเภทของภาวะซึมเศร้าอื่นๆ ที่ได้การยอมรับทางการแพทย์ มีดังนี้

1. Postpartum Depression (โรคซึมเศร้าหลังคลอดบุตร)

มารดาหลังภาวะคลอดบุตรมักมีอาการซึมเศร้าที่รุนแรงและใช้เวลากลับปกตินาน ภาวะซึมเศร้าที่คุณแม่มือใหม่มักเจอหลังคลอดจะเรียกว่าแบบ "baby blues"

2. Seasonal Affective Disorder หรือ SAD (โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล)

เป็นภาวะซึมเศร้าในช่วงฤดูหนาว (และบางครั้งก็เกิดภาวะใบไม้ร่วง) มักเกี่ยวข้องกับภูมิอากาศที่มีแสงแดดน้อย

3. Premenstrual Dysphoric Disorder (โรคซึมเศร้าก่อนมีรอบเดือน)

ซึ่งเป็นอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนและหลังช่วงมีประจำเดือนของผู้หญิง

4. Psychotic Depression (โรคซึมเศร้าโรคจิต)

เป็นภาวะซึมเศร้ารุนแรงที่เกิดในผู้ป่วยโรคจิต(Depression) มักเกิดพร้อมอาการทางจิตเช่น เช่นเห็นภาพลวงตาและภาพหลอน

อาการของโรคซึมเศร้า

1. อาการทั่วไปของโรคซึมเศร้า

หากคุณกำลังกังวลว่าตัวเองหรือคนรอบข้างกำลังเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าอยู่ เบื้องต้นสามารถสังเกตได้จากอาการเศร้า เสียใจ และท้อแท้จนไม่อยากทำอะไร บางครั้งก็เป็นไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ ถึงแม้มีเรื่องน่ายินดีก็กลับไม่รู้สึกมีความสุขเลย และนอกจากนี้ ผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้ามักแสดงอาการเหล่านี้ออกมาพร้อมๆกันภายในระยะเวลา 2 อาทิตย์ หากปล่อยไว้นานจะทำให้กลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังซึ่งมีอาการรุนแรงกว่านี้มาก ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรับการบำบัดสภาพร่างกายและจิตใจอย่างถูกต้องก่อนที่จะก่อให้เกิดความสูญเสีย

  • รู้สึกหมดหวัง ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปหรือจะทำไปเพื่ออะไร
  • ไม่มีความสุขกับสิ่งของหรือกิจกรรมที่ชอบ เช่น รู้สึกเบื่อหน่ายอาหารโปรดหรือการร่วมเพศ
  • น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นเร็วมากอันเนื่องมาจากการรับประทานอาการที่ไม่เหมือนเดิม
  • นอนไม่หลับมาเป็นระยะเวลานาน แต่ในผู้ป่วยบางรายก็นอนนานผิดปกติ
  • มีอาการเครียด หงุดหงิดง่ายขึ้น ไม่รู้สึกผ่อนคลาย
  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้เลย บางครั้งก็แสดงอาการหลงๆลืมๆ และใช้เวลานานในการตัดสินใจ
  • มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่ช้าลง รวมถึงการพูด เพราะรู้สึกว่าร่างกายอ่อนแรง
  • รู้สึกอยากฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย บางครั้งผู้ที่มีอาการนี้ก็ไม่รู้ตัวเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น บางที่ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าก็อาจจะแสดงออกด้วยวิธีที่แปลกออกไป จนในบางครั้งอาจไม่ได้ทำให้ผู้พบเห็นหรือเจ้าตัวคิดว่าตนเองนั้นเป็น “โรคซึมเศร้า” เรามาลองดูสัญญาณแปลก ๆ เหล่านั้นกันดีกว่า

  • การช้อปปิ้งอย่างบ้าคลั่ง: คุณเคยสังเกตตัวเองไหมว่า คุณเองก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้จ่ายโดยที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ สำหรับใครที่เป็นโรคซึมเศร้า นั่นเป็นเรื่องปกติที่เขาจะซื้อของอย่างเสียสติ ไม่ว่าจะในห้างสรรพสินค้าหรือผ่านโลกออนไลน์ เพื่อหวังจะเบี่ยงเบนความสนใจจากความเครียดหรือปลุกความมั่นใจของตนเอง แต่การรักษาความเครียดด้วยวิธีดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ เท่านั้น คุณจะมิได้ใช้จ่ายอย่างเสียสติเป็นเวลายาวนานติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมดังกล่าวนี้ ในบางรายอาจเป็นโรคอารมณ์สองขั้วหรือไบโพล่าก็เป็นได้  
  • การดื่มอย่างหนัก: หากคุณรู้สึกว่าคุณต้องการดื่มเพื่อจัดการกับความวิตกกังวลหรืออาการซึมเศร้าต่าง ๆ นั่นอาจบ่งบอกได้ว่า คุณเป็นหนึ่งในนั้น แม้ว่าการดื่มจะทำให้คุณรู้สึกอิ่มเอิบและเบิกบานมากขึ้นยามคุณรู้สึกแย่ ๆ ซึ่งแอลกอฮอล์นั้นเป็นตัวกดประสาท ดังนั้น หากคุณดื่มมาก ๆ เข้า นั่นอาจทำให้โรคซึมเศร้ามีผลที่ตรงกันข้ามและย่ำแย่ขึ้นไปอีกได้  
  • ความหลงลืม: โรคซึมเศร้า อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการที่คุณเริ่มหลง ๆ ลืม ๆ ผลการศึกษาแสดงว่า โรคซึมเศร้าหรือภาวะเครียดที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานจะเพิ่มระดับคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนความเครียดของร่างกาย ซึ่งจะทำให้ส่วนหนึ่งของสมองอ่อนแอลง อันเกี่ยวโยงกับความทรงจำและการเรียนรู้ แน่นอนว่าโรคซึมเศร้ามีความเกี่ยวเนื่องกับการสูญเสียความทรงจำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ข่าวดีก็คือ การรักษาโรคซึมเศร้าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความจำได้  
  • การใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไป: การเสพติดโลกออนไลน์มากกว่าโลกความเป็นจริง เป็นอาการหนึ่งของคนเป็นโรคซึมเศร้า กล่าวคือ คุณใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากจนเกินไป ผู้คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไปมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาบนสื่อโป๊เปลือย เกม หรือสังคมออนไลน์เสียทั้งสิ้น  
  • กระหน่ำกินอย่างบ้าคลั่งและตามมาด้วยโรคอ้วน: ผลการศึกษาเมื่อปี 2010 จากมหาวิทยาลัยอัลบามาเผยว่า วัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้า มีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แถมยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจอีกด้วย นอกจากนี้ โรคซึมเศร้ายังเกี่ยวโยงกับการกินอาหารในจำนวนมาก โดยเฉพาะคนวัยกลางคน ซึ่งการรักษาโรคซึมเศร้าจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว  
  • การขโมยของ: ประมาณสามส่วนของหัวขโมยทั้งหลาย เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า สำหรับใครก็ตามที่รู้สึกไม่มีพละกำลังและรู้สึกว่าตนเองไม่สำคัญ การขโมยของจะช่วยทำให้เขารู้สึกตรงกันข้าม คือ มีพละกำลังและรู้สึกว่าตนเองสำคัญ และพวกเขาจะเฉยชากับสิ่งที่ตนเองกระทำ ซึ่งในความจริงแล้ว สิ่งของที่พวกเขาขโมยมานั้นไม่ได้สำคัญเท่ากับความรู้สึกที่พวกเขารู้สึกเลย  
  • การปวดหลัง: อาการเจ็บหลังเรื้อรัง ส่วนหนึ่งมาจากโรคซึมเศร้า 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้คนที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังเคยผ่านประสบการณ์การเป็นโรคซึมเศร้ามาแล้วทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี ผู้คนมักเพิกเฉยต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะพวกเขาคิดว่า การเจ็บปวดต่าง ๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคซึมเศร้าแต่อย่างใด  
  • พฤติกรรมทางเพศ: การเป็นโรคซึมเศร้านั้นเกี่ยวข้องกับการสูญเสียความต้องการทางเพศ  แต่ในบางรายก็อาจใช้เรื่องเพศเพื่อจัดการรับมือกับปัญหาโรคซึมเศร้า การเป็นโรคซึมเศร้า อาจเพิ่มพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ การนอกใจ การเสพติดการมีเพศสัมพันธ์ และพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ทั้งนี้ อาการดังกล่าวอาจเกี่ยวโยงถึงการเป็นโรคอารมณ์สองขั้วได้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพและชีวิตส่วนตัว  
  • การแสดงออกทางอารมณ์ที่สุดเหวี่ยง: หลาย ๆ คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักหลุดหรือเผลอแสดงอารมณ์มากจนเกินปกติ บางครั้งก็ขี้โมโหหรือระเบิดอารมณ์ออกมา บ้างก็เศร้าเสียใจ หมดหวัง วิตกกังวล และหวาดกลัว ปัญหาสำคัญคือ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น คนบางคนที่เดิมทีเป็นคนนิ่งเฉย เมื่อมีอารมณ์ความรู้สึกพุ่งสูง ก็อาจนำมาซึ่งโรคซึมเศร้าได้  
  • เสพติดการพนัน: การพนันอาจทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นและกระชุ่มกระชวย แต่หากคุณเสพติดการเล่นนั้นจนเป็นนิสัย คุณอาจเศร้าเสียใจหรือทุกข์ทรมานใจจากมันก็เป็นได้ หลายคนกล่าวว่า พวกเขารู้สึกวิตกกังวลและซึมเศร้าก่อนที่พวกเขาจะเริ่มเล่นการพนัน และเมื่อเจอความผิดหวังก็อาจทำให้ความรู้สึกย่ำแย่ลงไปอีกได้  
  • การสูบบุหรี่: มีปัญหากับการเลิกบุหรี่หรือไม่? การเป็นโรคซึมเศร้าจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นสองเท่าในการสูบบุหรี่ เรียกได้ว่า ยิ่งซึมเศร้ายิ่งสูบหนัก (ประมาณ 1 ซองต่อวัน หรือสูบบุหรี่ทุก ๆ 5 นาที) การเลิกบุหรี่นั้นใช้เทคนิคเดียวกันกับการรักษาโรคซึมเศร้า กล่าวคือ ใช้เทคนิคการบำบัดด้วยการรับรู้หรือใช้ยาเพื่อรักษาอาการซึมเศร้า  
  • ไม่ใส่ใจตนเอง: การละเลยหรือไม่ใส่ใจตนเอง เป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าและการขาดความมั่นใจในตนเอง พฤติกรรมอาจเริ่มตั้งแต่การไม่แปรงฟัน หรืออาจจะไปถึงขั้นโดดสอบ และไม่ใส่ใจโรคร้ายต่าง ๆ ที่ตนเป็น เป็นต้น

2. อาการของโรคซึมเศร้าตามเพศและอายุ

อาการของโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่

อาการของโรคซึมเศร้าอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่ส่วนมากผู้ป่วยมักมีอาการดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเศร้าหรือว่างเปล่าเป็นเวลานาน
  • รู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย หรือกระวนกระวายใจอยู่บ่อย ๆ
  • รู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีค่า หรือรู้สึกผิด
  • อ่อนเพลีย
  • พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป
  • มีความลำบากในการมีสมาธิ จดจำรายละเอียด หรือทำการตัดสินใจ
  • ปัญหาการนอนหลับ เช่น นอนหลับมากขึ้น หรือ นอนไม่หลับ
  • รู้สึกหมดความสนใจในกิจกรรมหรืองานอดิเรกเดิมที่เคยสนใจ
  • มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร
  • มีความคิดเรื่องความตายและการฆ่าตัวตาย
  • คิด พูด และทำงานช้าลง
  • สะเพร่า
  • เสพสารเสพติด

อาการของโรคซึมเศร้าในผู้ชาย

แม้ว่าผู้ชายและผู้หญิงต่างมีอาการของโรคซึมเศร้าได้เหมือนกัน แต่ก็มีอาการเฉพาะเจาะจงบางอย่างที่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ อ้างอิงจาก 2013 report in the journal JAMA Psychiatry ผู้ชายที่มีโรคซึมเศร้ามักจะพบอาการดังต่อไปนี้ได้มากกว่าผู้หญิง

  • โกรธ
  • ก้าวร้าว
  • การเสพยาหรือการใช้แอลกอฮอล์
  • พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ (risk-taking behaviour)

อาการของโรคซึมเศร้าในผู้หญิง

ผู้หญิงจะเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าผู้ชายถึง 70% อ้างอิงจาก The National Institutes of Health. จากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ รวมถึง 2013 JAMA Psychiatry report กล่าวไว้ว่าผู้หญิงมีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากถึงสองเท่า ผู้หญิงที่มีโรคซึมเศร้ามักจะพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้

  • เครียด
  • แยกตัวสันโดษ
  • กระสับกระส่าย
  • มีปัญหาด้านการนอนหลับ
  • สูญเสียความสนใจเดิม

อาการของโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น

วัยรุ่นก็สามารถมีอาการของโรคซึมเศร้าได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่ว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนั้นมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นภาวะปกติของการเข้าสู่ช่วงการเป็นวัยรุ่น อาการแสดงอื่น ๆ ที่บอกถึงโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นได้แก่

  • หมกมุ่นเรื่องความตาย เช่น กลอนหรือภาพวาดที่บ่งบอกถึงความตาย
  • มีพฤติกรรมอาชญกรรม เช่น การขโมยของในร้าน
  • มีการแยกตัวออกจากครอบครัวและเพื่อน
  • อ่อนไหวต่อการวิพากย์วิจารณ์
  • ผลการเรียนแย่ลงหรือขาดเรียน
  • พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยและการขับรถโดยประมาท
  • การดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้สารเสพติด
  • มีพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลหรือแปลกประหลาดไปจากเดิม
  • มีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะนิสัยหรือการแต่งตัวภายนอกอย่างสิ้นเชิง
  • ทิ้งข้าวของของตัวเอง

3. อาการตามชนิดของโรคซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้าชนิด Major Depression

  • มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกซึมเศร้า มีความกังวลบ่อยๆ มีอารมณ์ที่หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุขและมักรู้สึกกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ผู้ป่วยจะรู้สึกสิ้นหวังต่อการใช้ชีวิต มักมองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิดหวังบ่อยๆ มักคิดว่าตัวเองไม่มีค่า มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่ความตาย และพยายามทำร้ายตัวเองอยู่บ่อยครั้ง
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางการเรียนรู้และการทำงาน ผู้ป่วยจะไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจเรื่องที่จะทำให้เกิดความสนุกสนานกับชีวิต ไม่สนใจงานอดิเรก เพิกเฉยต่อกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ มีความรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลังงาน ทำงานได้ช้าและมีคุณภาพต่ำลง ไม่มีสมาธิต่อสิ่งที่ทำ การตัดสินใจแย่ลงและความจำเสื่อม
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ มีพฤติกรรมตื่นนอนเร็ว ในผู้ป่วยบางรายจะหลับนานเกินไป เบื่ออาหารจึงส่งผลทำให้น้ำหนักลด ในขณะที่บางคนรับประทานอาหารมากเกินไปจึงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เมื่อมีอาการป่วยมักรักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง แน่นท้อง และปวดเรื้อรัง ที่สำคัญผู้ป่วยยังมีความสัมพันธ์กับบุคคลรอบตัวอย่างแย่ลงด้วย

อาการของโรคซึมเศร้าชนิด Dysthymia

ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้าต่อเนื่องเรื้อรังเป็นเวลาติดต่อกันยาวนาน อาจถึงขั้นสูญเสียหน้าที่การงาน การใช้ชีวิต รู้สึกไม่พึงพอใจในตนเอง ไม่มีความสุขตลอดเวลา มองโลกในแง่ร้าย แต่ผู้ป่วยยังคงใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ แต่มักไม่ค่อยมีความพอใจเมื่อมีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต เสมือนหนึ่งเป็นคนขาดชีวิตชีวา ขาดวิญญาณซึ่งโรคซึมเศร้าแบบ Dysthymia นี้มีสิทธิ์เปลี่ยนเป็นโรคซึมเศร้าแบบรุนแรงได้ (Major depression)

อาการของโรคซึมเศร้าชนิด Bipolar หรือ Manic-depressive illness

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดนี้จะมีอาการร่าเริงเกินกว่าเหตุ หงุดหงิดง่าย นอนน้อยลงจากเดิม มักหลงผิดคิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองใหญ่ มีพฤติกรรมพูดมาก ชอบคิดที่จะแข่งขัน มีความต้องการทางเพศสูง มีพลังงานมาก ตัดสินใจในแต่ละครั้งไม่ดี และมีพฤติกรรมหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างชัดเจน

ความแตกต่างของโรคซึมเศร้า และโรคเครียด

โรคซึมเศร้ากับโรคเครียด ดูเหมือนจะมีลักษณะอาการที่ใกล้เคียงกัน จนทำให้บางครั้งผู้ป่วยไม่สามารถแยกตัวเองออกมาได้ว่า อาการที่เกิดขึ้นมาจากความเครียด หรือโรคซึมเศร้ากันแน่ เราสามารถมีวิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 โรคได้ด้วยอาการขั้นพื้นฐานดังนี้

อาการที่มาจากความเครียด (Stress)

ความเครียดหรือโรคเครียด โดยทั่วไปจะเป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ เท่านั้น หากเป็นความเครียดธรรมดา สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย ความเครียดจะไปสั่งผลกระตุ้นทั้งในแง่ดีและแง่ลบ ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถตั้งรับกับความเครียดได้มากน้อยแค่ไหน โดยพบว่าอาการทั่วไปของความเครียดคือ

  1. ไม่สามารถทนต่อความรู้สึกได้
  2. นอนหลับยาก หรือนอนไม่หลับ
  3. กระสับกระส่าย กังวล และเหมือนจะประสาทเสีย
  4. รู้สึกไม่มีแรง หมดแรง
  5. รู้สึกว่าปัญหาที่เข้ามาในชีวิตยุ่งยากมากเกินจนรับได้
  6. มีปัญหาเรื่องสมาธิและความจำสั้น

อาการที่มาจากโรคซึมเศร้า (Depression) 

แตกต่างจากความเครียดอย่างไร? ความแตกต่างของโรคนี้กับความเครียดคือ จะเกิดขึ้นใน "ระยะยาว" การปล่อยผ่านโดยรู้สึกว่ามันเป็นแค่ความเครียด จะไม่ช่วยทำให้อาการดีขึ้น แต่จะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากสารเคมีในสมองผิดปกติ เพราะความเศร้าจะควบคุมความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา

ความเครียดไม่ใช่มาจากโรคซึมเศร้า ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ใดก็ตาม ก็จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ไม่นานก็จะกลับมาเป็นปกติ แต่โรคซึมเศร้าแม้จะพยายามดึงใจตัวเองกลับมาอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้รู้สึกดีขึ้น โรคซึมเศร้าจะมีอาการต่อเนื่องตั้งแต่เช้าจนเข้านอน ติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ จึงควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

ภาวะแทรกซ้อนของโรคซึมเศร้า

การที่คุณเคยเป็นโรคซึมเศร้านั้นเพิ่มความเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคนี้ต่อไปในอนาคต มากกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่เคยหายจากการเป็นโรคซึมเศร้าในครั้งแรก ยังมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ต่อไปได้อีก นอกจากนี้ 80% ของผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคซึมเศร้า 2 ครั้ง ยังสามารถเป็นต่อไปได้ อ้างอิงจากรายงานเมื่อปี 2007 ใน Clinical Psychology Review มีคนที่ฆ่าตัวตายมากถึงสองในสามมีอาการของโรคซึมเศร้า จากแหล่งข้อมูลทางสุขภาพ A.D.A.M โรคซึมเศร้ายังสามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคุณและการทำงาน และโรคซึมเศร้ายังสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ภาวะอ้วน หัวใจวาย หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพจิตที่แย่ลงอย่างมากในผู้สูงอายุ

วิธีป้องกันโรคซึมเศร้า

เมื่อสังเกตแล้วว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวกำลังตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าทั่วไป หรือแม้กระทั่งหลังผลการวินิจฉัยของแพทย์แล้วก็ตามว่าเป็นโรคซึมเศร้า คุณสามรถดูแลตัวเองหรือผู้ป่วยควบคู่ไปกับการบำบัดได้ดังนี้

