ยุทธการปราบเสือ ตีแมลงหวี่ แคมเปญปราบคอร์รัปชันของสี จิ้นผิง 

นับตั้งแต่ สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี ค.ศ. 2013 นโยบายที่ “โดนใจ” คนจีนมากที่สุด เห็นจะเป็นการปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างเอาจริงเอาจังภายใต้แคมเปญที่ว่า ปราบเสือ ตีแมลงหวี่ (Killing tigers and swatting flies)

 

ด้วยท่าทีอันถ่อมตนของสี จิ้นผิง ทำให้เขากลายเป็นผู้นำใจดี มีเมตตาและมีเสน่ห์อยู่เสมอ แต่เมื่อลงมือปฏิบัติแล้วกลับรวดเร็ว เด็ดขาด เข้มงวด ไม่มีผ่อนปรนแต่อย่างใด ทำให้ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา การปราบปรามคอร์รัปชันของจีนถูกกล่าวขวัญบ่อยที่สุดว่า “เอาจริง ไม่มีปาหี่”

 

การปราบปรามคอร์รัปชันของรัฐบาลจีนอาจจำแนกได้ในสองลักษณะ กล่าวคือ การปราบคอร์รัปชันในกลุ่มสมาชิกพรรค และการปราบคอร์รัปชันในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ

 

การปราบคอร์รัปชันลักษณะแรก คือ การจัดการกับสมาชิกพรรคที่ฉ้อฉล คอร์รัปชัน ซึ่งโดยมากมักเป็นกลุ่มผู้นำองค์กรที่ได้โปรโมตจากพรรค ทั้งนี้รัฐบาลมีคณะกรรมการตรวจสอบวินัยแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ (Central Commission for Discipline Inspection หรือ CCDI) ที่นับวันยิ่งจะทรงอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ

 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา CCDI ได้ประกาศรายงานล่าสุดว่า ปี 2017 CCDI ได้ลงโทษทางวินัยสมาชิกพรรคไปแล้ว 527,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับรัฐมนตรีถึง58 คน

ปัจจุบันสี จิ้นผิง มอบหมายให้นายจ้าว เล่อจี้ (Zhao Leji) ทำหน้าที่เลขาธิการ CCDI

นายจ้าว เล่อจี้ มือปราบคอร์รัปชันประจำพรรคในสมัยที่สองของ สี จิ้นผิง ที่มาภาพ : https://news.cgtn.com/news/3263544d32597a6333566d54/img/b57cf310-227a-4462-9a1c-8271ad620ce0.jpg

 

…จะว่าไปแล้ว CCDI เปรียบเสมือน “หมัดเหล็ก” ที่ สี จิ้นผิง ใช้กำราบสมาชิกพรรคที่ทุจริต แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง CCDI คือเครื่องมือที่ท่านประธานสีใช้จัดการกับศัตรูทางการเมืองที่มีชนักติดหลังเป็นเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชัน(ตัวอย่างที่ชัดเจน กรณีของนายป๋อ ซี ไหล และ โจว หย่งคัง)

 

นอกจาก CCDI จะเป็นมือไม้ให้รัฐบาลสีปราบปรามทุจริตแล้ว สี จิ้นผิง ยังได้เลือกใช้บริการองค์กรตรวจเงินแผ่นดินจีน (Chinese National Audit Office) หรือ CNAO ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตอีกเช่นกัน

 

CNAO ถือกำเนิดเมื่อปี ค.ศ. 1983 หน้าที่หลักคือ ตรวจสอบความถูกต้องของหน่วยงานรัฐที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ทั้งนี้ CNAO ไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชันมากนัก เนื่องจากเมื่อตรวจพบพฤติการณ์ผิดปกติ CNAO จะรายงานพฤติการณ์ดังกล่าวให้ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

 

CNAO เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เมื่ออดีตผู้ว่าการ สตง.จีน (Auditor General)นายหลี จิ้นหัว (Li Jinhua) เสนอรายงานภาพรวมการทำงานตรวจสอบของ CNAO ต่อที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 10 ซึ่งการนำเสนอรายงานในครั้งนั้นแสดงข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันจำนวนมากที่พบจากการตรวจสอบ จนทำให้หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลกับปัญหาคอร์รัปชันที่กำลังทำลายสังคมจีน

หลี จิ้นหัว อดีตผู้ว่าการ สตง.จีน ผู้จุดประเด็นปัญหาคอร์รัปชันในสังคมจีนยุคใหม่ ที่มาภาพ : http://images.china.cn/attachement/jpg/site1007/20090917/0019b91ed7d10c1bed8815.jpg

 

ผลสะเทือนครั้งนั้นทำให้เกิดศัพท์ในแวดวงการเมืองจีนว่า Audit Storm เพราะพลันที่ หลี จิ้นหัว นำเสนอรายงานต่อที่ประชุมพรรค สื่อมวชนจีนได้ตีข่าว และกลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมจีนจนกระทั่งเกิดการตรวจสอบครั้งใหญ่ราวกับพายุที่ทำให้สังคมจีนเริ่มเรียนรู้แล้วว่าปัญหาคอร์รัปชันภายในประเทศไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป

 

CNAO ยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนางานตรวจสอบจนเป็นที่โดดเด่นในเวทีการตรวจเงินแผ่นดินโลก

 

หลังเหตุการณ์ Audit Storm สตง.จีน ได้พัฒนาแนวทางการตรวจสอบที่เรียกว่า Real-time Audit ขึ้นในสมัยของนายหลิว เจียยี่ (Liu Jiayi) เป็น Auditor General โดยแนวคิดของ Real-time Audit คือ การตรวจสอบให้เป็นปัจจุบันทันกาล สามารถยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเงินแผ่นดินก่อนเบิกจ่ายได้

