“ทำไมเป็นคนแบบนี้” คำถามคาใจที่ชาวเบบี้บูมอยากรู้แต่ไม่ (เคย) ถามชาวมิลเลนเนียล
“เด็กรุ่นใหม่ไม่สู้งาน ขี้เกียจ ไม่อดทน รักสบาย ไม่เหมือนคนรุ่นเรา” นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมุมมองที่ชาวเบบี้บูม (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2489 - 2507 หรือในยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2) มีต่อชาวมิลเลนเนียล (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 2523-2540) ซึ่งกำลังเป็นพลเมืองกลุ่มใหญ่ที่จะครองตลาดงานในอนาคต
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวเบบี้บูมเฝ้ามองพฤติกรรมและแนวคิดของชาวมิลเลนเนียลด้วยความไม่เข้าใจ และ ยังมีทัศนคติเอนเอียงไปในเชิงลบ เป็นผลจากการเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันแบบสุดขั้ว ในขณะที่ชาวเบบี้บูม เติบโตมาในยุคหลังสงครามโลก ซึ่งเป็นยุคแห่งการฟื้นฟูประเทศให้กลับมาเข้มแข็ง อยู่ในเบ้าหลอมที่ฝึกให้มีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกฎเกณฑ์ กติกา มีความอดทนสูง ที่สำคัญพวกยังถูกสั่งสอนให้เป็นคนประหยัด อดออม
ส่วนชาวมิลเลนเนียลเติบโตมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงระหว่างโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่ที่ห้อมล้อมไปด้วยเทคโนโลยี ทุกอย่างรอบตัวกลายเป็นเรื่องง่ายๆ ด้วยปลายนิ้ว ถูกเลี้ยงดูแบบตามใจตั้งแต่เด็ก จึงมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบถูกบังคับให้อยู่กรอบ มีอิสระในความคิด กล้าถามในทุกเรื่องที่ตัวเองสนใจ ไม่หวั่นกับคำวิจารณ์
ความแตกต่างที่ราวกับเส้นขนานนี้เอง ทำให้เมื่อคนสองวัยต้องโคจรมาเจอกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงในโลกของการทำงาน จึงนำมาซึ่งความเห็นที่ไม่ลงรอย กลายเป็นว่าชาวมิลเลนเนียลถูกตีตราว่าเป็นเจนฯ เจ้าปัญหายากแก่การรับมือ ทั้งที่จริงแล้วถ้าชาวเบบี้บูมเมอร์ลองสวมบทผู้ใหญ่ใจกว้าง เลิกคาดหวังว่าชาวมิลเลนเนียลต้องเป็นในแบบที่คุณคิด คุณอาจจะเห็นข้อดีของมนุษย์งานสายพันธุ์มิลเลนเนียลแบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน
อะไรคือเป้าหมายในการทำงานของขาวมิลเลนเนียล?
เป้าหมายในการทำงานของชาวมิลเลนเนียล ไม่ใช่เพื่อแลกกับเงินเดือน แต่พวกเขาต้องการทำงานที่ตอบโจทย์เป้าหมายและแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต เมื่อไหร่ที่องค์กรเติมเต็มเป้ามายของพวกเขาได้ รับรองว่าพวกเขาพร้อมทำงานแบบถวายหัวเช่นกัน
ฟังดูอาจไร้เหตุผลสำหรับชาวเบบี้บูมเมอร์ ผู้ซึ่งเชื่อว่า พวกเขาควรได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม และความมั่นคงในอาชีพการงานเป็นรางวัลจากการก้มหน้าก้มตาทำงานหนักเพื่อองค์กรมาหลายปี แต่เชื่อเถอะว่า ชาวมิลเลนเนียลคิดและต้องการแบบนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าอยากได้เด็กรุ่นใหม่มีฝีมือมาร่วมทีม ถึงเวลาต้องปัดฝุ่นกฎเกณฑ์แบบเก่าๆ ที่หวังเอาเงินหรือความมั่นคงเป็นแรงจูงใจในการทำงาน แต่ให้มองหาเงื่อนไขที่ชาวเบบี้บูมเมอร์รับได้และตอบโจทย์ชาวมิลเลนเนียล
ได้เวลาเปลี่ยนแว่นใหม่เพื่อมองโลกใบเดิมที่เปลี่ยนไปแล้ว
ข้อเสียที่ชาวเบบี้บูมเมอร์ต้องเร่งปรับปรุงด่วน คือ หยุดเอาประสบการณ์ชีวิตของตัวเองมาเป็นตัวตัดสินว่าคนอื่นก็ต้องการเช่นนั้น เพราะการทำงานหนัก เพื่อแลกกับความมั่นคงและโอกาสเติบโตในการทำงานเพื่อจะได้มีชีวิตวัยเกษียณที่สุขสบาย อาจเป็นเป้าหมายในชีวิตการทำงานของชาวเบบี้บูมเมอร์ แต่น่าเสียดายที่ชาวมิลเลนเนียลกลับไม่คิดเช่นนั้น พวกเขาไม่ต้องการฝากชีวิตไว้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพื่อแลกกับเงินเดือน หรือ การมีชีวิตที่มั่นคง แต่พวกเขาต้องการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาเห็นว่าองค์กรไม่สามารถเติมเต็มความต้องการนี้ได้ พวกเขาก็ยินดีจากไป
เพราะฉะนั้น จากนี้แทนที่ชาวเบบี้บูมเมอร์จะเอาแต่ยึดติดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล จนลืมย้อนกลับมามองว่าโลกใบเดิมได้เปลี่ยนไปแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มทำความเข้าใจชาวมิลเลนเนียลเสียใหม่ เพื่อออกแบบองค์กรให้ตอบโจทย์กับคนกลุ่มนี้ ยกตัวอย่าง บริษัทเสิร์ชเอ็นจิ้นยักษ์ใหญ่อย่าง “กูเกิ้ล” เพื่อรักษาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ กูเกิ้ลมีโครงการส่งพนักงานไปร่วมงานสัมมนาใหญ่ๆ หรือ บู๊ทแคมป์พัฒนาทักษะการทำงานด้านต่างๆ เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าได้ต่อยอดความสามารถ เติมเต็มแรงบันดาลใจในการทำงานอยู่เสมอ
รู้แบบนี้แล้ว คุณพร้อมจะเปิดใจให้กว้าง เพื่อต้อนรับพนักงานสายพันธุ์ใหม่หรือยัง?...