  1. หางานอดิเรกทำ เช่น ทำอาหารหรือต่อจิกซอว์ ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกสนุกนัก แต่กิจกรรมยามว่างเหล่านี้จะช่วยสร้างสมาธิและทำให้สามารถจดจ่อได้มากขึ้น
  2. ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและไม่มีความสามารถ การตั้งเป้าหมายเล็กๆ จะสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย
  3. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้สารเอ็นโดรฟิน (endorphin) หลั่งออกมา ซึ่งทำให้รู้สึกมีความสุข อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นสมองให้มีความตื่นตัวมากขึ้นในระยะยาว ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนักๆ แค่เดินออกกำลังสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งก็เพียงพอ
  4. ทานอาหารที่มีประโยชน์ แม้จะรู้สึกเบื่ออาหาร ผู้ป่วยควรพยายามรับประทานอาหารที่สด สะอาด และทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ ร่างกายจึงจะรู้สึกสดชื่นและมีพลังงาน
  5. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ แม้การนอนจะเป็นเรื่องที่ควบคุมยากมากในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่การพักผ่อนให้เพียงพอ (6-8 ชั่วโมง) จะช่วยให้ลืมความกังวลไปได้ชั่วขณะ และเมื่อตื่นขึ้นมาร่างกายและสมองก็จะมีความพร้อมสำหรับกิจกรรมของแต่ละวันมากขึ้น

การประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยตัวเอง

ผู้ป่วยส่วนมากไม่แน่ใจในอาการผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง และผู้ป่วยมักเข้าใจผิดคิดว่าอาการเหล่านั้นจะสามารถหายไปเองได้ ดังนั้นการทำแบบประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยตัวเองจะช่วยให้ผู้ป่วยซึมเศร้าเข้าถึงบริการได้เร็ว ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือ ซึมเศร้ารุนแรงชนิดที่มีอาการทางจิตร่วมลงได้ ช่วยลดภาระในเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษา และสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้สามารถกลับมาเป็นปกติสุขได้โดยเร็ว   

วิธีการประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยตัวเอง โดยใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้า ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข  โดยให้ประเมินอาการในช่วงเวลา 15 วันที่ผ่านมา ท่านมีอาการเหล่านี้มากน้อยเพียงใด

เมื่อประเมินอาการครบทั้ง 9 ด้านแล้ว ให้รวมคะแนนทั้งหมด หากผลรวมของคะแนนมากกว่า 7 คะแนนขึ้นไป ควรไปพบหรือขอคำปรึกษาจากบุคลากรด้านจิตเวชหรือรับการรักษาจากจิตแพทย์โดยทันที ไม่ควรปล่อยให้มีอาการเรื้อรังนานเป็นเดือนหรือเป็นปี 

การทดสอบและวินิจฉัยโรคซึมเศร้า

ถึงแม้ว่าคุณสามารถประเมินเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง แต่ว่ามีเพียงแพทย์เท่านั้นที่สามารถวินิจฉัยโรคซึมเศร้าได้ ก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า แพทย์จะตรวจและทดสอบเพื่อแยกภาวะอื่น ๆ ที่อาจจะทำให้เกิดอาการได้เช่นกัน เช่น ปัญหาต่อมไทรอยด์ เนื้องอกในสมอง ปัญหาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือภาวะวิตามินพร่อง ซึ่งการทดสอบดังกล่าวจำเป็นต้องตรวจร่างกายและตรวจเลือด รวมถึงการพูดคุยเรื่องยา วิตามิน หรืออาหารเสริมทั้งหมดที่คุณใช้ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการที่เหมือนโรคซึมเศร้าได้ แพทย์ยังจำเป็นต้องถามคำถามเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกของคุณ โดยคุณอาจต้องตอบแบบสอบถาม

อ้างอิงจาก สมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) คุณจำเป็นต้องมีอาการที่เข้าได้กับเกณฑ์การวินิจฉัยจึงจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า คุณจำเป็นต้องมีอย่างน้อย 5 อาการจาก 9 ข้อดังต่อไปนี้ เป็นเวลานานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และอาการต่อไปนี้ต้องส่งผลต่อการทำงานหรือชีวิตประจำวันของคุณ

  • รู้สึกเศร้าหรือมีอารมณ์เศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน
  • สูญเสียความสนใจหรือความรู้สึกสนุกกับสิ่งที่เคยรู้สึกสนใจหรือสนุก
  • น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นโดยไม่มีสาเหตุอธิบาย
  • นอนไม่หลับหรือนอนหลับมากเกินไป
  • อ่อนเพลียหรือรู้สึกหมดพลังงาน
  • กระสับกระส่ายหรือเชื่องช้า ทั้งการเคลื่อนไหว คำพูด ความคิด
  • รู้สึกไร้ค่าและรู้สึกผิด
  • มีปัญหาด้านการคิด การใช้สมาธิ และการตัดสินใจ
  • มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องความตายหรือการฆ่าตัวตาย

ภาวะซึมเศร้าในรูปแบบอื่น ๆ ยังมีเกณฑ์การวินิจฉัยที่แตกต่างกันออกไป

แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง

1. การรักษาโดยการใช้ยา

สำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการใช้ยานั้น จะมียาหลากหลายชนิดด้วยกันที่เลือกใช้รักษา ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดที่ทำให้ง่วงและไม่ทำให้ง่วง สำหรับยาที่ใช้ในการแก้โรคซึมเศร้าจะไม่ทำให้เกิดการเสพติดแต่อย่างใด นั่นแสดงว่าผู้ป่วยสามารถหยุดรับประทานยาได้เมื่ออาการเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ในส่วนของยาแก้โรคซึมเศร้านั้นไม่ได้ออกฤทธิ์เพียงเพื่อช่วยลดความกังวลเท่านั้น แต่มันจะทำให้อารมณ์ของคุณหายจากอาการเศร้าได้จริงๆ ทั้งนี้ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องทานยาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ จึงจะสามารถเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหรือมีอารมณ์ที่แจ่มใสขึ้น และสำหรับการใช้ยานั้นมักจะต้องใช้เวลานานถึง 4-6 สัปดาห์ยาจึงจะออกฤทธิ์และแสดงผลลัพธ์ได้อย่างเต็มที่

ยารักษาภาวะซึมเศร้า (Depression Medications)

ตามอ้างอิงของ The National Alliance on Mental Illness (NAMI)

1. SSRIs (Selective serotonin reuptake)

เป็นยาลดอาการซึมเศร้า(antidepressants)ที่แพทย์นิยมใช้มากที่สุด ยาเหล่านี้ช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้า(Depression)โดยทำให้มีสารสื่อประสาท serotonin ในสมองมากขึ้น

SSRIs ที่ใช้กันมากที่สุด คือ

  • Prozac (fluoxetine)
  • Zoloft (sertraline)
  • Lexapro (escitalopram)
  • Paxil (paroxetine)
  • Celexa (citalopram)

ผลข้างเคียงที่พบโดยทั่วไปของ SSRIs ได้แก่

  • ความผิดปกติทางเพศ
  • ปัญหาทางเดินอาหารเช่นคลื่นไส้ท้องผูกและท้องร่วง
  • ปากแห้ง
  • นอนไม่หลับ
  • ปวดหัว
  • ความวิตกกังวลหรือความกระวนกระวายใจ
  • น้ำหนักมากขึ้น
  • เหงื่อออก

2. Serotonin and Norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs)

เป็นกลุ่มยาลดอาการซึมเศร้า(antidepressants)ที่นิยมใช้รองลงมา serotonin and norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) จะยับยั้งการดูดซึมกลับของ serotonin และ norepinephrine ทำให้มีปริมาณสารสองตัวนี้มากขึ้นในสมอง

ตัวอย่างยากลุ่มSNRIs เช่น:

