3 เทคนิคเปลี่ยน “เรซูเม่” ธรรมดาให้เตะตา HR (พิสูจน์แล้วว่าได้ผลตามหลักจิตวิทยา)
ต่อให้โลกยุคดิจิทัลจะพลิกโฉมโลกใบเดิม จนหลายองค์กรเริ่มมองหาทักษะแรงงานรุ่นใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมขนาดไหน แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยน คือ แรงงานยุคใหม่ยังต้องพิชิตด่านปราบเซียนนั่นคือ การเขียน “เรซูเม่” ซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างแบรนด์ดิ้งให้ตัวเอง เพื่อให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ของบริษัทที่หมายตาสนใจและเปิดโอกาสที่จะเรียกมาสัมภาษณ์ เพราะยิ่งโลกการทำงานยุคนี้มีการแข่งขันสูงเท่าไหร่ เรซูเม่ ที่เตะตาเท่านั้น ถึงจะไม่ลงเอยด้วยการกองอยู่ในอีเมลขยะ หรือจมอยู่กองเอกสาร
อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาจะมีสูตรสำเร็จในการสร้างเรซูเม่ให้น่าสนใจมากมายให้ท้าพิสูจน์ แต่สำหรับใครที่เจ็บมาเยอะกับสูตรสำเร็จเหล่านี้ ลองเปิดใจและทำตาม 3 เคล็ดลับง่ายๆ ดังต่อไปนี้ที่ได้รับการพิสูจน์ตามหลักจิตวิทยาแล้วว่าอัพเลเวลเรซูเม่ธรรมดาๆให้น่าสนใจได้
1.ใช้ตัวเลขการันตีผลงาน แทนที่จะบอกเล่าความสำเร็จที่ผ่านมาในเรซูเม่ด้วยการใช้ประโยคที่สวยหรู ร้อยเรียงอย่างสละสลวย ลองเปลี่ยนมาใช้อานุภาพของตัวเลขสถิติยืนยันผลงานและความสามารถที่มี
อย่างที่อริสโตเติล นักปรัชญาชาวกรีก เคยบอกไว้ว่า แม้จะมี 3 เสาหลักที่จำเป็นในการพูดจูงใจ ได้แก่ เหตุผล(Logos) หมายถึง การให้เหตุผล ข้อโต้แย้งที่มีตรรกะ มีเหตุผลที่หนักแน่น บุคลิกลักษณะ (Ethos) หมายถึง บุคลิกลักษณะของผู้พูดที่ดึงดูดใจคน ลักษณะภายนอกที่ดูน่าเชื่อถือ และ ความเข้าใจผู้อื่น (Panthos) หมายถึง ความสามารถในการเข้าถึงความรู้สึกนึกคิด และอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟัง แต่เสาที่สำคัญที่สุดคือ เสาแรกนั่นคือ เหตุผล เนื่องจาก การให้ข้อมูลที่ชัดเจน มีเหตุผลประกอบโดยเฉพาะตัวเลขสถิติมีแนวโน้มจะทำให้ผู้ฟังคล้องตามได้มากกว่า เช่นเดียวกับเรซูเม่ แทนที่จะบอกว่า คุณเคยบริหารงบประมาณที่มีเพื่อจัดอีเว้นต์ใหญ่สำหรับนักเรียนได้ ทำไมไม่ลองเปลี่ยนเป็น ฉันสามารถบริหารงบประมาณ 12,000 บาท เพื่อจัดอีเว้นต์ขนาดใหญ่สำหรับรองรับนักเรียน 2,500 คนได้ เป็นต้น
2.สร้างความแตกต่างทำให้ตัวเองให้ดูน่าค้นหา เดรก ศิลปิน และปรัชญา เคยกล่าวไว้ว่า “ให้เริ่มต้นจากราก” ซึ่งในที่นี้ หมายความว่าแทนที่จะให้ความสำคัญกับเรซูเม่ส่วนอื่นๆ อย่ามองข้ามอานุภาพของบรรทัดสุดท้ายในเรซูเม่ ที่มักอุทิศให้เป็นพื้นที่บอกเล่าถึงความสนใจ หลายคนเลือกใช้พื้นที่ตรงนี้บอกเล่าความสนใจของตัวเองว่าชอบดูหนัง ท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งไม่ต่างจากผู้สมัครอีกนับพัน เพราะฉะนั้น ถ้าลองคิดต่าง ลองคว้าโอกาสใช้พื้นที่ตรงนี้สะท้อนตัวตนที่ดูน่าสนใจและน่าค้นหา เพื่อให้เรซูเม่ของคุณเป็นที่จดจำ ยกตัวอย่างแทนที่จะบอกว่าชอบทำอาหาร ถ้าคุณมีความสนใจเฉพาะเจาะจง อาจระบุลงไปเลยว่าชอบทำอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรนียน หรือ สะสมเลโก้ อาจจะเจาะจงลงไปเลยว่าชอบสะสมคอลเล็คชั่น Star war เป็นต้น
เหตุผลที่ทำเช่นนั้น เพราะอย่างที่อดัม แกรนต์ นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์จากโรงเรียนธุรกิจวาร์ตัน เจ้าของแนวคิด “Give and take“ เคยบอกไว้ว่า เราจะเป็นที่ต้องการเมื่ออีกฝ่ายรู้สึกเราเป็นของที่หายาก และไม่เหมือนใคร
3.แสดงตัวตนของคู่แข่งออกมาให้เห็น สำหรับเจ้าของเรซูเม่ที่มีรางวัลการันตีความสามารถมากมาย แทนที่จะบอกแค่ว่าไปประลองฝีมือในรายการไหนมา คว้ารางวัลที่เท่าไหร่มาครอง ลองฉายสปอร์ไลท์ไปที่จำนวนคู่แข่งที่คุณต้องฝ่าด่านเหินพื่อเอาชนะมาอีกนิด แล้วอาจพบผลลัพธ์ที่แตกต่าง ยกตัวอย่าง แทนที่จะบอกว่าคุณชนะการประกวดการแข่งขันออกแบบนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ลองขยายความเพิ่มไปว่า คุณได้รับรางวัล 100,000 บาทจากการประกวดการแข่งขันออกแบบนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยซึ่งมีเข้าแข่งขันมากกว่า 80 คน เป็นต้น
ดั่งที่ โรเบิร์ต บี ชาลดินี นักจิตวิทยาชื่อดัง กล่าวว่า การเผยโฉมผู้แข่งขัน ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของคุณ และยังเป็นการป้องกันทางอ้อมว่า ผู้สัมภาษณ์หรือ HR อาจไม่รู้จักการแข่งขันหรือรางวัลที่คุณพูดถึง เพราะฉะนั้นการให้ข้อมูลเพิ่มเติมอาจเพิ่มคุณค่าให้เรซูเม่ของคุณไม่ถูกมองผ่าน
ก่อนกดส่งเรซูเม่ครั้งหน้า ลองเช็คดูซิว่าได้นำทั้ง 3 เทคนิคนี้มาลองใช้ดูหรือยัง?