โซเชียลข้น คนทันสื่อ
นับตั้งแต่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตร่วมกับโซเชียลมีเดียราวกับว่ามันคือ ส่วนหนึ่งของชีวิต และนั่นเป็นที่มาของการฉกฉวยโอกาสต่างๆ ในพื้นที่โลกออนไลน์
ดังนั้นผู้ใช้สื่อจะต้องรู้เท่าทันสื่อและไม่ตกเป็นเหยื่อออนไลน์ ซึ่งทาง สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ขับเคลื่อนส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อพร้อมกับพัฒนาศักยภาพ "ผู้ใช้สื่อ" สู่การเป็น "พลเมืองตื่นรู้และนักสื่อสารสุขภาวะ ที่สมบูรณ์" โดยใช้กลไกทักษะ 4 ด้าน คือ 1.การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล (MIDL - Media, Information and Digital Literacy) 2. การสื่อสารและการสร้างความร่วมมือ 3.การเป็นผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง 4.การตระหนักรู้เท่าทันและการสะท้อนความคิด เพื่อให้ประชาชนเข้าใจตระหนัก ผ่านกลไกทั้ง 4 ด้าน ทั้งการเรียนรู้สื่อ การรับรู้ การฟัง การตื่นรู้ และมีภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับสื่อในยุคปัจจุบัน
ในหนึ่งวันการอยู่กับโซเชียลมีเดียนานๆ ส่งผลอะไรกับเราบ้าง?
การใช้โซเชียลมีเดียติดต่อกันวันละ 2-3 ชั่วโมง มีแนวโน้มว่า เราจะมีปัญหาการเกิดโรคทางสายตา มีอาการปวดศรีษะ อ่อนเพลีย หากเราทำแบบนี้บ่อยๆ ก็อาจจะเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำบริเวณขา ระบบเลือดไหลเวียนในร่างกายไม่ปกติ ปวดหลังและไหล่เรื้อรัง เพราะร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว นอกจากนี้อาจทำให้กลายเป็นโรคอ้วนในอนาคต ความเคยชินต่อความเร็วของเครือข่ายสังคมออนไลน์ ก็จะทำให้บางคนกลายเป็นโรคสมาธิสั้น
นอกจากผลกระทบเรื่องสุขภาพ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแล้ว สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากในการใช้โซเชียลมีเดียคือ การถูกเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หรือการถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้แอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย เช่น ถูกนำรูปถ่ายที่โพสในเฟชบุ๊กไปใช้เพื่อขายบริการทางเพศ
ทำอย่างไรที่จะอยู่ในโลกโซเชียลอย่างสนุกและปลอดภัย?
1.อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขบัตรประชาชน รหัสผ่านเข้าโปรแกรมหรือเครือข่ายใช้งานทางอินเทอร์เน็ต รหัสลับสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน สภาพที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันการปลอมแปลง การล้วงข้อมูล การฉ้อโกง การบุกรุก หรือก่อกวนความเป็นส่วนตัว
2.อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า ข้อมูลของคนที่เรารู้จักผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด หากถูกชักชวนนัดเจอ ควรระมัดระวัง หรือต้องมีคนอื่นรับรู้ และติดตามไปด้วย เพราะมิจฉาชีพอาจจะใช้ช่องทางดังกล่าวในการล่อลวง
สิ่งที่ควรปฏิบัติทันทีเมื่อถูกกระทำรุนแรงผ่านสื่อสังคมออนไลน์
1.หยุดไม่ตอบโต้ หรือหยุดส่งต่อข้อมูลข้อความเหล่านั้น และเลิกใช้สื่อสังคมออนไลน์
2.เก็บหลักฐาน เพื่อใช้ประกอบในกรณีที่ต้องการรายงาน หรือแจ้งความโดยการสำเนา ถ่ายรูป เก็บเอกสาร ข้อความ ข้อมูลนั้นไว้ และบันทึกวัน เวลา ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นเพื่อกันลืม
3.บล็อค (block) หรือ เลิกเป็นเพื่อน (unfriend) บุคคลนั้น
4.แจ้งหรือรายงาน (report) ให้ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ นั้นๆ ทราบ ผ่านช่องทางที่ผู้ให้บริการให้ไว้ เช่น เว็บไซต์ อีเมล
5.แจ้งความ ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินคดี
เห็นได้ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนดาบสองคมที่มีทั้งผลดีและผลเสีย ดังนั้นการเรียนรู้เสริมทักษะการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต รู้จักการป้องกันตนไม่ให้ถูกทำร้ายจากสื่อออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญ และการควบคุมระยะเวลาในการเล่น จะช่วยให้สามารถมีเวลาพักผ่อนได้เพียงพอ เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ แบ่งเวลาออกกำลังกายได้ เท่านี้ก็ทำให้เรามีเวลาดูแลสุขภาพตนเอง และไม่ใช้เวลาทั้งหมดไปกับโลกออนไลน์
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th