เปิดศักราชใหม่...เตรียมรับมือชีวิตติดสปีดแบบ 5G
ความสามารถของเทคโนโลยี 5G มีการคาดการณ์ว่าจะพลิกโฉมโลกใบนี้อีกครั้ง ไมใช่เป็นผลจากอัตราความเร็วในการส่งข้อมูลที่สูงขึ้น ถึง 10 กิกะบิต/วินาที (จากปัจจุบัน 4G มีอัตราความเร็วในการส่งข้อมูล 100 เมกะบิต/วินาที) แต่รวมทั้งระยะเวลาการตอบสนอง (Latency) ในการรับส่งข้อมูลที่เร็วยิ่งขึ้น เปิดทางให้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับ วงการแพทย์การผ่าตัดทางไกลที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง ฯลฯ
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจในงานสัมมนา 5G จุดเปลี่ยน Landscape เศรษฐกิจ-การเมืองไทยจัดโดยหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน ก.ค.2554 ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการ 3G อยู่ทั้งสิ้น 1 ล้านเลขหมาย จากผู้ใช้มือถือทั้งหมดขณะนั้นที่ 77.4 ล้านเลขหมาย ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ใช้ 3G และ 4G อยู่ทั้งสิ้น 123.5 ล้านเลขหมาย จากจำนวนผู้ใช้บริการมือถือทั้งหมด 125 ล้านเลขหมาย
สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ของไทย ช่วงปีก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2553 มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊คในประเทศไทยประมาณ 6.1 ล้านบัญชี ปัจจุบันเพิ่มเป็น 49 ล้านบัญชี มากเป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าไลน์ซึ่งมีผู้ใช้งาน 44 ล้านบัญชี ขณะที่ทวิตเตอร์มีผู้ใช้งาน 7 หมื่นบัญชี เพิ่มเป็น 13.6 ล้านบัญชี ส่วนยูทูบ จาก 1.2 แสนบัญชี เพิ่มเป็น 6 ล้านบัญชี และมีการใช้งานเฉลี่ย 2.4 ชั่วโมงต่อวัน
สถิติดังกล่าว ตอกย้ำถึงการเข้ามามีบทบาทสำคัญของอินเตอร์เนตในชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างไร้ข้อกังขา ซึ่งเมื่อผนวกกับการปรากฏตัวของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอย่าง 5G จะนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ-การเมืองอย่างมีนัย ทั้งนี้ฐากูร ได้ชี้ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจาก 5 จี ใน 5 ด้านดังต่อไปนี้
1.ภาคการผลิตมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI), หุ่นยนต์ ตลอดจนอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ จากการประเมินขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ประเมินไว้ว่า 14% ของแรงงานมีความเสี่ยงที่จะตกงาน ขณะที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดคาดการณ์ว่า 47%ของแรงงงานมีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนด้วย AI
2.ห่วงโซ่อุปทานจะเปลี่ยนแปลงไป นอกจากผู้ผลิตจะขายสินค้าตรงให้กับลูกค้าโดยผ่านแพลตฟอร์มที่คิดค้นขึ้น จากเดิมที่เน้นการผลิตจำนวนมาก ส่งผ่านตัวแทน จะกลายเป็นการผลิตแนวใหม่ที่เน้นการผลิตตามความต้องการของลูกค้าแล้วขายผ่านแพลตฟอร์มเพื่อกระจายสินค้าตรงไปยังลูกค้า
3.เปลี่ยนแปลงทฤษฎีอุปสงค์และอุปทาน ทฤษฎีของอดัม สมิท จะถูกท้าทายจากการนำบิ๊กดาต้า (Big Data) มาผนึกกำลังกับปัญญาประดิษฐ์ ในการคำนวณตัวเลขความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าและผลิตสินค้าออกมาตามจำนวนนั้นอย่างแม่นยำ เน้นสินค้าที่เป็นเฉพาะกลุ่ม (Customized Product) มากขึ้น
4.ภาคธุรกิจที่เป็นตัวกลางในการประกอบธุรกิจถูกลดบทบาทและหายไปในที่สุด เช่น ธนาคาร เอเจนท์ทัวร์ ตลอดจนร้านค้า
“ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ธนาคาร ในอนาคตเจ้าหน้าที่สินเชื่ออาจถูกแทนที่ด้วย AI ซึ่งมีความแม่นยำในการประเมินความเสี่ยงมากกว่า หรือ ในอนาคตรูปแบบการกู้เงิน อาจไม่ต้องมีธนาคาร แต่คนที่มีเงินสามารถปล่อยกู้ผ่านแพลตฟอร์ม ขณะที่เอเจนต์ทัวร์ ถ้าไม่ปรับตัว อาจจะค่อยๆ หายไป เพราะปัจจุบันมีแพลตฟอร์มมากมายเข้ามาตอบโจทย์นักเดินทาง เช่น Agoda, Booking ฯลฯ
5.จะเกิดธุรกิจใหม่ๆ ตามเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น เช่น การแพทย์ระยะไกล (Telemedicine) หรืออาจมีการใช้เทคโนโลยี AI และ เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality หรือ VR) มาพัฒนาจนเกิดเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งจะมาตอบโจทย์แรงงานมนุษย์ที่ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์
นอกจากด้านเศรษฐกิจ อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ ด้านการเมือง ซึ่งจำแนกออกเป็น 2 ด้าน
1.การเปลี่ยนแปลงด้านการเลือกตั้ง สิทธิของผู้เลือกตั้งจะไร้พรมแดน จากปัจจุบัน เป็นการลงคะแนนลับในสถานที่กลาง มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ในอนาคตยุค 5G การลงคะแนนสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนผ่านระบบออนไลน์ ยืนยันตัวตนได้ทุกหน่วยเลือกตั้ง ผ่านระบบไบโอแมทริกซ์ (biometrics) หรือ การใช้ข้อมูลทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเฉพาะทางกายภาพหรือพฤติกรรม มาใช้ในการตรวจสิทธิหรือแสดงตน เช่น ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ เสียง ม่านตา เรตินา ใบหน้า ดีเอ็นเอ หรือ ถ่ายรูปเพื่อเก็บหลักฐาน
นอกจากนี้หากมีการลงคะแนนลับก็สามารถทำได้ทุกหน่วยเลือกตั้งแบบดิจิทัล ไม่ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา สามารถรู้ผลการเลือกตั้งทันทีที่ลงคะแนนเสร็จสิ้น ลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นด้วยระบบบล็อกเชน (Blockchain)
2.โครงสร้างการหาเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัครจะไม่ต้องผ่านตัวกลาง จากที่ผ่านมาต้องหาเสียงผ่านคนกลาง ใช้ระบบหัวคะแนนเพื่อเข้าหาคนในพื้นที่ ใช้สื่อกลางอย่าง ป้าย แผ่นพับไปติดตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้คนเห็น เป็นการสื่อสารทางเดียว ในอนาคตจะเปลี่ยนโฉมมาเป็นการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ใช้ VR หรือ AR ในการเข้าถึงประชาชนโดยตรงทุกพื้นที่พร้อมกัน ใช้บิ๊กดาต้าวิเคราะห์และสังเคราะห์กลุ่มฐานเสียงและนโยบายตามความต้องการ อาศัยการสื่อสารสองทาง มุ่งเน้นการเข้าถึงและสื่อสารกับประชาชนเป็นรายคน
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แล้วคุณล่ะ? พร้อมหรือยังที่จะรับมือกับ 5 จี