นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2561 จะขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการบริโภค และการใช้จ่ายภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2561 ซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมทบทวนประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2561 ใหม่อีกครั้งในเดือน ม.ค. 2562 จากปัจจุบันคาดการณ์อยู่ที่ 4.5%

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2561 ขยายตัวที่ 4.9%, ไตรมาส 2/2561 ขยายตัว 4.6% และไตรมาส 3/2561 ขยายตัวลดลงอยู่ที่ 3.3% พร้อมทั้งได้มีการปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 2561 ลงเหลือ 4.2% โดยในส่วนของกระทรวงการคลังยังต้องประเมินตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค. นี้อีกครั้ง ก่อนพิจารณาปรับประมาณการณ์จีดีพี

 

“ยังต้องติดตามภาพรวมเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค. 2561 อีกครั้ง ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในเดือนนี้ คือการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก ส่วนเท่าที่ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า พบว่าปัจจัยภายในประเทศยังเติบโตสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี” นายพิสิทธิ์ กล่าว

 

สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้น เบื้องต้นมองว่าในระยะสั้นจะไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ เพราะการขับเคลื่อนนโยบายการเงินจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อส่งผ่านผลของมาตรการสู่ระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งปัจจุบันไทยยังมีสภาพคล่องในระบบสูง รวมถึงนโยบายการคลังยังทำหน้าที่ในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี 

 

ทั้งนี้ ในส่วนเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย. 2561 ยังขยายตัวดีจากการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ขยายตัว 9.6% สูงสุดในรอบ 4 เดือน รวมถึงการลงทุนภาคเอกในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวสูงถึง 26.9% รวมถึงการท่องเที่ยวก็เริ่มมาขยายตัวได้ดี หลังจากรัฐบาลแก้ปัญหาและมีมาตรการฟรีวีซ่า

 

นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สศค. เปิดเผยว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเป็นรายไตรมาสจะขยายตัวลดลงต่อเนื่อง แต่หากดูเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1 ขยายตัว 3.7% ไตรมาส 2 ขยายตัว 4.5% และไตรมาส 3 ขยายตัวได้ 5%

 

นอกจากนี้ หากดูจากการขยายตัวของแวตที่สะท้อนจากการบริโภคในประเทศเป็นสำคัญไตรมาส 1 ขยายตัว 4.1% ไตรมาส 2 ขยายตัว 6% ไตรมาส 3 ขยายตัว 6.6% และในเดือน ต.ค. และพ.ย. แวตขยายตัวถึง 8.4% แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจภายในประเทศยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net