ปรับตัวยังไง? เมื่อเข้าสู่ยุค 2025 ชาวมิลเลนเนียล (จะ) ครองตลาดงาน
ว่ากันว่าในปี 2025 ชาวมิลเลนเนียลหรือบุคคลที่เกิดตั้งแต่ปี 1980-2000 จะครองสัดส่วนในตลาดงานมากถึง 70% เพราะฉะนั้นความท้าทายขององค์กรยุคใหม่จึงไม่ได้หยุดอยู่แค่การรับมือกับโลกยุคดิจิทัลที่กำลังเปลี่ยนผ่านโลกใบเก่าไปสู่โลกแห่งอนาคต แต่ต้องเตรียมปรับองค์กรให้ทันเพื่อรับมือกับมนุษย์งานกลุ่มใหม่ที่มีมุมมองความคิดในการทำงานแตกต่างจากคนยุคก่อนอย่างเห็นได้ชัด
ไม่ว่าองค์กรของคุณจะอยู่ในสเต็ปออกสตาร์ท หรือ ยังมัวรั้งรอไม่เริ่มซักที อย่ามองข้าม 8 แนวทางนี้ที่จะพาคุณไปทำความรู้จักกับตัวตนของชาวมิเลนเนียลมากขึ้น
1.ให้ “โอกาส” ได้เรียนรู้ และ พัฒนา ธรรมชาติของชาวมิลเลนเนียล เติบโตมาในยุคที่ทุกอย่างมาไวไปไว รอบตัวเต็มไปด้วยสิ่งเร้าความสนใจ เพราะฉะนั้นความอดทนของคนกลุ่มนี้จะต่ำ และมีความอยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เมื่อรู้แบบนี้แล้ว สิ่งที่องค์กรหรือหัวหน้าต้องทำคือ พยายามมอบโอกาสให้พนักงานกลุ่มนี้ได้พัฒนาทักษะใหม่ๆ ด้วยการมอบหมายโปรเจกต์ใหม่ๆ ให้ทำ เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปอีกขั้น
2.Work-Life Balance คือ ที่สุดแห่งชีวิตการทำงานในฝัน คำพูดติดปากของแรงงานยุคใหม่ๆ คือ ไม่ชอบอยู่ในกฎเกณฑ์ เบื่อกับการทำงานที่ชีวิตผูกติดกับการตอกบัตรเข้างาน ทำงานให้ครบ 8 ชม. สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ชีวิตที่สมดุล การอุทิศทั้งชีวิตเพื่อทำงานคือสิ่งที่พวกเขาขยาด เพราะสิ่งที่พวกเขามองว่าสำคัญ ไม่ใช่ความทุ่มเท แต่อยู่ที่ผลของงานเท่านั้น
3.“เงิน” ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าเงินไม่สำคัญในสายตาของชาวมิลเลนเนียล เพียงแต่ในสายตาของพวกเขาเงินไม่ใช่แรงจูงใจอันดับต้นๆ ของชีวิต ประสบการณ์ที่จะได้รับจากการทำงานต่างหากคือสิ่งที่มีค่ามากกว่า ไม่ว่าเป็นโอกาสที่จะได้พบปะผู้คน สร้างเครือข่ายใหม่ๆ หรือ ประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต เพราะฉะนั้นข้อเสนอที่องค์กรจะเสนอให้กับพนักงานกลุ่มนี้อาจไม่ใช่ค่าตอบแทน แต่อาจมองไปถึงวันหยุดเพิ่มเติม, ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ตลอดจนตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นเพื่อเป็นใบเบิกทางให้พวกเข้าสามารถเข้าร่วมงานอีเว้นต์ใหญ่ที่รวมพลคนเก่งมีฝีมือ และวิสัยทัศน์ให้แลกเปลี่ยนมุมมอง
4.เปิดทางให้พวกเขาได้เลือกเดิน ชาวมิลเลนเนียลคิดไม่เหมือนคนรุ่นก่อนที่ยึดติดอยู่กับคอมฟอร์ตโซน พวกเขาไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง เมื่อไหร่ที่พวกเขามองว่าหนทางข้างหน้าคือทางตัน ไม่เห็นโอกาสจะได้เติบโตหรือพัฒนาตัวเอง พวกเขาก็พร้อมที่จะหาทางออกและเดินจากไปทันที เพราะฉะนั้นเพื่อมัดใจเหล่าคนเก่งมีฝีมือไว้ สิ่งที่องค์กรต้องทำคือ เตรียมแผนรับมือการเติบโตในสายงานสำหรับพนักงานรุ่นใหม่ไฟแรงไว้ให้พร้อม
5.บอสคือเมนเทอร์ ไม่ใช่เจ้านาย หมดยุคสำหรับโครงสร้างการทำงานแบบเดิมๆ ที่เจ้านายทำตัวราวกับพระเจ้า สิ่งที่พวกเขาต้องการ คือ บอสที่เข้าถึงได้ พร้อมที่จะสนับสนุน และ แนะนำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้นำองค์กรยุคใหม่ต้องจำให้ขึ้นใจ คือ เลิกทำตัวเป็นเจ้านายจอมวีน แต่ต้องสวมบทเมนเทอร์ที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้เหล่ามิลเลนเนียลให้การยอมรับ ด้วยฝีมือและความเป็นมืออาชีพ
6.สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง องค์กรที่สามารถดึงดูดแรงงานยุคใหม่ได้คือ องค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรแข็งแกร่ง และเปี่ยมไปด้วยคุณค่า อย่างที่บอกว่าเป้าหมายของชาวมิลเลนเนียลไม่ได้เอาเงินเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้นองค์กรที่ทำให้พวกเขารู้สึกตัวเองมีคุณค่า และมีความรับผิดชอบต่อสังคมต่างหากคือองค์กรในฝันสำหรับพวกเขา
7.ต้องการได้รับการยอมรับ แม้จะได้เสพติดการชื่นชม แต่การยอมรับเป็นสิ่งที่ชาวมิลเลนเนียลต้องการ ไม่ใช่แค่จากผู้บังคับบัญชาแต่รวมถึงจากเพื่อนร่วมงาน
8.อย่าพรากพวกเขาจากเทคโนโลยี ในโลกยุคดิจิทัลที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกคนไปแล้ว อย่าพยายามให้พวกเขาตัดขาดจากชีวิตออนไลน์ เพราะมีผลวิจัยชี้ชัดแล้วว่า 60%ของชาวมิลเลนเนียลเลือกที่จะปฏิเสธเข้าทำงานในองค์กรที่ห้ามไม่ให้ใช้โซเชียลเนตเวิร์กระหว่างทำงาน
เจอ 8 ข้อนี้เข้าไป หลายองค์กรอย่าเพิ่งยี้ หรือ เอือมระอากับตัวตนของชาวมิลเลนเนียล องค์กรอาจไม่จำเป็นต้องตอบโจทย์สิ่งที่ชาวมิลเลนเนียลต้องการครบทุกข้อ เพียงแต่เข้าใจพวกเขาให้มากขึ้นก็พอ