รฟท.ชงเคาะประมูลที่ดินเชิงพาณิชย์สถานีบางซื่อ SCG-Central รอชิงเค้ก
รฟท.ชงสคร.เคาะประมูล ที่ดินบางซื่อ หมื่นล้าน SCG-Central รอชิงเค้ก เร่งเคลียร์บ.ลูกรับสายสีแดง แจงค่าโดยสาร 14-45 บาท ปักหมุด ‘รังสิต’ เป็น Interchange station พร้อมแจงแผนลงทุนทางคู่เฟส 2
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกด้านทรัพย์สินนั้นขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดตั้งบริษัทภายในปีหน้า ส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อนั้นจะเริ่มจากแปลงเอ พื้นที่ 32 ไร่วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาทนั้นจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมทุนตามมาตรา 35 ในวันนี้ 26 ต.ค.นี้หากได้รับอนุมัติจะส่งเรื่องไปกระทรวงคมนาคมและสคร.ต่อไป คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในช่วงไตรมาสแรก 2562
รายงานข่าวแจ้งว่าพื้นที่แปลงเอจะเป็นแห่งแรกในสถานีกลางบางซื่อที่จะเปิดประมูล โดยกายภาพนั้นจะมีรางรถไฟตัดผ่านกลางพื้นที่ดังนั้นจึงแบ่งพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็นสองฝั่งโดยอาจจะทยอยพัฒนาทีละฝั่งแต่คงต้องเปิดให้บริการภายในต้นปี 2564 เมื่อเปิดเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งนี้ล่าสุดบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC และ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด (Central Group) แสดงความสนใจ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้กับจุดยุทธศาสตร์เชิงที่ตั้งของทั้งสองบริษัท
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่าส่วนความคืบหน้าการก่อตั้งบริษัทลูกด้านเดินรถนั้นต้องชะลอการก่อตั้งออกไปก่อนเป็นปี 2562 เพราะต้องรอปรับโครงสร้างบริษัทลูก รฟฟท. ที่ต้องบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ต่ออีก 2 ปีภายหลังลงนามสัญญาโครงการสามสนามบิน ดังนั้นช่วงปลายปีหน้า-2563 จะเร่งฝึกอบรมบุคลากรจำนวนมากเพื่อเปิดบริการรถไฟสายสีแดงช่วงรังสิต-บางซื่อ ในเดือน ม.ค. 2564 เบื้องต้นคาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะสามารถถึงจุดคุ้มทุน(Breakeven) ได้ตั้งแต่ปีแรกคือ 8 หมื่นคน/วัน ส่วนด้านราคานั้นคงอิงจากราคารถไฟฟ้าเป็นเกณฑ์มีราคาเฉลี่ยที่ 34 บาทต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง โดยราคาเริ่มต้นที่ 14-15 บาทและราคาสูงสุดไม่เกิน 45 บาท ส่วนสถานีที่รฟท.เชื่อว่าจะมีผู้โดยสารจำนวนมากจนต้องพัฒนาเป็นสถานีหลักที่มีจุดเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนอื่นคือสถานีรังสิต ทั้งนี้เชื่อว่าปริมาณผู้โดยสารจะมากกว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์แน่นอน
นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่าความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ เฟส 2 วงเงิน 4 แสนล้านบาท ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเสนอโครงการให้สภาพัฒน์พิจารณาความเหมาะสมในการลงทุน เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่ ครม. ได้ภายในปลายปีนี้ก่อนทยอยเปิดราคาในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าเป็นรายเส้นทางไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพัฒน์ว่าจะเลือกเส้นไหนบ้าง
อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจากการพิจารณาในมุมของ รฟท.นั้นพบว่าเส้นทางที่มีศักยภาพควรลงทุนนั้นส่วนใหญ่เน้นทางภาคอีสานเพราะสามารถขนส่งได้ทั้งผู้โดยสารและสินค้าเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษไทย-สปป.ลาวและเชื่อมต่อกับเส้นทางโลจิสติกส์กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง(GMS) เช่น ไทย-สปป.ลาว-จีน อาทิ รถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กม. วงเงิน 2.6 หมื่นล้านบาท รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม.วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาทและรถไฟทางคู่สายใหม่บ้านไผ่-นครพนม ส่วนภาคใต้นั้นเน้นลงทุนต่อขยายเส้นทางเพื่อเพิ่มขีดการรองรับผู้โดยสารสนับสนุนการท่องเที่ยว อาทิ รถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท และรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 324 กม. วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาทเป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net