  • Effexor (venlafaxine)
  • Pristiq (desvenlafaxine)
  • Cymbalta (duloxetine)
  • Fetzima (levomilnacipran)
  • Savella (milnacipran) เป็น SNRI แต่ใช้เพื่อรักษา อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง(fibromyalgia) แทนภาวะซึมเศร้า(Depression)

ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับยา SSRIs รวมทั้งความเมื่อยล้าและอาการปัสสาวะขัด

3. Norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor (NDRI)

ยานี้จะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาท(neurotransmitter)สองตัวคือdopamine และ norepinephrine ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ คือ Wellbutrin (bupropion) Wellbutrin มีผลข้างเคียงที่คล้ายคลึงกับยา SSRIs และ SNRIs แต่จะทำให้เกิดความผิดปกติทางเพศน้อยกว่า แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการชัก

4. Tricyclics

Tricyclic antidepressants (tricyclics หรือ TCAs) เป็นยาที่ใช้กันมานานทำงานโดยการยับยั้งการดูดซึมกลับของ serotonin และ norepinephrine โดยกลไกที่แตกต่างจาก SNRIs ยากลุ่มนี้มีการใช้น้อยลงเพราะก่อให้เกิดผลข้างเคียงมากและร้ายแรง จะใช้ยากลุ่มนี้เมื่อใช้ยาตัวอื่นแล้วไม่ได้ผล

ตัวอย่างของสาร tricyclics ได้แก่ :

  • Elavil (amitriptyline)
  • Norpramin (desipramine)
  • Sinequan (doxepin)
  • Tofranil (imipramine)
  • Pamelor (nortriptyline)
  • Avantyl (nortriptyline)
  • Vivactil (protriptyline)

ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงบางอย่างของสาร tricyclics ได้แก่ :

  • มองเห็นภาพซ้อน
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • อาการสั่น
  • ความคิดสับสนในผู้สูงอายุ
  • อาการชัก

5. MAOIs

monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) สามารถยับยั้งเอนไซม์ monoamine oxidase ซึ่งหยุดการทำงานของสารสื่อประสาทต่างๆรวมถึง serotonin และ norepinephrine ในสมอง

ตัวอย่างของ MAOIs ได้แก่ :

  • Nardil (phenelzine)
  • Marplan (isocarboxazid)
  • Parnate (tranylcypromine sulfate)
  • Emsam (selegiline) เป็นยาที่พัฒนาล่าสุด ชนิดแผ่นแปะ ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายา MAOI อื่น ๆ

เช่นเดียวกับยากลุ่ม tricyclics  ยากลุ่มMAOIs มีการใช้น้อยลงเนื่องจากผลข้างเคียงและปฏิกิริยากับสารอื่นค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่นถ้าคุณกินอาหารที่มีสารประกอบ tyramineจำนวนมาก(พบในชีส ผักดอง และไวน์แดง) พร้อมกับยากลุ่ม MAOI จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นอาจเกิดความดันโลหิตสูงรุนแรงที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองตีบ(stroke)

อาจพบความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงหากคุณใช้ยากลุ่ม MAOI ร่วมกับยาเหล่านี้:

  • ยาคุมกำเนิด
  • ยาแก้ปวดบางชนิด
  • ยารักษาภูมิแพ้และหวัด
  • สมุนไพรบางชนิด

การใช้ MAOI ร่วมกับ SSRI อาจทำให้เกิดภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่น serotonin syndrome

***เพิ่มเติม : Serotonin syndrome เกิดจากการงานของระบบ serotonin ในระบบประสาทส่วนกลางทำงานมากผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติทั้ง mental status, ระบบ neuromuscular, ระบบ autonomic ที่ทำงานผิดปกติไป***

6. ยาอื่น ๆ

ยาอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจัดเข้ากลุ่มข้างต้นที่ใช้รักษาภาวะซึมเศร้า(Depression) ได้แก่

  • Trazadone
  • Nefazodone
  • Remeron (mirtazapine)
  • Abilify (aripiprazole)
  • Seroquel (quetiapine
  • Viibryd (vilazodone)
  • Brintellix (vortioxetine)

2. การรักษาโดยการไม่ใช้ยา

สำหรับการรักษาโรคซึมเศร้าโดยไม่ใช้ยานั้นทำได้ด้วยการเปลี่ยนความคิดเพื่อพิชิตความเศร้า และรวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น นั่นก็คือ ผู้ป่วยที่มีอารมณ์เศร้ามักจะมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งก็เป็นวัฏจักรที่จะทำให้ภาวะซึมเศร้านั้นอยู่กับตัวผู้ป่วยนาน ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเกิดอารมณ์เศร้าจึงควรบอกและค่อยๆ พูดกับผู้ป่วยให้หยุดเศร้าสักประเดี๋ยว แล้วให้ย้อนกลับไปคิดว่าเมื่อสักครู่เกิดอะไรขึ้น เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นแน่นอนว่าจะมีความคิดอะไรบางอย่างแว็บเข้ามาในสมอง จากนั้นให้ลองพิจารณาดูว่าความคิดนั้นถูกต้องแค่ไหน หากคิดว่าไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ อารมณ์จะดีขึ้นทันที อย่างน้อยก็จะทำให้ผู้ป่วยมองโลกในแง่ดีจนกว่าจะเผลอไปคิดในแง่ร้ายอีกครั้ง

1. จิตบำบัดสำหรับโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้านั้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่นั้นจะเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายๆปัจจัยมารวมกัน การใช้จิตบำบัดหรือการบำบัดด้วยการพูดคุยถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับปัจจัยด้านจิตใจ พฤติกรรม ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และปัจจัยภาวะแวดล้อมซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า และการใช้จิตบำบัดนี้ยังช่วยแยกแยะปัจจัยต่างๆเหล่านี้ด้วย โดยโรคซึมเศร้าต่างรูปแบบกันก็มีเป้าหมายการรักษาที่ต่างกันและมีวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยต่างกัน เช่น

  • หาปัญหาชีวิตต่างๆที่ส่งผลต่อโรคซึมเศร้าหรือทำให้โรคซึมเศร้าแย่ลง
  • หาความคิดหรือความเชื่อในทางลบหรือผิดจากความเป็นจริงที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกที่ซึมเศร้า เช่น ความรู้สึกสิ้นหวัง และความรู้สึกที่หมดหนทาง
  • สร้างความสามารถที่จะรับมือกับความเครียดและแก้ปัญหาได้ดีขึ้น
  • หาความสัมพันธ์และประสบการณ์ที่จะพัฒนาปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน
  • สร้างเป้าหมายชีวิตที่เป็นไปได้และวางแผนการดูแลตนเอง
  • สร้างความพึงพอใจและการควบคุมวิถีชีวิต
  • เข้าใจเหตุการณ์ที่เจ็บปวดในอดีต

จิตบำบัดสองรูปแบบที่ใช้มากที่สุดคือพฤติกรรมและปัญญาบำบัด(cognitive behavioral therapy)หรือซีบีที(CBT) และปฏิสัมพันธ์บำบัด(interpersonal therapy) โดยพฤติกรรมปัญญาบำบัดนั้นพยายามที่จะช่วยให้ผู้ที่ซึมเศร้าค้นพบความคิดและความเชื่อในทางลบหรือไม่ดีต่อสุขภาพและเปลี่ยนความคิดและความเชื่อเหล่านั้นเป็นในทางบวกซึ่งมีประสิทธิภาพในการบำบัดความเจ็บป่วยทางจิตใจได้หลายประเภท ผู้ที่เข้าร่วมจิตบำบัดมักจะมีการบ้านให้กลับไปทำโดยให้บันทึกความคิดด้านลบที่เกิดขึ้นกับสิ่งต่างๆ

ส่วนปฏิสัมพันธ์บำบัดจะเน้นไปที่การค้นหาความสัมพันธ์ของบุคคล แยกแยะปัญหาของความสัมพันธ์นั้น และพัฒนาทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ค้นพบรูปแบบทางสังคมในเชิงลบของตนเอง เช่น การแยกตัวจากสังคมและความก้าวร้าว และช่วยพัฒนาวิธีในการโต้ตอบกับคนอื่นได้ดีขึ้น

สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ(National Institute of Mental Health)ระบุว่าจิตบำบัดเพียงอย่างเดียวอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่อาจไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่ซึมเศร้ารุนแรงมาก

2. การบำบัดด้วยการช็อตไฟฟ้าสำหรับโรคซึมเศร้า

ถ้าจิตบำบัดและยาใช้ไม่ได้ผล จิตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้การบำบัดด้วยการกระตุ้นสมอง การบำบัดด้วยการช็อตไฟฟ้า(electroconvulsive therapy)หรืออีซีที(ECT)มีใช้มานานมากแล้วโดยใช้ครั้งแรกในปี 1940 ซึ่งการบำบัดด้วยการช็อตไฟฟ้านั้นจะใช้กระแสไฟฟ้าปล่อยผ่านสมองขณะที่ดมยาสลบอยู่ การรักษานี้จะทำให้ชักช่วงสั้นๆซึ่งควบคุมได้โดยส่งผลต่อเซลล์ประสาทและสารเคมีในสมอง ตามข้อมูลจากเครือข่ายความเจ็บป่วยทางจิตใจแห่งชาติ(National Alliance on Mental Illness)คนส่วนใหญ่จะต้องรักษาสี่ถึงหกครั้งก่อนจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การช็อตไฟฟ้านี้จะมีผลข้างเคียงชั่วคราวได้แก่ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ สับสน และความจำเสื่อม

3. การกระตุ้มสมองด้วยแม่เหล็กสำหรับโรคซึมเศร้า

แทนที่จะใช้กระแสไฟฟ้า การกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็ก(transcranial magnetic stimulation)หรือทีเอ็มเอส(TMS)จะใช้สนามแม่เหล็กกระตุ้นเซลล์ประสาทและช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า การรักษานี้ไม่ต้องใช้ยาดมสลบและเน้นไปที่บริเวณของสมองที่เกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์ ผลข้างเคียงจากการกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กนั้นได้แก่ กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก ปวดหัวหรือเวียนหัว และชัก(ถ้าเคยชักมาก่อน)

4. การกระตุ้นเส้นประสาทวากัส (vagus nerve) สำหรับโรคซึมเศร้า

สำหรับโรคซึมเศร้าเรื้อรังหรือโรคซึมเศร้าที่ไม่ตอบสนองต่อการบำบัดด้วยการช็อตไฟฟ้าหรือการกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กนั้น การกระตุ้นเส้นประสาทวากัส(vagus nerve stimulation)หรือวีเอ็นเอส(VNS)ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง การรักษาวิธีนี้จะใช้อุปกรณ์ฝังเข้าไปเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทวากัสด้วยสัญญาณไฟฟ้าซึ่งทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทไปส่วนของสมองที่ควบคุมอารมณ์และการนอนหลับตลอดทั้งวันซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สร้างจังหวะให้กับสมอง ผลข้างเคียงเฉพาะที่ของการรักษาด้วยการกระตุ้นเส้นประสาทวากัสเช่นปัญหาเกี่ยวกับช่องปาก(กลารกลืน ความปวด และการไอ) ปวดคอ และปัญหาการหายใจระหว่างออกกำลังกาย

5. ธรรมชาติบำบัดสำหรับโรคซึมเศร้า

มีการใช้ธรรมชาติบำบัดหลายวิธีเช่นเดียวกับการรักษาทางเลือกหรือการรักษาเสริมซึ่งอาจช่วยรักษาโรคซึมเศร้าเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น(รวมถึงการใช้ยา) การรักษาเหล่านี้ได้แก่

  • ออกกำลังกายซึ่งช่วยหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นอารมณ์
  • โยคะ การทำสมาธิ และการฝึกจิตอื่นๆช่วยลดความเครียดและบรรเทาอารมณ์เชิงลบได้
  • การยวดช่วยลดฮอร์โมนความเครียดและเพิ่มสารสื่อประสาทที่ช่วยให้อารมณ์คงที่
  • การฝังเข็มอาจส่งผลดีต่อสารสื่อประสาท

อาหารเสริมบางชนิด เช่น โฟเลต (folate)เอสเอ็มอี (SAMe) หรือเอส-อะดีโนซิล-เอล-เมทไธโอนีน (S-Adenosyl-L-Methionine) และหญ้าเซนต์จอห์นเวิร์ธ (St. John's wort) อาจช่วยรักษาโรคซึมเศร้า แต่ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ผลในการรักษา

ข้อควรปฏิบัติเมื่อป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

  1. ไม่ควรตั้งเป้าหมายในการทำงานมากจนเกินไป และไม่ควรรับผิดชอบทุกอย่างจนเกินความสามารถของตัวเอง
  2. ควรแยกแยะปัญหาใหญ่ๆ ให้เป็นส่วนย่อย แล้วค่อยๆ เรียบเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังเพื่อลงมือแก้ไข
  3. ห้ามบังคับตัวเองหรือตั้งเป้าหมายกับตัวเองสูงเกินไป เพราะนั่นจะยิ่งเป็นการเพิ่มความกดดันและเสี่ยงต่อความล้มเหลวในภายหลัง
  4. หมั่นหากิจกรรมที่ชอบและทำให้ตัวเองรู้สึกดีมาทำบ่อยๆ เพื่อให้เกิดอารมณ์ที่เพลิดเพลินและทำให้มีชีวิตชีวาสดใส
  5. ไม่ควรตำหนิตัวเอง เมื่อไม่สามารถทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จได้ตามที่วางแผนไว้ ควรรู้จักให้อภัยตัวเองและให้โอกาสตัวเองได้เริ่มต้นใหม่

โรคซึมเศร้า หากปล่อยไปโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด นอกจากจะทำให้อาการยิ่งรุนแรงเพิ่มมากขึ้นแล้ว อาจส่งผลเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และคนรอบข้างได้ เพราะโรคซึมเศร้านั้น เป็นโรคที่ผู้ป่วยไม่มีสติอยู่กับตัว ลงมือทำอะไรลงไปมักไม่ค่อยมีสติ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียใดๆ จึงควรให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะเป็นการดีที่สุด

ควรรับประทานวิตามินเสริมถ้าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่?

คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าควรรับประทานวิตามินเพื่อช่วยภาวะซึมเศร้าหรือเปล่า? คำตอบก็คือ สำหรับในผู้ป่วยบางคนแล้วการรับประทานวิตามินเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากมีการขาดวิตามินหลายชนิดที่อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ และเมื่อคุณมีอาการของโรคซึมเศร้า ควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์หรือนักจิตบำบัดก่อนเริ่มรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมใดๆ  

โดยในบทความนี้เราจะมายกตัวอย่างวิตามินที่เมื่อขาดแล้วจะมีความเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้ากัน แต่อย่างไรก็ตาม ต้องระลึกไว้เสมอว่าอาหารคือแหล่งวิตามินที่ดีที่สุด ซึ่งรวมถึงวิตามินเหล่านี้ด้วย ดังนั้นการรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะทำให้คุณได้รับวิตามินที่จำเป็นเหล่านี้ในปริมาณที่มากพอ

วิตามินบีรวม

วิตามินบีรวม เป็นวิตามินที่จำเป็นต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ วิตามินชนิดนี้สามารถละลายในน้ำและไม่สามารถเก็บไว้ในร่างกายได้ ดังนั้นร่างกายจึงต้องการวิตามินบีเพิ่มในแต่ละวัน วิตามินบีอาจลดลงจากการดื่มแอลกอฮอล์ น้ำตาล นิโคติน หรือคาเฟอีน ซึ่งหมายความว่าหากคุณกำลังรับประทานอาหารพวกนี้ในปริมาณมากก็จะทำให้คุณอาจขาดวิตามินบีได้

ความสัมพันธ์ระหว่างวิตามินบีรวมและโรคซึมเศร้า

วิตามิน B1 (Thiamine): สมองใช้วิตามินตัวนี้ในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสหรือน้ำตาลในเลือดมาเป็นพลังงาน ดังนั้นหากไม่มีวิตามินตัวนี้ จะทำให้สมองไม่มีพลังงาน การขาด Thiamine นี้ พบได้ไม่บ่อยแต่อาจเกิดร่วมกับการติดแอลกอฮอล์ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดปกติทางจิตหรือประสาทได้

วิตามิน B3 (Niacin): การขาด niacin จะทำให้เกิดโรคหนังกระ (Pellagra) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการทางจิตและความจำเสื่อม อาหารที่ขายอยู่ในปัจจุบันมักมี Niacin ทำให้โรคนี้พบได้น้อยมากในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการขาดวิตามินชนิดนี้แบบไม่มีอาการก็อาจจะทำให้เกิดอาการกระวนกระวายและวิตกกังวล รวมถึงการทำงานของสมองและร่างกายที่ช้าลงได้

วิตามิน B5 (Pantothenic acid): การขาดวิตามินตัวนี้พบได้น้อย แต่อาจมำให้เกิดอาการอ่อนเพลียและซึมเศร้าได้

วิตามิน B6 (pyridoxine): วิตามินตัวนี้ช่วยในการสร้างกรดอะมิโนซึ่งจำเป็นต่อการสร้างโปรตีนและฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะ Serotonin, Melatonin และ Dopamine การขาดวิตามินนี้พบได้น้อย แต่อาจทำให้ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีแผลที่ผิวหนังและสับสนได้ กลุ่มที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินชนิดนี้คือกลุ่มที่ติดแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยโรคไตวาย และผู้หญิงที่กำลังรับประทานยาคุมกำเนิด และการใช้ยาในกลุ่ม MAOIs ก็จะทำให้ร่างกายมีการวิตามินชนิดนี้น้อยลงเช่นกัน มีแพทย์หลายคนเชื่อว่าร่างกายได้รับวิตามินชนิดนี้จากอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

วิตามิน B12: เนื่องจากวิตามินตัวนี้สำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง การขาดจึงทำให้เกิดภาวะซีดร่วมกับอาการทางระบบประสาทและอาการทางจิต การจะขาดวิตามินตัวนี้ได้ จะต้องมีการขาดอย่างเรื้อรัง เนื่องจากร่างกายสามารถเก็บวิตามินตัวนี้ได้ไว้ที่ตับได้นานถึง 3-5 ปี และมักเกิดจากการขาด Intrinsic factor ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ดูดซึมวิตามิน B12 จากทางเดินอาหาร ภาวะนี้เรียกว่า Pernicious anemia และเนื่องจากว่า Intrinsic factor นี้จะค่อย ๆ ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน B12 เพิ่มขึ้น

กรดโฟลิค (Folic acid): วิตามินชนิดนี้จำเป็นต่อการสร้างสาย DNA และจำเป็นต่อการสร้างสาร SAM (S-Adenosyl Methionine) การรับประทานอาหารได้น้อย อาการเจ็บป่วย การติดแอลกอฮล์และยาหลายชนิดทำให้เกิดการขาดวิตามินตัวนี้ได้ และมักจะแนะนำให้รับประทานวิตามินชนิดนี้เสริมในหญิงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันการเกิดความผิดปกติทางระบบประสาทของทารก

วิตามิน C

การขาดวิตามินแบบที่ไม่เกิดอาการอาจทำให้มีอาการซึมเศร้า ซึ่งต้องรับประทานวิตามินเสริมเพื่อช่วยลดอาการ การเสริมวิตามินนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นหากคุณกำลังเข้ารับการผ่าตัด หรือเป็นโรคที่กำลังมีการอักเสบ นอกจากนั้น ความเครียด การตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร ก็ยังเป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายต้องการวิตามิน C เพิ่มขึ้น ในขณะที่ยาแอสไพริน Tetracycline และยาคุมกำเนิดจะทำให้ระดับวิตามินซีในร่างกายลดลง

แร่ธาตุ

การขาดวิตามินบางชนิดอาจเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าและโรคทางกายได้ เช่น แมกนีเซียมแคลเซียม ซิงค์ เหล็ก แมงกานีส และโพแทสเซียม

คำถามจากผู้ป่วยท่านอื่นเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าสามารถรักษาหายสนิทมั้ยคะ

คำตอบ: ซึมเศร้าสามารถหายได้ค่ะ..แต่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาและบำบัดอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดยา เฝ้าระวังเมื่อมีอาการกำเริบ และต้องไปพบจิตแพทย์ตามนัดทุกครั้ง - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

ดิฉันจะช่วยคุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร เมื่อท่านคอยแต่ปฏิเสธความช่วยเหลือ

คำตอบ: คุณแม่ได้ทานยาต่อเนื่องมั้ยคะ..โรคซึมเศร้าหากขาดยา/ทานยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้โรคกำเริบ จนทำให้ผู้ป่วยมีความคิดอยากทำร้ายตัวเองได้นะคะ สิ่งแรกที่คุณควรทำคือ พาคุณแม่ไปพบจิตแพทย์ ให้ท่านทานยาให้ครบตามหมอสั่ง หลังจากทานยาไปแล้วประมาณ2อาทิตย์อาการจะค่อยๆดีขึ้น และควรเฝ้าระวังความเสี่ยงที่คุณแม่อาจจะทำร้ายตัวเอง/ฆ่าตัวตายได้ เช่น ไม่ควรปล่อยให้อยู่คนเดียว จัดเก็บของใช้ในบ้านที่อาจมีความเสี่ยงให้อยู่ในที่มิดชิด เช่น เชือก ผ้า ยาล้างห้องน้ำ ของมีคม อาวุธต่างๆ และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งค่ะ - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

