4 เทคนิคเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็น “Work-Life Integration” มัดใจคนทำงานยุคใหม่
4 เทคนิคเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็น “Work-Life Integration” มัดใจคนทำงานยุคใหม่
จะดีกว่าไหมถ้าคนทำงานสามารถจัดการเรื่องงานและใช้ชีวิตส่วนตัวไปพร้อม ๆ กันได้ เพราะการแบ่งสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวออกจากกันโดยสิ้นเชิงอย่าง Work-Life Balance ดูเป็นเรื่องที่จะทำได้ยาก เนื่องจากในความเป็นจริงคนทำงานหลายคนก็ยังตอบลูกค้าหรือคุยงานทางโทรศัพท์แม้ว่าจะเป็นเวลาเลิกงานไปแล้วก็ตาม นั่นเป็นเพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้เอื้อให้เราสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลามากขึ้น ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างอิสระ ตลอดจนมีระบบคลาวด์ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลจากที่ไหน เวลาใดก็ได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทำงาน ทำให้เริ่มมีการนำแนวคิด “Work-Life Integration” หรือการผสมผสานชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวเข้าด้วยกัน มาปรับใช้ในการทำงานมากขึ้น ซึ่ง 4 เทคนิคเปลี่ยนองค์กรเป็น “Work-Life Integration” เพื่อมัดใจคนทำงานยุคใหม่และเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับการปรับตัวรองรับรูปแบบการทำงานในอนาคต โดยเทคนิคเหล่านี้จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
- เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Hours) –เริ่มต้นกันที่เรื่องของเวลาในการทำงาน เพราะแนวคิดแบบ “Work-Life Integration” จะเน้นที่ประสิทธิภาพงานมากกว่าเวลาเข้า-ออก ซึ่งหลายบริษัทในประเทศไทยเริ่มนำเทคนิคนี้มาปรับใช้กันมากขึ้น ด้วยการให้พนักงานจัดสรรชั่วโมงในการทำงานด้วยตัวเอง แทนที่จะต้องเข้าทำงาน 9 โมงเช้า เลิก 6 โมงเย็น ก็ให้พนักงานเก็บชั่วโมงการทำงานตามจำนวนที่กำหนดไว้ในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับรูปแบบในการทำงานของคนแต่ละประเภท อย่างคนที่ชอบตื่นเช้า (Early Bird) อาจต้องการเข้างานเช้ากว่าคนอื่น ๆ และเลิกงานเร็วขึ้นเพื่อไปทำกิจกรรมตามที่ต้องการ หรือคนที่ชอบใช้ชีวิตกลางคืน (Night Owl) มักจะไม่มีสมาธิกับการทำงานในช่วงกลางวัน ก็อาจจะเข้างานสายหน่อยแต่กลับค่ำกว่าคนอื่น ๆ เป็นต้น ดังนั้นการจัดสรรเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น จะช่วยให้พนักงานได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ตามแบบที่เขาต้องการ
- ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Remote Working) –อย่างที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เราเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ไร้พรมแดนด้านการสื่อสาร เวลา และสถานที่ทำงาน ทำให้การเข้าออฟฟิศเพื่อนั่งทำงานไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุดอีกต่อไป เพราะแค่มีโน้ตบุ๊คสักเครื่องและอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำงานจากมุมไหนของโลกได้แล้ว เมื่อมีการประชุมก็สามารถ Video Conference หรือหากต้องการส่งงานก็สามารถส่งผ่าน Cloud Serverได้ ซึ่งบริษัทในองค์กรประเภทสตาร์ทอัพ (Startup) เริ่มนำเทคนิคนี้ไปปรับใช้กันแล้ว ในขณะเดียวกันฝั่งพนักงานเองก็ต้องมีความรับผิดชอบและจัดตารางการทำงานของตัวเองให้ดี เพราะทั้งเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นและทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำให้เราอยู่ในกฎระเบียบของบริษัทน้อยลง หากไม่จัดการตารางชีวิตให้ดีก็อาจส่งผลกระทบกับการทำงานส่วนอื่น ๆ ได้
- สวัสดิการและสิทธิพิเศษที่เลือกได้ (Customizable Perks) -เป็นการให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นรายบุคคลมากขึ้น เพราะพนักงานแต่ละคนล้วนมีความสนใจที่แตกต่างกัน บางคนชอบดนตรีและความบันเทิง อาจต้องการส่วนลดบัตรคอนเสิร์ตหรือบัตรชมภาพยนตร์ บางคนอยากได้เงินสนับสนุนค่าสมาชิกฟิตเนส หรือบางคนก็ต้องการวันลาพักร้อนที่มากกว่าปกติ ดังนั้นการให้พนักงานเลือกสวัสดิการและสิทธิพิเศษอื่น ๆ ด้วยตัวเองได้นั้น นอกจากจะช่วยจูงใจให้คนอยากเข้ามาทำงานกับองค์กรแล้ว ยังเป็นวิธีที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรใส่ใจในตัวของพนักงาน ซึ่งจะช่วยรักษาคนที่มีศักยภาพไว้ได้อีกด้วย
- สร้างโอกาสทางการเรียนรู้ (Invest in Training) –เพราะโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะคนยุคมิลเลนเนียลที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักในหลาย ๆ องค์กร ซึ่งคนเหล่านี้มีความรู้สึกว่าหากบริษัทสนับสนุนการเติบโตของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นการเปิดคอร์สอบรมภายในบริษัท การส่งพนักงานไปอบรมหรือศึกษาดูงาน รวมถึงการสนับสนุนค่าเรียนพิเศษเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับงาน จะช่วยให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองและเติบโตไปพร้อมกับองค์กรได้นั่นเอง
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเทคนิคบางส่วนในการเปลี่ยนองค์กรสู่การเป็น “Work-Life Integration” ซึ่งแต่ละองค์กรสามารถนำไปเป็นแนวทางในการปรับใช้ให้เหมาะสม เพื่อรองรับกับพฤติกรรมและค่านิยมของคนทำงานที่กำลังเปลี่ยนไป เพราะหากองค์กรมีแรงจูงใจที่เหมาะสมจะทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความพึงพอใจกับงานและมีทัศนคติที่ดีกับองค์กร ซึ่งส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ส่วนคนทำงานเองเมื่อองค์กรให้ความอิสระก็ต้องมีความรับผิดชอบพร้อมทั้งต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้มีทักษะที่เหมาะกับงานและสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : Job Thai