ทำนายอนาคต Influencer ไทยในสังคมดิจิทัล
โลกยุคดิจิทัลได้เปลี่ยน “คนธรรมดา” ให้กลายเป็น “คนสำคัญ” แจ้งเกิด “Influencer” มากมายให้เฉิดฉายอยู่ท่ามกลางสปอร์ตไลท์ และกลายเป็นคนดังที่แบรนด์ต้องใส่ใจได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะนับวันเสียงของเหล่า Influencer เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ แถมยังเป็นเสียงที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือ วัดได้จากยอดรับชม ยอดไลค์ ยอดแชร์ที่ล้นหลาม จากการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่โดนใจผู้บริโภคฉีกกรอกจากรูปแบบของสื่อแบบเดิมๆ ทว่า ความนิยมของ “Influencer” จะเป็นอาวุธใหม่ของแบรนด์ที่เข้ามาแทนที่การโฆษณาแบบเดิมๆ ได้ในระยะยาวหรือไม่นั้น กลายเป็นคำถามที่คาใจแบรนด์ต่างๆ
ในงาน สัมมนา “Public RelationSHIFT : Digital PR ปรับให้ทัน วันโลกเปลี่ยน” ได้มีการเสวนาถึงอนาคตของเทรนด์ “Influencer” ในบ้านเราไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านมุมมองของ มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ YouTube ประเทศไทย, ชญาน์ทัต วงศ์มณี VP Content Management ธนาคารไทยพาณิชย์ และ วรารัตน์ ชีวะวิชวาลกุล หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ช้อปปี้ (ประเทศไทย) ซึ่งทั้งสามต่างเห็นพ้องว่า “นี่คือยุคทองของเหล่า Influencer”
ทั้งนี้ วรารัตน์ ได้อ้างถึงผลวิจัยในต่างประเทศ สำรวจความคิดเห็นของนักการตลาดจำนวน 181 คน พบว่า 60% ของลูกค้าหาข้อมูลจากออนไลน์ กว่า 90% เชื่อ Influencer ที่น่าตกใจคือ 92% เชื่อว่า Influencer ชวนให้แคมเปญสำเร็จ มี ROI (ผลตอบแทนการลงทุน) สูงกว่าสื่อทั่วไปถึง 11 เท่า
ด้านชญาน์ทัต วงศ์มณี หรือที่หลายคนรู้จักในนาม ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ คอลัมน์นิสต์ชื่อดัง เผยว่า Influencer ในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่สายกิน เที่ยว ความงามที่หลายคนคุ้นเคย แต่ยังมีสายที่เจาะจงลงไป เช่น คนที่สนใจประวัติศาสตร์อียิปต์ คนสนใจเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลาน ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า คนเรามีความชอบที่หลากหลาย ซึ่งทุกความชอบมีความหมาย เทรนด์ของ Influencer นี้จึงมีความเฉพาะเจาะจงลงไปเรื่อยๆ
“ผมเคยไปสอนที่ธรรมศาสตร์ แล้วให้นักศึกษาแต่ละคนพูดถึง Influencer ที่ชอบ เชื่อมั้ยว่านักศึกษา 30 คน ตอบไม่ซ้ำกันเลย ที่สำคัญคนที่เขาตอบเป็นคนที่ผมไม่รู้จัก เพราะ Influencer ตอบมาบางครั้งไม่ใช่คนที่ดังมาก ๆ แต่เป็นคนที่มีคาแร็กเตอร์ชัดเจน ไม่ได้เป๊ะไปทุกอย่าง ไม่ได้เป็นบิ๊กเนม แต่เป็นคนที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกจับต้องได้”
ถ้าถามว่า Influencer จำเป็นกับการทำการตลาดยุคนี้แค่ไหน คำถามนี้ มุกพิม ในฐานะที่ได้ทำงานกับทั้งแบรนด์ และ เหล่ายูทูบครีเอทเตอร์ ยืนยันว่า “การใช้ Influencer บนโลกออนไลน์ที่มีตัวตนและสไตล์ที่ชัดเจนมาพูดแทนแบรนด์ เวิร์คกว่าการที่แบรนด์จะป่าวประกาศผ่านการโฆษณา เพราะสมัยนี้คนบนโลกออนไลน์ไม่ได้เสพสื่ออย่างเดียว แต่มีสิทธ์เลือก เขาเลือกที่ฟังหรือดูอะไรที่มีความเรียล เพราะฉะนั้นโจทย์ของแบรนด์ คือ จะใช้ความเรียลของ Influencer แต่ละคนออกมาสะท้อนความเป็นแบรนด์ได้อย่างไร ซึ่งหลักการที่สำคัญคือ แบรนด์ต้องเลือก Influencer ที่พูดภาษาเดียวกับแบรนด์ มีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่ไปบังคับหรือทำให้ Influencer เปลี่ยนตัวตน เพื่อมาสื่อสารกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ เพราะถ้าทำแบบนั้นเมื่อไหร่ ความเรียลที่ผู้บริโภคชอบจะไม่เกิด”
ขณะที่วรารัตน์ เสริมว่า Influencer ทำให้แบรนด์ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น “ข้อดีของการใช้ Influencer คือ เวลาที่เขาสื่ออะไรออกไป แบรนด์จะเห็นฟีดแบ็คทันที ทำให้สามารถนำข้อมูลนั้นมาสังเคราะห์ เพื่อสร้างแคมเปญต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตาม Influencer ไม่ใช่เรื่องใหม่ของการทำการตลาด แต่แค่เปลี่ยนวิธีใหม่ จากแต่ก่อนแบรนด์ใช้เซเลบลิตี้ ดารานักแสดง ช่องทางในการเผยแพร่คือ สื่อกระแสหลัก แต่ตอนนี้มีแพลตฟอร์มใหม่ มี Influencer ที่เป็นคนธรรมดามาครีเอทคอนเทนต์รูปแบบใหม่ๆ
ถ้าอย่างนั้นทิศทางและแนวโน้มการทำ Influencer Marketing จากนี้จะเป็นอย่างไร
วรารัตน์ ชี้ถึงแนวทางที่ต้องทำจากนี้ คือ เริ่มจากเปลี่ยนมุมมองว่า Influencer เป็นแค่ช่องทางหรือแพล็ตฟอร์มในการสื่อสาร แต่ให้มองว่า Influencer ก็สามารถทำงานร่วมกับแบรนด์ในเชิง Collaboration เปิดโอกาสให้ Influencer ได้ใส่ความเป็นตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายที่ติดตามเขาชอบ ผสมผสานกับสิ่งที่แบรนด์ต้องการ