"อาคม"ชี้แจง รฟท.ไม่ล้มแผนสร้างรถไฟฟ้าสีแดงเข้ม
"อาคม"ยืนยัน รฟท.เดินหน้าก่อสร้างโครงการไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง – มหาชัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้า10เส้นทาง เล็งของบปี63 จ้างที่ปรึกษาดูอีไอเอบริเวณอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวยกเลิกโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง – มหาชัย ว่าได้รับการยืนยันจาก นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการภายใต้แผนงานระบบขนส่งมวลชนทางราง ระยะที่ 1 โดยโครงการปัจจุบันได้ดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการไว้แล้วตั้งแต่ปี 2550 แต่ยังคงอยู่ระหว่างการปรับแก้ไข ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติให้ปรับแบบการก่อสร้างโดยเฉพาะช่วงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง – มหาชัย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เคยศึกษาความเหมาะสมไว้ โดยเสนอให้ทำการปรับปรุงทางรถไฟสายแม่กลองเดิม จากสถานีหัวลำโพงไปยังอำเภอมหาชัยจังหวัดสมุทรสาคร ระยะทางในช่วงนี้ 38กิโลเมตร และและจะสามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดสมุทรสงครามที่สถานีปากท่อในระยะต่อไป
ทั้งนี้ในการศึกษาฯ ของ สนข. ได้แบ่งความต้องการออกเป็น 2 ส่วน คือ แผนการพัฒนาทางรถไฟให้เชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์จากหัวลำโพงถึงมหาชัยก่อน และอีกส่วนหนึ่ง คือ การพัฒนาศูนย์คมนาคมขนส่งตากสินเพื่อเป็นการขยายเขตการให้บริการรถไฟชานเมืองและระบบขนส่งมวลชน โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง – มหาชัย จะเป็นรถไฟฟ้าชานเมืองที่มีรูปแบบ (Commuter Train) มีระบบจ่ายไฟเหนือหัว (Catenary) สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าระบบจ่ายไฟรางสาม (Third Rail) ที่ใช้กันอยู่ในโครงข่ายของรถไฟฟ้าในเขตเมืองที่ทำความเร็วสูงสุดได้แค่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นรถไฟชานเมือง และสามารถต่อระยะทางให้ยาวขึ้นได้
อย่างไรก็ตามยืนยันว่าโครงการดังกล่าวยังอยู่ในแผนงานของ รฟท. และจะดำเนินการของบประมาณประจำปี 2563 จ้างที่ปรึกษาทบทวนแบบรายละเอียดและจัดทำเอกสารประกวดราคา วงเงิน 90 ล้านบาท เพื่อดำเนินการออกแบบการก่อสร้างใหม่ในส่วนเฉพาะที่มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่อาจจะปรับแผนการดำเนินงานโดยออกแบบเป็นอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมต่อระหว่างหัวลำโพง - วงเวียนใหญ่ก่อน และก่อสร้างเป็นทางวิ่งระดับดินและยกระดับตั้งแต่วงเวียนใหญ่ - มหาชัย โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเชื่อมต่อโครงข่ายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ ตลอดจนบริเวณวงเวียนใหญ่ และเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่แยกท่าพระได้ อันเป็นผลทำให้มีโครงข่ายที่สมบูรณ์
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net