โรคนี้อาจนำไปสู่อาการกลัวที่ทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงที่จะพบเจอบางสถานการณ์

          โรคแพนิคเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช จัดเป็นประเภทของโรควิตกกังวล ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงเมื่อผู้ป่วยมีอาการกลัวแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยว่าสิ่งไม่ดีกำลังจะเกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ไม่อันตรายใด ๆ อยู่ตรงหน้า สำหรับผู้ที่เป็นโรคแพนิค การเกิดของ "อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง" อาจเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ และอาจนานถึงครึ่งชั่วโมงก็ได้ รวมทั้งสามารถกลับมาเป็นซ้ำและเกิดขึ้นได้ทุกเวลา โดยมักจะทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยความกังวลหรือความเศร้าโศกอยู่ตลอดเวลาว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีก

สาเหตุของโรคแพนิ

          ยังเป็นที่ไม่ทราบแน่ชัดสำหรับสาเหตุของโรคแพนิค แต่มีหลายปัจจัยที่อาจนำไปสู่การเกิดสภาวะนี้ ทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรม โครงสร้างของสมอง (ส่วนต่าง ๆ ในสมองทำหน้าที่ควบคุมความกลัวและความวิตกกังวลที่ต่างกัน) และการบาดเจ็บในวัยเด็ก เหตุการณ์ความเครียดในชีวิต เช่น การจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย การแต่งงาน การมีลูกคนแรก เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกับโรคแพนิคและอาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดสภาวะนี้ได้

          โรคแพนิคเป็นหนึ่งในโรควิตกกังวลที่พบได้ทั่วไปในโลกตะวันตก จากรายงานในปี 2006 ของ British Medical Journal มีการคาดการณ์ว่า 2-3% ของประชากรผู้ใหญ่ในยุโรปประสบกับโรคแพนิคในปีนั้น

          ความชุกของโรคแพนิคในสหรัฐอเมริกาเฉลี่ยต่อมีปี 2.7% จากรายงานของบทความในวารสารวิชาการ JAMA Psychiatry ที่ตีพิมพ์ในปี 2005 ประมาณ 45% ของกรณีผู้ป่วยโรคแพนิคถือเป็นกรณี "รุนแรง" จากรายงานของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ โรคแพนิคพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า

อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงคืออะไร ?

          อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงซึ่งเป็นลักษณะเด่นของโรคแพนิค เป็นอาการตกใจกลัวที่เกิดขึ้นซ้ำและไม่สามารถควบคุมได้ อาการเหล่านี้จะรุนแรงกว่าความรู้สึกกังวลหรืออาการเครียดทั่วไป และมักจะหายไปภายในไม่กี่นาที แต่จะกลับมาเกิดขึ้นอีกภายในไม่กี่ชั่วโมง อาการแสดงทางกายของโรคแพนิคสะท้อน "การหนีหรือการต่อสู้" ต่ออันตราย ยกเว้นว่าไม่มีอันตรายนั้นอยู่ตรงหน้า อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงอาจเกิดขึ้นแม้ในขณะที่คุณกำลังนอนหลับ

          อาการแพนิคมักเกิดขึ้นโดยไม่เลือกเวลาและสถานที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถคาดเดาการเกิดอาการได้เลย บางรายเกิดความหวาดกลัว หวาดหวั่น วิตกกังวล กลัวจะเกิดอาการและพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยทำให้เกิดอาการแพนิค  ถึงแม้โรคอยู่ในภาวะสงบ ผู้ป่วยก็ยังไม่อาจวางใจได้ และมักจะวิตกกังวลว่าอาการจะกำเริบอยู่ตลอดเวลา   

อาการแสดงของอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงอาจมีดังนี้

อาการแพนิคทางกาย

          • ใจสั่น ใจเต้นแรง ใจเต้นรัว หรือใจเต้นเร็วมาก

          • ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจขัด

          • เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก

          • อ่อนแรง มึนศีรษะ หรือ มึนงง โคลงเคลง หวิว ๆ คล้ายจะเป็นลม

          • อาการสั่นเทาและเหงื่อออก

          • รู้สึกร้อนหรือหนาวอย่างผิดปกติ

          • ปวดจี๊ดตามปลายมือหรือปลายเท้า

          • ปวดท้อง

          • วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ท้องไส้ปั่นป่วน

          • มีอาการชาหรือซ่า ๆ

อาการแพนิคทางจิตใจ

          • อ่อนเพลีย

          • การรับรู้บิดเบือน

          • ความรู้สึกกลัวซึ่งเกือบเคลื่อนไหวไม่ได้เลย

          • ความรู้สึกที่คุณไม่สามารถควบคุมได้จนเป็นบ้าหรือเกือบจะเสียชีวิต

          • ความกลัวอย่างรุนแรงว่าสิ่งไม่ดีกำลังจะเกิดขึ้น

          ภาวะแพนิคกำเริบ (Panic attack) จะมีอาการดังต่อไปนี้อย่างน้อย 4 อาการ และถ้าหากมีอาการน้อยกว่า 4 อย่างที่ได้กล่าวมา จะได้รับการวินิจฉัยเพียง Limited-symptom panic attack (อาการที่ยังเป็นไม่มากหรือยังไม่ครบเกณฑ์) ตามเกณฑ์การวินิจฉัย DSM-IV-TR ถ้าอาการครบตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมา การวินิจฉัยต่อมาคือจะต้องหาว่ามีโรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) ร่วมด้วยหรือไม่ (เช่น โรคแพนิคร่วมด้วยโรคกลัวที่ชุมชน) ซึ่งมีเพียงผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะให้การวินิจฉัยโรคแพนิคได้ เนื่องจากอาการคล้ายคลึงกับกลุ่มโรควิตกกังวลอื่น ๆ

          อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงมากจะเริ่มต้นในวัยรุ่นตอนปลายหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น บางคนมีอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง 1-2 ครั้งในชีวิตและไม่เป็นโรคแพนิค (ซึ่งอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้) ผู้ป่วยมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจหรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ และมักจะไปพบแพทย์บ่อย ๆ ซึ่งเมื่อตรวจร่างกายมักจะไม่พบความผิดปกติใด ๆ

ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ และอาการแสดงของโรคแพนิค

          ถ้าไม่รักษา โรคแพนิคสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแอได้ ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงอย่างรุนแรงในบางครั้ง ซึ่งสามารถนำไปสู่ความกลัวที่อาจเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่สัมพันธ์กับอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง เช่น ถ้าบุคคลมีอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงในลิฟต์ อาจจะทำให้บุคคลนั้นหลีกเลี่ยงที่จะใช้ลิฟต์และเกิดอาการกลัวลิฟต์ในภายหลัง ในกรณีที่รุนแรง โดยส่วนมากผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิคจะมีอาการของ Agoraphobia กลัวและไม่กล้าไปไหนคนเดียว กลัวสถานที่หรือสถานการณ์ที่การหลบหนีอาจเป็นเรื่องยาก โรคนี้อาจทำให้ผู้ป่วยเก็บตัวอยู่ในบ้านหรือในอาคารตลอดเวลา

นอกจากนี้ โรคแพนิคอาจนำไปสู่ภาวะต่าง ๆ ต่อไปนี้

          • โรคซึมเศร้า และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการฆ่าตัวตาย

          • การติดสารเสพติด

          • ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยารักษาโรค

          • ปัญหาทางการเงินและการพึ่งพาผู้อื่น

          • ปัญหากับที่ทำงานหรือกับทางโรงเรียน

การวินิจฉัยและการรักษาโรคแพนิค

ในการตรวจว่าคุณเป็นโรคแพนิคหรือไม่ แพทย์ประจำตัวของคุณจะตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุของอาการแสดงต่าง ๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับระบบไทรอยด์ นอกจากนี้ แพทย์ของคุณจะให้คุณทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา อาจจะมีแบบทดสอบเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือให้คุณพบกับนักจิตวิทยามืออาชีพเพื่อวินิจฉัยอาการของคุณ เป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรรู้และจดบันทึกอาการแสดงต่าง ๆ ของคุณเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แม่นยำ

บางงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยอาจเข้าพบแพทย์มากกว่า 10 ครั้งก่อนการวินิจฉัยโรคแพนิค

โรคแพนิคมักรักษาด้วยจิตบำบัดซึ่งมีหลายเป้าหมาย รวมทั้ง

          • การหาสิ่งกระตุ้นของอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง

          • การคลี่คลายสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอาการกลัวให้เป็นเรื่องเล็กและควบคุมได้

          • การหาเทคนิคในการรับมือกับอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงที่ดีขึ้น เช่น การออกกำลังกายเพื่อฝึกการหายใจและการคิดเชิงบวก

          • การสัมผัสกับอาการเฉพาะของอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงเพื่อเรียนรู้วิธีป้องกันการเจออาการเหล่านี้โดยสมบูรณ์

          บางครั้ง ยารักษาอาการวิตกกังวล ยารักษาอาการซึมเศร้า และยากันชักอาจช่วยในการรักษาโรคแพนิค ยาที่จ่ายตามใบสั่งแพทย์มีดังนี้: Effexor XR (venlafaxine), Prozac (fluoxetine) และ Xanax (alprazolam)

โรคแพนิคสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่

          ผู้ที่เป็นโรคแพนิค มักอยากจะรู้ว่ามีวิธีการหรือยาใดที่สามารถทำให้อาการตื่นตระหนกนี้หายขาดได้ ความจริงแล้วโรคแพนิค ไม่สามารถรักษาให้หายได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เราสามารถควบคุมได้อย่างดีจนไม่มีอาการที่รบกวนชีวิตประจำวันได้ เหตุผลหนึ่งที่ไม่มีใครอ้างว่ารักษาโรคแพนิคได้เพราะโรคมีความหลากหลายมากในแต่ละคน การรักษาที่ได้ผลในคนหนึ่งอาจไม่ได้ผลในอีกคน แม้ว่าไม่มีสิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคแพนิคหายไปได้ แต่การรักษา ความอดทน และความพยายาม คุณจะสามารถหาวิธีจัดการกับโรคได้ ด้านล่างนี้คือวิธีที่ใช้มากที่สุดในการรับมือกับโรคแพนิค

การรับมือโรคแพนิคด้วยตนเอง

วิธีในการรับมือทั่ว ๆ ไป ได้แก่

          • ใช้เทคนิคในการผ่อนคลาย เช่น การยืดเหยียดร่างกายและการหายใจเข้าลึก ๆ

          • การให้กำลังใจในทางบวกและพูดกับตนเอง

          • การสร้างภาพให้รู้สึกสงบสุขและมั่นใจ

          • ฝึกการบันทึกและการเขียนสิ่งต่าง ๆ

          • ใช้ศิลปะที่สร้างสรรค์ในการสื่ออารมณ์ความรู้สึก

          • รับประทานอาหารให้เหมาะสม นอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกาย

          • ปรับเปลี่ยนระบบความเชื่อในแง่ลบให้สร้างสรรค์และเป็นแง่ดี

          • งดหรือลดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โคล่า หรือช็อกโกแลต

การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อหรือการฝึกผ่อนคลายด้วยการกำหนดลมหายใจก็สามารถช่วยคลายความวิตกกังวลได้ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

          • นอนหงายตามสบายบนเตียงหรือพื้นที่ในบริเวณที่สงบ

          • มือทั้งสองประสานวางอยู่บนหน้าท้อง ไม่เกร็ง ผ่อนคลายกล้ามเนื้ออกและหัวไหล่ ให้ทุกส่วนของร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ตึงไม่เกร็ง

          • สูดลมหายใจเข้าช้า ๆ พร้อมทั้งสังเกตและจดจ่ออยู่ที่การเคลื่อนไหวของลมหายใจที่ผ่านรูจมูกเข้าไปลึกเต็มที่จนหน้าท้องป่อง (รู้สึกได้จากการที่มือทั้งสองถูกยกขึ้นช้า ๆ และหัวไหล่เคลื่อนขึ้น)

          • เมื่อหายใจเข้าเต็มที่แล้ว นับ 1, 2, 3 ในใจช้า ๆ

          • ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ พร้อมทั้งสังเกตและจดจ่อที่การเคลื่อนไหวของลมหายใจที่เคลื่อนที่ออกผ่านรูจมูกจนหน้าท้องแฟบลง มือทั้งสองจะลดต่ำลง

          • เมื่อหายใจออกจนหมด นับ 1, 2, 3 ในใจช้า ๆ

          • เริ่มหายใจเข้าและหายใจออกสลับกันไปเป็นจังหวะสม่ำเสมออย่างน้อย 10 ครั้ง เมื่อมีความชำนาญอาจเปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่านั่งโดยพิงเก้าอี้ตามสบาย มือทั้งสองวางไว้ที่หน้าขาหรือประสานกันอยู่ที่หน้าท้อง วิธีการเหมือนกับการควบคุมการหายใจในท่านอนหงายทุกประการ

