อยู่ดีๆ (ความจำ) ก็หาย
หากจำไม่ได้ว่าทำโน่นทำนี่แล้วหรือยัง ทั้งๆ ที่ทำไปแล้ว อาการแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ คุณอาจเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า เอ๊ะ! นี่เราเป็นโรคสมองเสื่อมหรือเปล่า แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการที่เกิดขึ้นคือ “โรคสมองเสื่อม”
อาการภาวะสมองเสื่อมที่มีการสูญเสียความสามารถทางสมอง เช่น ความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ การใช้ภาษา ทิศทาง การใช้เหตุผลและการแก้ปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและบุคลิกภาพ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบอาชีพและกิจวัตรประจำวันได้ ซึ่งทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ในหลายด้าน โดยร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มสผส.) ศึกษาวิจัยและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งไทยและต่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการดำเนินการด้านผู้สูงอายุสำหรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย ตลอดจนเผยแพร่ความรู้และวิทยาการเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้แก่สังคมโดยรวม เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบในอีก 3 ปีข้างหน้า
10 สัญญาณเตือน บ่งบอกความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม
1.สูญเสียความจำระยะสั้น หลงลืมจนมีผลกระทบต่อการประกอบกิจวัตรประจำวัน ถามย้ำซ้ำไปซ้ำมา ลืมว่าเมื่อครู่พูดอะไรลืมนัดหมายที่สำคัญ
2.ทำกิจกรรมที่เคยทำประจำไม่ได้ เช่น ลืมเครื่องปรุงอาหารที่เคยทำประจำ หรือว่าลืมว่าต้องใส่อะไรก่อนหลัง
3.มีปัญหาในการใช้ภาษา ใช้คำผิด พูดไม่รู้เรื่อง เรียงลำดับคำผิด คิดไม่ออกว่าจะใช้คำอะไร
4.สับสนเรื่องเวลา สถานที่และทิศทาง หลงทิศทาง ทั้งๆ ที่เป็นสถานที่คุ้นเคย หลงทางกลับบ้านไม่ถูก หาทางไปเข้าห้องน้ำในบ้านตนเองไม่เจอ
5.ดุลพินิจบกพร่อง วิจารณญาณไม่ดี ตัดสินใจและแยกแยะความแตกต่างเรื่องระยะทางสีสัญญาณไฟจราจรไม่ได้ อาจส่งผลให้ให้เป็นปัญหาการขับรถได้
6.สติปัญญาด้อยลง คิดและทำเรื่องซับซ้อนไม่ได้ เดิมเคยคิดเลขได้ แต่กลับคิดเลขง่ายๆไม่ได้
7.วางของผิดที่ผิดทาง เช่นเอารีโมทโทรทัศน์ไปไว้ในตู้เย็น เก็บเสื้อผ้าในตู้กับข้าว
8.อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว เดี๋ยวร้องให้ โกรธนิ่งเฉยเมย ไม่มีอารมณ์ ไม่สนใจต่อสิ่งรอบข้าง
9.บุคลิคภาพเปลี่ยนไป มีพฤติกรรมที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จากเป็นคนเงียบๆ กลายเป็นคนช่างพูด ใส่เสื้อกันหนาวในวันที่อากาศร้อนจัด
10.ขาดความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนเฉื่อยๆ ซึม ไม่กระตือรือร้น นั่งเหม่อลอยเป็นชั่วโมง
แม้สาเหตุบางอย่างของสภาวะสมองเสื่อมจะยังไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่การดูแลผู้ป่วยความจำเสื่อมสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับลดความเสี่ยงต่างๆ ได้ดังนี้
1.เรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม ควรดูแลทั้งเรื่องอาหาร สภาพแวดล้อม โดยหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมอ่าน ปรึกษาแพทย์ เข้าอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม เพราะยิ่งมีความเข้าใจมามกขึ้น จะทำให้สามารถหาวิธีดู แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
2.ปรับสถานที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย เก็บของที่จะเป็ฯอันตรายทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือไฟไหม้ได้ง่าย เช่น กาต้มน้ำ ปลั๊กไฟ เตาแก๊ส ควนติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ที่มั่นคง อยู่ในที่ที่มีแสงสว่างเหมาะสม
3.เตรียมแผนสำรอง ในกรณีที่ตนเองมีภารกิจส่วนตัวจำเป็น หรือเจ็บป่วย ทุกคนในครอบครัวต้องมีส่วนร่วมไม่ทิ้งภาระทั้งหมดให้กับผู้ดูแลเพียงแค่คนเดียว สมาชิกคนอื่นในครอบครัวต้องเข้ามาดูแลผลัดเปลี่ยน ดูแลผู้ป่วยบ้างเพื่อให้ผู้ดูแลหลักได้พัก หรือมีเวลาของตนเองบ้าง
4.การดูแลตัวเองการที่เราจะสามารถให้การดูแลผู้อื่นได้ดีได้ ส่วนหนึ่งเราต้องสามาถลูแลตนเองให้มีสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจก่อนเสมอ
เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นอาจจะมีอาการหลงลืมได้บ้าง แต่หากคุณจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย อาจอยู่ในสภาวะเสี่ยงโรคสมองเสื่อม และสามารถเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เราทุกคนสามารถชะลอความเสื่อมได้ ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือบริหารสมองด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การท่องบทสวดมนต์ การร้องเพลง สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการดูแลตนเอง เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th