รับมืออย่างไร เมื่อของมันต้องมี
หากย้อนกลับไปในวัยเด็ก คุณเคยเห็นเพื่อนมีของที่คุณไม่มี แล้วเกิดความรู้สึกอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่นไหม? หากเคย...คุณรับมือกับอาการนั้นอย่างไร?
ความอยากได้อยากมี หรือความต้องการที่จะมี ไม่ว่าจะเป็นความอยากได้เสื้อผ้าชุดใหม่ อยากได้คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ อยากได้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่งออกใหม่ หรือแม้กระทั่ง การอยากให้มีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต ล้วนแล้วแต่เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อย่างหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเห็นเพื่อนมี เพราะเพื่อนก็นับเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเรา การมีนิสัยติดเพื่อน หรือมีนิสัยตามเพื่อนในช่วงวัยรุ่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก การไปเที่ยวกับเพื่อน ไปกินข้าว ซื้อของ การแต่งกาย รวมไปถึงสิ่งของต่าง ๆ ที่เชื่อมเรากับเพื่อนคล้ายคลึงกัน ทำให้หลายครั้งเรามีความต้องการอยากได้อยากมีเหมือนเพื่อนเพื่อให้เกิดการยอมรับจากกลุ่ม
เมื่อพูดถึงความอยากได้อยากมี หรือความต้องการ มันคือระดับความต้องการที่ทุกคนมีได้ เมื่อดูจากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of need) ที่ได้จัดลำดับความต้องการของคนเราเอาไว้ 5 ระดับ ดังนี้
- ความต้องการทางร่างกาย (Physiological Needs) คือ ความต้องการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ความต้องการอาหาร น้ำ การนอนหลับ อากาศ เป็นต้น
- ความต้องการด้านความปลอดภัย (Safety Needs) คือ ความต้องการความมั่นคงปลอดภัยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และเป็นอิสระจากความกลัว ขู่เข็ญ บังคับ จากผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม
- ความต้องการการยอมรับ (Love and Belonging Needs) คือ ความต้องการทางด้านสังคม ต้องการได้รับความรัก มิตรภาพ การเข้าร่วมและการยอมรับของกลุ่ม เช่น เราเลือกเสื้อผ้าโดยเลือกยี่ห้อที่กลุ่มเพื่อนเรานิยม เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม
- ความต้องการการยกย่อง (Esteem Needs) คือ ความต้องการที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนับถือตนเอง ภูมิใจในตนเอง ต้องการให้ผู้อื่นเห็นคุณค่า ต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่าตนมีความสามารถ มีคุณค่า และมีเกียรติ เป็นต้น
- ความต้องการความสมหวังในชีวิต (Self-actualization Needs) คือ ความต้องการที่จะรู้จักและเข้าใจตนเอง เพื่อพัฒนาชีวิตของตนเองให้สมบูรณ์ กระบวนการที่จะพัฒนาตนเองตามศักยภาพ เป็นกระบวนการที่ไม่มีจุดจบ
สำหรับความอยากได้อยากมีแบบเพื่อนนั้น อยู่ในขั้นของความต้องการการยอมรับ (Love and Belonging Needs)เพราะของมันต้องมี บ่อยครึ่งเราจึงต้องการที่จะมีเหมือนเพื่อนเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม ซึ่งหากความต้องการนั้นอยู่เหนือการควบคุม จะทำให้เราต้องรู้สึกลำบากใจหรือรู้สึกทุกข์เมื่อไม่มีเหมือนเพื่อน ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเรา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้แนะนำวิธีปฏิบัติกรณีที่เราอยู่ในภาวะ “อยากมี อยากได้” เอาไว้ดังนี้
- ฝึกมองข้อดีของตัวเอง จะทำให้เรารู้สึกมั่นใจ แม้จะเป็นข้อดีคนละด้านกับผู้อื่น แต่เราต้องบอกตัวเองเสมอว่า ฉันมีดีในเรื่องนี้
- อย่ามัวแต่ตามเพื่อน ควรหาอะไรทำให้มีความสุข เพราะทุกคนต้องมีโลกของตัวเอง ไม่ใช่เอาโลกของเราไปซ้อนกับคนอื่นตลอดเวลา
- ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ให้นึกเสมอว่าปัจจุบันเรามีเพียงเท่านี้ และต้องย้ำกับตัวเองว่าถ้าฉันทำดีที่สุดแล้ว ก็จำเป็นต้องมั่นใจ
มันไม่ใช่ความผิดที่เราอยากได้อยากมี เพราะทุกคนต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน แต่หากมากเกินไปเราจะไม่มีความสุข และไม่มีความเป็นตัวเอง ดังนั้น ความอยากได้อยากมีของเราควรอยู่บนความพอดี มองหาข้อดีของตัวเองแล้วดึงมันออกมาใช้อย่างมีศักยภาพ เพราะทุกคนมีข้อดีเป็นของตัวเองที่ทุกคนอยากนำไปเป็นต้นแบบ
การตอบสนองความต้องการของตนเองสามารถสร้างความสุขให้กับเราได้ แต่นอกเหนือจากวิธีดังกล่าว ยังมีวิธีอีกมากมายที่สามารถทำให้สุขภาพจิตของเราดี และมีความสุข ซึ่ง ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) ได้เล่าถึงสามสิ่งที่ต้องทำสำหรับเยาวชน เพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี ได้แก่
- ต้องดูแลตัวเอง เพราะสุขภาพจิตที่ดีต้องเริ่มที่ตัวเอง ชื่นชมตัวเอง เมื่อเราชื่นชมตนเองบ่อย ๆ เราจะเห็นคุณค่าในตัวเอง
- ต้องหาสิ่งสนับสนุน เมื่อเราเผชิญความยากลำบาก เรามีเพื่อน พี่น้องที่เราไว้ใจ เชื่อใจ คอยให้กำลังใจให้เราสู้ต่อ นอกจากนี้ยังมีครอบครัวที่จะคอยอยู่เคียงข้างเราเสมอ
- ต้องตั้งสติ โดยเฉพาะเวลาโกรธหรือไม่พอใจ ควรหายใจเข้าลึก ๆ จะทำให้เราหยุดคิดว่าเรากำลังจะตอบสนองสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยสติ ซึ่งการนับ 1 ถึง 10 จะเป็นตัวช่วยอย่างดี
แม้ว่าเพื่อนจะเป็นคนที่อยู่กับเราในหลาย ๆ เหตุการณ์ในชีวิต แต่ครอบครัวยังเป็นสถาบันที่เข้มแข็งและอยู่กับเราชั่วชีวิต หากมีปัญหาที่เรารู้ว่าเพื่อนไม่สามารถช่วยเหลือได้ การปรึกษาครอบครัวจะเป็นอีกหนึ่งออกที่จะช่วยให้วัยรุ่นสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้
ความอยากได้อยากมี มีได้ แต่ไม่ควรยึดติด เพราะจะทำให้เราไม่มีความสุขและจะส่งผลต่อสุขภาพจิต ซึ่งการทำให้ทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดีเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มุ่งส่งเสริมมาโดยตลอด ดังนั้น การตอบสนองความอยากได้อยากมีด้วยวิธีอื่น ที่ไม่ใช่การใช้เงินแก้ปัญหาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เรามีความสุข
อย่ามัวแต่กังวลว่าเพื่อนจะไม่ยอมรับให้เข้ากลุ่ม เพราะหากเป็นเพื่อนกันจริง ไม่ว่าเราจะเป็นคนยังไง ก็ย่อมรับกันได้ ลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ว่าเราสูญเสียกันไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า “ของมันต้องมี”
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th