รู้จัก Design Thinking วิธีคิดเปลี่ยนโลกที่พิสูจน์แล้วว่าเวิร์ก!
โลกใบเดิมที่หมุนเร็วขึ้น ทำให้ทุกองค์กรต้องเร่งปรับทัพเพื่อก้าวให้ทันกับยุคแห่งการ Disruptive ซึ่งเทคโนโลยีค่อยๆ คืบคลานเข้ามาเปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจ หนึ่งในเครื่องมือที่องค์กรยุคใหม่นำมาใช้รับมือในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้คือ กระบวนการที่เรียกว่า “Design Thinking” หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้าง แต่ยังไม่เข้าใจนิยามของแนวคิดนี้อย่างแท้จริง
“Design Thinking” คือ กระบวนการคิดค้น และออกแบบนวัตกรรมที่มีผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (Human-centered methodology) เพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหา ซึ่งในบางครั้งอาจหมายถึงความต้องการที่แม้กระทั่งผู้ใช้งานเองก็ไม่ได้ตระหนักถึงมาก่อน หรือไม่สามารถสื่อสารออกมาได้ เนื่องจากผู้ใช้งานก็มองไม่ออกว่าจะปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ ได้กว้างไกลเพียงใด
จุดเด่นของแนวคิดนี้ คือ เป็นกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้ในหลากหลายสาขา โฟกัสไปที่การเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง ผ่าน 5 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การเฝ้าสังเกตอย่างพินิจพิเคราะห์ ตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่การกำหนดโจทย์นวัตกรรมที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงผู้ใช้งานและคุณค่าที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงนำผลงานไปพัฒนาต้นแบบอย่างรวดเร็ว และทดลองใช้งานจริง พร้อมเก็บข้อมูลเพื่อพิสูจน์แนวคิดที่ตั้งไว้ในตอนต้น ด้วยใจที่เปิดกว้างไม่กลัว หากต้องเผชิญกับความล้มเหลว
คำถามคือ ทำไม Design Thinking ถึงเป็นคำตอบขององค์กรที่ต้องการก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม?
1.เพราะเครื่องมือเดิมๆ ไม่สามารถแก้โจทย์ใหม่ของลูกค้า โลกใบเดิมที่ไม่เคยอยู่กับที่ หากแต่หมุนด้วยสปีดที่แรงและเร็วกว่าเดิม นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงมากมายที่ทำให้วิธีการแบบเดิมๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาของลูกค้าได้อีกต่อไป Design Thinking จึงเป็นคำตอบของแก้ปัญหาในบริบทใหม่
เริ่มตั้งแต่สองขั้นตอนแรกของกระบวนการ Design Thinking ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญในการกำหนดความสำเร็จของผลลัพธ์ นั่นคือ ทำความเข้าใจ (Empathize) นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้องค์กรมีข้อมูลที่มากและลึกซึ้งเพียงพอเพื่อนำมาตีโจทย์ให้แตก จากการเฝ้าสังเกตการใช้งานผลิตภัณฑ์ ปัญหาที่ลูกค้าประสบ ตลอดจนการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ลงลึกมากขึ้น จนสามารถผลิตนวัตกรรมที่ดี หรือ ออกแบบองค์กรให้ตอบโจทย์กับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไปได้อย่างตรงจุด ถัดมา คือ กำหนดกรอบและทิศทาง (Define) วิธีการคือ นำข้อมูลที่ได้จากข้อ 1 มาตีความ และกำหนดโจทย์สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาไอเดียต่อไป
2.ทำให้องค์กรเกิดการทำงานแบบยืดหยุ่นและพร้อมที่จะปรับตัวอยู่เสมอ องค์กรที่จะสามารถยืนหยัดในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ได้ จำเป็นต้องมีมายด์เซ็ทในการทำงานที่คล่องแคล่ว ฉับไว พร้อมปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของ Design Thinking เช่นกัน เพราะหลังจากตกผลึกโจทย์และทิศทางในการพัฒนาสินค้าหรือบริการมาแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การสร้างไอเดีย (Ideate) โดยผ่านการระดมความคิดเพื่อให้ได้ไอเดียใหม่ๆ จากมุมมองที่หลากหลายฉีกจากกระบวนการคิดแบบเดิมๆ เคล็ดลับที่สำคัญของขั้นตอนนี้ คือ ไม่ปิดกั้น และเชื่อว่าแม้บางไอเดียอาจจะดูแปลก แต่หากนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม ก็อาจกลายเป็นความสำเร็จได้
3.เกิดการพัฒนาไม่รู้จบ ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการไขกุญแจทุกบานที่เคยปิดตายให้เปิดออกอย่างง่ายดาย เพื่อทำความเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง นอกจากจะอาศัยการประมวลผลข้อมูลจาก Big Data การนำไอเดียที่ตกผลึกมาอย่างถี่ถ้วนจากกระบวนการอันเข้มข้นของ Design Thinking มาต่อยอดสู่ การพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ถือเป็นอีกหนึ่งแต้มต่อทางธุรกิจที่สำคัญ แทนที่จะมัวลังเลไม่กล้าลงมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาลองตลาด
Design Thinking กลับปลุกความกล้าด้วยความเชื่อที่ว่า “Fail often, fail fast, fail cheap” หรือ ล้มเหลวบ่อย ล้มเหลวเร็ว แต่อย่างน้อยราคาที่ต้องจ่ายให้กับความล้มเหลวนั้นก็ไม่แพงจนเกินรับไหว เพราะต่อให้สุดท้าย เมื่อเข้าสู่กระบวนการ ทดสอบแนวคิด (Test) เพื่อเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบแล้วผลลัพธ์ที่ออกมาจะไม่เวิร์ก องค์กรก็ยังไม่เจ็บหนัก เพราะเป็นแค่ผลงานต้นแบบที่สร้างการเรียนรู้ครั้งยิ่งใหญ่สำหรับนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาสิ่งที่ดีกว่าต่อไป
ทั้งหมดนี้คือ เหตุผลที่ทำให้ Design Thinking เป็นดาวเด่นที่ใครๆก็อยากคว้ามาประดับองค์กร