การใช้ยาเมื่อเป็นโรคแพนิค

          การรักษาโรคแพนิคด้วยยานั้นแนะนำให้ใช้เมื่อมีอาการตลอด ทั้งที่พยายามควบคุมด้วยการบำบัดและการรับมือด้วยตนเองอย่างเต็มที่แล้ว การใช้ยานั้นควรใช้เมื่อโรคแพนิครุนแรงจนกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิต โดยแพทย์จะสั่งยาให้ใช้ในช่วงสั้น ๆ และไม่ควรใช้ไปตลอด 

1. ยาต้านซึมเศร้า 

          1.1 ยาเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors: SSRI) 

          จะช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการตื่นกลัวและลดอาการซึมเศร้าซึ่งมักเกิดร่วมกับโรคแพนิค โดยแพทย์มักใช้ยาเอสเอสอาร์ไอรักษาผู้ป่วยโรคแพนิค โดยจะเริ่มให้ยาในปริมาณน้อย และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณเมื่อร่างกายของผู้ป่วยปรับตัวได้แล้ว ตัวยาในกลุ่มยาเอสเอสอาร์ไอที่ใช้รักษาโรคแพนิคประกอบด้วย

          • ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ที่มีชื่อการค้าว่าโปรแซค (Prozac) 

          • ยาพาร็อกซิทีน (Paroxetine) ที่มีชื่อการค้าว่าแพคซิล (Paxil)

          • ยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) ที่มีชื่อการค้าว่าโซลอฟ (Zoloft)

          • ยาซิทาโลแพรม  ที่มีชื่อการค้าว่าซีเลคซา (Celexa)

          ผลข้างเคียงทั่วไปจากยา ได้แก่ การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ น้ำหนักเปลี่ยนแปลง และมีปัญหาในการนอนหลับ ดังนั้น ถ้าต้องการใช้ยาต้านซึมเศร้า ต้องมั่นใจว่าได้ทบทวนผลข้างเคียงจากการใช้ยาและประสิทธิภาพของยากับแพทย์แล้ว ยาต้านซึมเศร้ามักใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์จึงเริ่มเห็นผล และไม่ควรหยุดยากะทันหัน เมื่อพร้อมที่จะหยุดยาแล้ว แพทย์จะค่อย ๆ สั่งลดยาลงเรื่อย ๆ 

          1.2 ยาเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors: SNRIs) 

          มักใช้รักษาโรคซึมเศร้าและโรคแพนิค โดยมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เวนลาฟาซีน (Venlafaxine)

          1.3 ยาไตรไซลิก (Tricylic Antidepressants) 

          แพทย์จะใช้ยานี้ในกรณีที่รักษาด้วยยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอเป็นเวลา 12 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น ยากลุ่มนี้จะช่วยปรับระดับนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) และเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้อารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้น  ยากลุ่มนี้ได้แก่ อิมิพรามีน (Imipramine) และโคลมิพรามีน (Clomipramine) 

2. ยากล่อมประสาทหรือยาระงับประสาทกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) 

          เป็นยาอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้ลดความกังวลและบรรเทาความตื่นกลัว ถูกใช้บ่อย ๆ ในโรคแพนิคเพื่อลดอาการกระวนกระวายอย่างรวดเร็ว

          • ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ที่มีชื่อการค้าว่าซาแนค (Xanax) 

          • ยาลอร่าซีแปม (Lorazepam) ที่มีชื่อการค้าว่าแอตติแวน (Ativan) 

          • ยาโคลนาซีแปม (Clonazepam) ที่มีชื่อการค้าว่าโคลนาปิน (Clonapin)  

          ยาเหล่านี้ทำให้เกิดการติดยาคือ เมื่อใช้ไปนานขึ้นก็ต้องการยาปริมาณมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลเท่าเดิม ความยุ่งยากอีกอย่างหนึ่งของการใช้ยาคือเมื่อผู้ป่วยหยุดใช้ยา อาการกระวนกระวายจะกลับมาอีก หรืออาจแย่ลงกว่าตอนแรก ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับข้อสงสัยและความกังวลต่าง ๆ ก่อนจะเริ่มใช้ยา

3. ยากันชัก 

          ยานี้จะช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลให้ทุเลาลง

          • ยาพรีกาบาลิน (Pregabalin) 

