รถไฟไทย-จีนสะดุดติดปมสเปคงานระบบ4หมื่นล้าน
รถไฟไทย-จีน ตกขบวนครม.สัญจรอีสาน หลังติดปมสเปคงานระบบ 4 หมื่นล้าน เผยจีนไม่แจงรายละเอียดทำเปรียบเทียบราคาไม่ได้ คมนาคมปัดข้อเสนอจีนการันตีไฮสปีดแค่ 1 ปี แจงเวลาน้อยเกินไปไม่สอดคล้องมูลค่าสินค้า
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท นั้นพบว่ายังติดปัญหาในหลายประเด็นรวมถึงต้องรอฝ่ายจีนส่งข้อมูลายละเอียดต่างๆกลับมา ดังนั้นจึงยังไม่สามารถเสนอร่างสัญญาให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร ลงพื้นที่จ.บึงกาฬและจ.หนองคาย ระหว่างวันที่ 12-13 ธ.ค.นี้
ทั้งนี้จะเร่งสรุปเพื่อขอความเห็นชอบภายในเดือน ม.ค. ก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาดังกล่าวในงานการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 ม.ค. ณ กรุงปักกิ่ง
นายชัยวัฒน์กล่าวต่อว่าข้อติดขัดเรื่องสัญญา 2.3 นั้นเป็นเรื่องสเป็ครายละเอียดการถอดแบบและมูลค่าของสัญญา(BOQ) เนื่องจากฝ่ายจีนได้ให้รายละเอียดของตัวเลขค่าใช้จ่ายในแต่ละส่วนแบบเหมารวมเป็นตัวเลขก้อนใหญ่ แต่ไม่มีการชี้แจงว่าแต่ละจุดนั้นมีรายละเอียดแยกย่อยอะไรบ้าง ดังนั้นจึงตรวจสอบเปรียบเทียบราคาระหว่างสินค้าสเป็คที่จีนเสนอกับสินค้าทั่วไปตามท้องตลาด อีกทั้งยังอาจขัดกับหลักกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทยที่ต้องชี้แจงค่าใช้จ่ายได้เพื่อความโปร่งใสของโครงการ
อย่างไรก็ตามต้องรีบลงนามสัญญาให้จบเพราะรถใช้เวลาผลิตนานถึง 6 ปีและทยอยนำเข้ามาประกอบทีละชิ้นเพื่อให้ทันกับการเปิดเดินรถในปี 65-66 แต่ทั้งนี้ยังสรุปราคาไม่ได้เพราะบริษัทรัฐวิสาหกิจจีนที่เป็นคู่สัญญานั้นไม่สามารถผลิตตัวรถเองได้และต้องเปิดประมูลจ้างเอกชนจีนผลิต
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการประกันสินค้ารถไฟความเร็วสูงซึ่งจีนเสนอมาเพียงปีเดียวนั้นกระทรวงคมนาคมยังมองว่าไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นสินค้ามูลค่ามากดังนั้นจึงควรให้หลักประกันตามมาตรฐานสากลซึ่งต้องมีอย่างน้อย 2 ปีเป็นต้นไป ขณะที่งานสัญญาก่อสร้างนั้นจะเร่งทยอยประมูลให้ครบทั้ง 14 สัญญามูลค่าราว 1.2 แสนล้านให้ครบทั้งหมดภายในไตรมาสแรกปี 62
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net