เป็นภาวะซึมเศร้านะคะ รักษามาได้ประมาณ 3 เดือนแล้วค่ะ ได้รับยา sertraline และ clonazepam มาทานค่ะ แต่การนอนยังนอนได้ประมาณ4-5 ชั่วโมงเองค่ะ ปรึกษาหมอแล้ว คุณหมอก็ไม่ได้เปบี่ยนตัวยาให้ค่ะ ควรทำอย่างไรคะ

คำตอบ: อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเรื่องการบำบัดผ่อนคลาย (relaxation therapy) และ/หรือการบำบัดโดยการประมวลความคิด (cognitive therapy)ร่วมด้วยกับการให้ยาค่ะ นอกจากนี้แล้ว ควรนอนให้เป็นเวลา ไม่ทานคาเฟอีน ออกกำลังกายเป็นประจำ อยู่ในห้องนอนที่มืดไม่มีเสียงรบกวนค่ะ - ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)

อาการของโรคซึมเศร้าข้างต้นเริ่มแบบไหน

คำตอบ: วิธีสังเกตอาการของโรคซึมเศร้าค่ะ มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 5 อย่าง หรือมากกว่า ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ 1). อารมณ์เศร้าตลอดทั้งวัน เด็กหรือวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิด โกรธง่าย 2). หมดความสนใจ หรือความสุขในกิจกรรมต่างๆ 3). เบื่ออาหารและน้ำหนักลด 4). นอนไม่หลับหรือนอนมากเกือบทั้งวัน 5). ความคิดและการเคลื่อนไหวเชื่องช้าหรือพลุ่งพล่านกระวนกระวาย 6). เหนื่อย / อ่อนเพลียง่ายหรือไม่มีแรง 7). รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากผิดปกติ 8). ไม่มีสมาธิหรือมีความลังเลใจ 9). มีความคิดอยากตาย คิดฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย หรืออาจใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้าแบบ 2 คำถาม 1.ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมถึงวันนี้ ท่านรู้สึก หดหู่ เศร้า หรือท้อแท้สิ้นหวังหรือไม่ 2.ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารวมถึงวันนี้ ท่านรู้สึก เบื่อ ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลินหรือไม่ ถ้าคำตอบ “ไม่มี” ทั้ง 2 คำถาม ถือว่าปกติ ไม่เป็นโรคซึมเศร้า ถ้าคำตอบ “มี” ข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้อ (มีอาการใด ๆ ในคำถามที่ 1 และ 2) หมายถึง เป็นผู้มีความเสี่ยง หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ให้แจ้งผลและแนะนำให้พบบุคลากรทางด้านสาธารณสุข หรือแพทย์ - ตอบโดย Danuchar Chaichuen (พว.)

คำตอบ 2: อาการของโรคซึมเศร้าขั้นแรกให้สังเกตุอาการดูนะคะว่า ช่วง2สัปดาห์ที่ผ่านมาคุณมีอาการเหล่านี้มากแค่ไหน1. ตื่นเช้ามารู้สึกเบื่อหน่ายขี้เกียจไม่อยากจะทำอะไรเลย 2.รู้สึกไม่สบายใจ ท้อแท้ หดหู่อยากร้องไห้ 3. หลับยาก หลับมากผิดปกติ (ปกติจะหลับ6-8 ชม/วัน)หรือหลับน้อยหลับๆตื่นๆ 4. เหนื่อยง่ายไม่มีแรงเพลียๆ 5. เบื่ออาหารหรือทานได้เยอะเกินปกติ 6. รู้สึกไม่ดีกับตัวเองรู้สึกผิด โทษตัวเอง 7. ขาดสมาธิเหม่อลอยดูทีวีไม่รู้เรื่องขาความตั้งใจต่องานต่างๆที่ทำ 8.พูดช้าลง ทำกิจกรรมต่างๆได้ช้าลงหรือกระสับกระส่ายไม่สามารถอยู่นิ่งได้ 9. มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง คิดว่าถ้าตายไปคงจะดีกว่ามีชีวิตอยู่ หากมีอาการเหล่านี้เกือบทุกวัน(มากกว่า7 วันขึ้นไป) แนะนำให้พบจิตแพทย์นะคะเพื่อทำการประเมินและวินิจฉัยอย่างแม่นยำและรับการรักษาได้อย่างถูกวิธี..ปล.ภาวะซึมเศร้าเกิดจากการทำงานของสารสื่อนำประสาทไม่สมดุล การรักษาจะมียาให้รับประทานเพื่อปรับสารสื่อประสาทให้สมดุล และเมื่ออาการดีขึ้นอาจรักษาด้วยการทำจิตบำบัดค่ะ - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

รู้สึกซึมเศร้าและปวดหัวหลังจากกินยาคุมไปได้2อาทิตย์ค่ะ เกี่ยวกันมั้ยคะ แล้วจะเป็นผลข้างเคียงหรือเปล่า

คำตอบ: เกี่ยวกันได้คะ เพราะสองอาการนี้เป็นผลข้างเคียงของการทานยาคุม สำหรับผลข้างเคียงของเม็ดยาคุมกำเนิดมีดังนี้ค่ะ คลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักตัวเพิ่ม ปวดหัว เป็นฝ้า เลือดออกกระปริบกระปรอย ประจำเดือนผิดปกติ ความดันสูง ซึมเศร้า กังวล หรืออาจมีอาการอื่นๆแต่พบได้น้อยเช่น ปวดประจำเดือน ปวดขา เส้นเลือดขอด อ่อนเพลีย ความรู้สึกทางเพศลดลงค่ะ - ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)

โรคซึมเศร้ารึกษาให้หายขาดได้หรือไม่

คำตอบ: ซึมเศร้ารักษาได้ค่ะ แต่หากจะให้หายขาดคงลำบากหน่อยนะคะ เพราะสาเหตุหลักของโรคโรคซึมเศร้าคือสารเคมีในสมอง การรักษาด้วยการทานยาเป็นวิธีการช่วยปรับสารเคมีในสมองให้สมดุลค่ะ ฉะนั้นหากคุณหยุดทานยาโอกาสที่โรคจะกำเริบซ้ำก็มีค่ะ ยังไงแนะนำให้พบจิตแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และ ทานยาสม่ำเสมอนะคะ หากอาการคุณดีขึ้น100% จิตแพทย์จะค่อยๆปรับลดยาให้และมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลตัวเองให้คุณค่ะ - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

โรคซึมเศร้ารักษาโดยไม่ใช้ยาได้หรือไม่

คำตอบ: การทำจิตบำบัดค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจิตแพทย์ต้องประเมินอาการก่อนว่ารุนแรงแค่ไหน หากรุนแรงมากและมีอาการเป็นระยะเวลานานจำเป็นต้องใช้ยาควบคู่กันไปค่ะ - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

ขอบคุณข้อมูลจาก www.honestdocs.co