          สุดท้ายแล้วไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่จะใช้ได้กับทุกคน ควรลองวิธีต่าง ๆ ว่าจะได้ผลหรือไม่ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาวได้ โดยการใช้วิธีรักษาหลายวิธีร่วมกันที่ได้ผลในแต่ละคน

การบำบัดความคิดและพฤติกรรม

          จิตบำบัด เทคนิคที่ใช้ในการรักษาโรคแพนิคคือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT)  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ว่าอาการแพนิคที่เกิดขึ้นไม่ได้อันตรายแต่อย่างใด การบำบัดความคิดที่บิดเบือนให้สามารถรับรู้สภาพตามจริงได้ ปรับวิธีคิด เรียนรู้การตอบสนองต่อความรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น เรียนรู้ที่จะผ่อนคลาย เปลี่ยนแปลงความคิดที่ไม่เป็นประโยชน์ จัดการกับความเครียด และเพิ่มความมั่นใจในตนเองที่จะรับมือกับโรคแพนิค ตลอดจนการทำพฤติกรรมบำบัดด้วยเทคนิคเผชิญหน้ากับความกลัวแบบค่อยเป็นค่อยไป (Systematic Desensitization)

          การค่อย ๆ ให้สัมผัสต่อความกลัวหรือความตื่นเต้นเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นักบำบัดใช้ แล้วสอนให้ผ่อนคลายขณะที่ผู้ป่วยเริ่มมีความกังวล ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยจะเกิดความตื่นกลัวเวลาขับรถบนทางด่วน นักบำบัดก็จะเริ่มด้วยการให้จินตนาการถึงรถที่ขับอยู่บนทางด่วน และพยายามคิดว่ารถวิ่งบนทางด่วนไว้ตลอด และนักบำบัดก็จะแนะนำเมื่อเห็นความตึงเครียดเกิดขึ้น การเพ่งสมาธิไปกับความรู้สึกที่ไม่สบายใจนี้ก็จะตามด้วยการแนะนำให้คอยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจขณะที่นึกถึงสิ่งที่กลัวอยู่ตลอด เมื่อทำไปแล้วหลาย ๆ ครั้ง นักบำบัดจะค่อย ๆ เพิ่มความรู้สึกกลัวขึ้นไปอีก เช่น สร้างภาพให้เห็นว่าตนเองกำลังขับรถอยู่บนทางด่วน และให้ไปเป็นผู้โดยสารบนรถที่ขับบนทางด่วนจริง ๆ จนถึงให้ขับรถด้วยตนเอง ซึ่งระหว่างที่เพิ่มความกลัวขึ้นทีละขั้นนั้นก็จะให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะอยู่ในความสงบ และจัดการกับความรู้สึกตื่นกลัว

การดูแลตัวเองและการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิค

          • ผู้ป่วยและญาติจำเป็นต้อง

          • มีความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษาโรคที่ถูกต้อง  ควรทำความเข้าใจว่าอาการแพนิคไม่ได้ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต แต่เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นและหายไปได้ ญาติต้องเข้าใจอาการป่วย ไม่ตอกย้ำหรือกดดันว่าเป็นความผิดของผู้ป่วย ช่วยดูแลเรื่องการรับประทานยา ช่วยส่งเสริมกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดให้กับผู้ป่วย

          • รับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งฝึกรับมือกับความเครียด เช่น ฝึกหายใจลึก ๆ หรือเล่นโยคะ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น

          • ไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากอาจทำให้โรคกำเริบซ้ำได้

          • งดหรือลดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โคล่า หรือช็อกโกแลต

          • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน

          • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

          • ฝึกคิดหรือมองโลกในแง่บวก ลองนึกถึงสถานที่หรือเหตุการณ์ที่ทำให้จิตใจสงบหรือผ่อนคลาย และเพ่งความสนใจไปที่ความคิดดังกล่าว วิธีนี้จะช่วยลดความฟุ้งซ่านและอาการวิตกกังวลต่าง ๆ ของผู้ป่วย รวมทั้งช่วยปรับความคิดของผู้ป่วยที่มีต่อตนเองและสิ่งรอบข้างให้ดีขึ้น

          • เมื่อเกิดอาการ ควรพยายามตั้งสติ พุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย รวมทั้งหายใจให้ช้าลง เนื่องจากการหายใจเร็วจะทำให้อาการแพนิคกำเริบมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก www.honestdocs.co