 

ที่มาของ Real-time Audit เริ่มต้นหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มณฑลเสฉวนในปี ค.ศ. 2008 ทำให้การฟื้นฟูมณฑลจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาลทั้งจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น อย่างไรก็ดี เมื่อเม็ดเงินความช่วยเหลือลงไปในพื้นที่ประสบภัยจำนวนมาก โอกาสรั่วไหลและทุจริตก็เกิดขึ้นได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ CNAO จึงใช้วิธีการตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และติดตามความก้าวหน้าของโครงการช่วยเหลือนั้นไปด้วย โดยไม่ต้องรอให้โครงการช่วยเหลือนั้นแล้วเสร็จจึงลงตรวจ

นายหลิว เจียยี่ อดีต Auditor General จีน
ที่มาภาพ :http://en.sdcom.gov.cn/attachments/image/20180309/901d93ae-30cf-4a59-b241-e956c090e62d.jpg

 

ต่อมา แนวคิด Real-time Audit ได้รับการสนับสนุนด้วยเทคโนโลยีการตรวจสอบที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในยุคที่ Big Data Analytic กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการตรวจเงินแผ่นดิน1

 

นอกเหนือจาก Real-time Audit แล้ว CNAO มีการตรวจสอบอีกประเภทที่เรียกว่า Economic Accountability Audit ซึ่งเป็นการตรวจสอบผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (State-owned Enterprises) ที่เมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จะต้องแสดงทรัพย์สินเพื่อให้ CNAO ตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินส่วนตัวอย่างไร สมเหตุสมผลหรือไม่

 

…พูดง่ายๆ คือ CNAO ตรวจสอบการยื่นบัญชีทรัพย์สินของเหล่าสมาชิกพรรคที่ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ด้วย

 

หลังจาก สี จิ้นผิง ขึ้นครองอำนาจ ในปี ค.ศ. 2013 นโยบายการปราบปรามการคอร์รัปชันเป็นนโยบายสำคัญที่ชูขึ้นมา ที่สำคัญ สีทำจริง ไม่กลัวใครหน้าไหน…โดย สี จิ้นผิง มอบหมายให้หลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแล CNAO

 

ในยุคของสี จิ้นผิง CNAO เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ “ปิดทองหลังพระ” เพราะเรื่องทุจริตอื้อฉาวที่เป็นประเด็นในสังคมจีน ล้วนแล้วแต่มาจากการตรวจสอบของ CNAO

 

สี จิ้นผิง เคยให้กำลังใจกับเหล่าผู้ตรวจสอบของ CNAO ไว้ว่า การทำหน้าที่ตรวจสอบขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินจีนเปรียบเสมือน “ดาบ” ที่ปราบคนโกง

 

อย่างที่กล่าวไปแล้วตอนต้นว่า สี จิ้นผิง เป็นผู้นำที่ “อ่อนนอกแต่แข็งใน” เขาให้ความสำคัญกับการตรวจสอบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะหลังการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 19 เมื่อปีที่แล้ว สี จิ้นผิง จัดทัพ ปรับกระบวนงานใหม่เพื่อทำให้การบริหารประเทศในสมัยที่ 2 ของเขาเต็มไปด้วยความราบรื่น

 

…หนึ่งในหน่วยงานที่ถูกปฏิรูป ยกเครื่อง คือ CNAO

 

หลังจากที่หลิว เจียยี่ หมดวาระการดำรงตำแหน่ง Auditor General แล้ว สี จิ้นผิง ได้แต่งตั้งนางหู เซจุน (Hu Zejun) ขึ้นมาเป็น Auditor General

นางหู หรือมาดามหู นับเป็น Auditor General หญิงคนแรกของจีน

มาดามหู เซจุน Auditor General คนปัจจุบันของ CNAO ที่มาภาพ : http://czech.cri.cn/mmsource/images/2018/03/19/0711c740a27740df905d367379385b9d.jpg

 

ขณะเดียวกัน สี จิ้นผิง ได้ปฏิรูปการตรวจเงินแผ่นดินจีนด้วยการรวมศูนย์อำนาจให้อยู่ในรูปของคณะกรรมการกลางด้านการตรวจเงินแผ่นดิน (The Central Audit Committee) โดยเขานั่งเป็นประธาน มีนายหลี่ เค่อเฉียง และนายจ้าว เล่อจี้ จาก CCDI เป็นรองประธาน

 

การปฏิรูปการตรวจเงินแผ่นดินจีนครั้งนี้ ทำโดยการยุบรวมหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบติดตามรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเรื่องการเบิกจ่ายเงิน ตลอดจนหน่วยงานที่ทำหน้าที่ติดตามโครงการขนาดใหญ่ของจีน…หน่วยงานที่ว่านี้ถูกยุบรวมเข้ากับ CNAO และมีคณะกรรมการกลางด้านการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้กำกับดูแล ให้นโยบาย และติดตามผลการตรวจสอบที่สำคัญ

 

การปฏิรูปการตรวจเงินแผ่นดินจีนครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมจีนที่มี สี จิ้นผิง เป็นแม่ทัพใหญ่

 

  • จาก “ปฏิบัติการกำจัดแมลงวันและฝูงพยัคฆ์” สู่ “ปฏิบัติการไล่ล่าหมาจิ้งจอก 2014” ของสี จิ้นผิง

 

หมายเหตุ 1.ปัจจุบัน CNAO เป็นประธานคณะทำงานการพัฒนาการตรวจสอบโดยการใช้ Big Data (Working Group on Big Data) ขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดของโลก (INTOSAI)

 
ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org