คุย “ภาษาใหม่” ทางออกของ “ผู้นำ” ยุคดิจิทัล
หมดยุคกับการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ที่แค่รู้ว่าคู่แข่งคือใคร ส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่เท่าไหร่ก็เพียงพอ เพราะในโลกใบเดิมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เทรนด์ของผู้บริโภคไม่ได้เปลี่ยนไปตามรายไตรมาสแต่เปลี่ยนแบบเรียลไทมส์ เพื่อบรรลุเป้าหมายของผู้นำสายพันธุ์ใหม่ที่หวังจะมีตัวตนหรืออยู่รอดในโลกธุรกิจ ลำพังแค่รื้อตำราธุรกิจใหม่หมดทั้งหมด ควบคู่ไปกับการติดสปีดปรับตัวให้ไวคงยังไม่พอ เพราะนาทีนี้ผู้นำทั่วโลกต่างอาศัยอาวุธลับตัวใหม่ที่เรียกว่า “The New Language of Leadership” หรือ ภาษาใหม่ของผู้นำ ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นบังเกอร์ที่แข็งแกร่งในการต้านทานแรงพายุ Digital Disruption ที่โหมกระหน่ำในเวลานี้ได้อย่างเห็นผล
“The New Language of Leadership” หรือ ภาษาใหม่ของผู้นำ คืออะไร ทำไมถึงมีอานุภาพร้ายกาจเช่นนี้?
ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด คือ คือ ไมเคิล เวนทูร่า ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท ซับ โรซ่า (Sub Rosa) ที่ปรึกษาด้านการสร้างและบริหารแบรนด์ให้กับธุรกิจและองค์กรชั้นนำของโลก และเป็นเจ้าของหนังสือ “Applied Empathy: The New Language of Leadership” ที่เป็นเสมือนหนึ่งบทบัญญัติแห่งทางรอดของธุรกิจบทใหม่ ที่สัมฤทธิ์ผลและทรงอิทธิพลเล่มหนึ่งของโลก
เขา คือ ผู้อยู่เบื้องหลังการจุดชนวนความสำเร็จทางธุรกิจให้แบรนด์ชั้นนำทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น ไนกี้, เดลต้า แอร์ไลน์, นิว บาลานซ์, เจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) หรือ แม้แต่ทำเนียบขาว ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยสร้างแรงกระเพื่อมให้กับแคมเปญด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และ ทรัพยากรธรรมชาติที่ริเริ่มโดยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า โดยอาศัยกุญแจสำคัญ นั่นคือ แนวคิด “The New Language of Leadership” หรือ ภาษาใหม่ของผู้นำ
ไมเคิลให้คำจัดความถึง ภาษาใหม่ในที่นี้ว่า ไม่ใช่เครื่องมือทางการตลาดหรือการขาย แต่เป็นแนวคิดหรือทัศนคติของผู้นำองค์กรที่ทำให้สามารถอ่านทุกเกมได้ขาดและเหนือชั้นที่สุด สามารถเปลี่ยนองค์กรที่กำลังเผชิญปัญหา พลิกองค์กรสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดและความก้าวล้ำแบบ Stay ahead of the game ได้ ผ่าน 2 กลไกสำคัญ ประกอบด้วย
1.Ability to understand ผู้นำต้องมีทักษะที่จะทำ “ความเข้าใจ” แบบหยั่งรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่นอย่างถ่องแท้ (Empathy) เพื่อผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดียิ่งกว่า ซึ่งความเข้าใจในที่นี้หมายรวมถึงทุกบริบทที่อยู่รอบด้านขององค์กร ประกอบด้วยลูกค้า คู่แข่งทางธุรกิจ การบริหารงานภายในองค์กร ตลอดจนบุคลากรและทีมงานทุกระดับ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ก็ตาม
หัวใจสำคัญของความสามารถในการทำความเข้าใจในที่นี่ คือ ต้องเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารอย่างแท้จริง โดยอาศัยการมองโลกผ่านเลนส์ของคนอื่น เพื่อให้เราเข้าใจคนอื่น เพื่อเข้าใจสถานการณ์นั้น สามารถทำหน้าที่ผู้นำที่มีภาวะผู้นำที่ดีขึ้น แก้ปัญหาได้ดีขึ้น และทำให้ปัญหาที่ซับซ้อนกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น ทีมงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดความคล่องตัว และอิสระในการเปลี่ยนแปลงองค์กรได้เร็วขึ้น เพื่อพิชิตเป้าหมายที่จะนำพาองค์กรเติบโตอย่างมั่นคง
2.Ability to speak หรือความสามารถที่พูด หรือนำข้อมูลที่ได้จากการทำความเข้าใจสื่อออกไป หรือนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างตอบโจทย์เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กรอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ไมเคิลย้ำว่า ภาษาใหม่ของผู้นำจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยการฝึกฝน สำหรับผู้นำในองค์กรที่อาจจะเก๋าในวงการแต่เป็นมือใหม่สำหรับแนวคิดนี้ ไมเคิลแนะนำให้เริ่มจากการประเมินตนเอง เพื่อเข้าใจจุดแข็ง – จุดอ่อนของตนเองก่อน จากนั้นค่อยๆ ขยายผลไปยังกลุ่มเล็กๆ ในองค์กร โดยเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน และติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพื่อเรียนรู้ และลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เมื่อประสบผลสำเร็จแล้วจึงค่อยขยายไปยังขอบเขตที่กว้างขึ้น โดยพิจารณาว่าควรออกสตาร์ทจากแผนกไหนในองค์กร เช่น แผนกการตลาด แผนกนวัตกรรม หรือ แผนกทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
รู้แบบนี้แล้ว เชื่อหรือยังว่าเป็นผู้นำยุคดิจิทัลไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ…