ปี 2561 นับเป็นอีกปีที่สถานการณ์ธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีหลายประเด็นให้ติดตามตลอดทั้งปี เพราะแม้จะมีความท้าทายสำคัญจากผลกระทบของรายได้ค่าธรรมเนียมที่หดตัวลง หลังการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนผ่านช่องทางดิจิทัล แต่ก็มีภาพด้านบวกเข้ามาช่วยชดเชยจากการเติบโตของสินเชื่อที่มีโอกาสจะจบปี 2561 ด้วยอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 6.0% โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อรายย่อยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี

 

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า มีหลายโจทย์สำคัญที่รออยู่ในช่วงปี 2562 ซึ่งท้าทายความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีโอกาสขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าในปี 2561 ซึ่งน่าจะมีผลจำกัดกรอบการเติบโตของสินเชื่อในภาพรวมไว้ที่ประมาณ 4.0-6.0% และทำให้ยังต้องติดตามประเด็นด้านคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจจะทยอยปรับตัวขึ้นในระหว่างปี 2562 ภายใต้เงื่อนไขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การทยอยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลในช่วงปี 2562 นั้น อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมรับมือกับสภาวะการแข่งขันที่อาจจะเข้มข้นขึ้น ทั้งจากโมเดลดิจิทัลของผู้เล่นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเอง และจากผู้เล่นอื่นๆ อาทิ ผู้ประกอบการในกลุ่ม FinTech และกลุ่ม TechFin รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการ e-commerce

 

แนวโน้มสินเชื่อปี 2562 เติบโตชะลอลงมาที่ 5.0% ตามภาวะเศรษฐกิจ

  • สินเชื่อธนาคารพาณิชย์[1] ในปี 2562 อาจเติบโตในกรอบชะลอลงจากปี 2561 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในปี 2562 อาจเติบโตประมาณ 0% (กรอบคาดการณ์ที่ 4.0-6.0%) ชะลอลงจากที่คาดว่าจะขยายตัว 6.0% ในปี 2561 ทั้งนี้ สินเชื่อที่มีโอกาสเติบโตได้ดีต่อเนื่อง น่าจะเป็นสินเชื่อธุรกิจที่อาจเติบโตประมาณ 4.5% ในปี 2562 ขยับขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ 4.2% ในปี 2561 โดยมีอานิสงส์หลักจากทิศทางการลงทุนซึ่งถูกคาดหมายว่าจะทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2562

ขณะที่ การเติบโตของสินเชื่อรายย่อยอาจชะลอลงมาที่ 6.0% ในปี 2562 (จากที่อาจจะขยายตัวได้สูงกว่า 8.5% ในปี 2561) เนื่องจากสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 70% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย น่าจะเผชิญปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดการเติบโต โดยการเร่งตัวของกิจกรรมในตลาดอสังหาริมทรัพย์ก่อนที่เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเม.ย. 2562 อาจหนุนให้สินเชื่อบ้านยังเติบโตสูงต่อเนื่องในไตรมาส 1/2562 ที่ประมาณ 7.5-8.0% YoY ก่อนที่จะชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีตามสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้ภาพรวมสินเชื่อบ้านในปี 2562 เติบโตได้ประมาณ 5.0% (เทียบกับที่คาดว่าจะเติบโต 7.0% ในปี 2561) ขณะที่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อาจจะขยายตัวชะลอลงมาที่ 5.5% (จากที่น่าจะเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักในปี 2561) ตามยอดขายรถยนต์ที่น่าจะหดตัวลงในปี 2562 เมื่อเทียบกับยอดขายที่สูงกว่า  1 ล้านคันในปี 2561 อย่างไรก็ดี แรงผลักดันจากแคมเปญและการนำเสนอโปรโมชันพิเศษ น่าจะช่วยให้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ยังเติบโตได้ต่อเนื่องในปี 2562 ที่ประมาณ 7.0%  

 

สินเชื่อด้อยคุณภาพ ยังเป็นประเด็นที่ติดตามต่อเนื่อง

 

  • คุณภาพสินเชื่อ ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องในปี 2562 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน และจังหวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจทยอยขยับขึ้น ดังนั้น คาดว่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องดูแลปัญหาคุณภาพสินเชื่อในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในปี 2562 ทั้งในกระบวนการติดตามดูแลลูกค้า การปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการแก้ไขเมื่อลูกหนี้เผชิญปัญหาและไม่มีศักยภาพในการหารายได้มาชำระคืนหนี้
  •  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม หรือ NPL Ratio อาจขยับขึ้นไปที่ 2.98% ในช่วงปลายปี 2562 จากระดับ 2.91% ณ สิ้นปี 2561 (ขยับลงจากระดับ 2.94% ในไตรมาส 3/2561) ทั้งนี้ สินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อบ้าน ยังเป็นกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในปี 2562 โดยคาดว่า สัดส่วน NPL ของสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อบ้าน อาจจะขยับขึ้นไปที่ 3.42% และ 3.70% ต่อสินเชื่อแต่ละประเภท ตามลำดับ 

 

            ประเด็นด้านคุณภาพของสินเชื่อดังกล่าวข้างต้น อาจจะทำให้ธนาคารต้องมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในปี 2562 ในระดับที่ไม่น้อยไปกว่าปี 2561 มากนัก ซึ่งทำให้มองว่า สัดส่วนค่าเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อ (Credit Cost) ที่สะท้อนค่าความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อในปี 2562 อาจจะมีโอกาสทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2561 ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังต้องเตรียมความพร้อมรองรับกฎเกณฑ์ของทางการที่จะทยอยใช้ในปี 2562  ทั้งในเรื่องมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และมาตรฐานเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ Basel III ตลอดจนมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS 9) ในปี 2563 ด้วยเช่นกัน

 

แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปของธนาคารพาณิย์...คงรอจังหวะที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจ และการปล่อยสินเชื่อ

 

  • ธนาคารพาณิย์อาจรอจังหวะที่เหมาะสม ก่อนจะเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป

 

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธปท. จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีไปที่ 1.75% ต่อปีแล้วในการประชุมวันที่ 19 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา และกนง. ยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกอย่างน้อย 1 ครั้งในระหว่างปี 2562 หากเศรษฐกิจไทยสามารถประคองทิศทางการขยายตัวได้ดีขึ้น แต่คาดว่า ธนาคารพาณิย์จะรอพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบงก์เป็นการทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อลูกค้าและระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยังมีอยู่มากถึง 3.8 ล้านล้านบาท และธนาคารพาณิชย์โดยรวมยังคงสามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้

 

            ทั้งนี้ คาดว่า จะเริ่มเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบงก์บางส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อาทิ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำพิเศษ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านและกู้รถที่มีระยะค่อนข้างยาว ขณะที่ ขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วไปทั้งขาเงินฝากและเงินกู้ อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างปี 2562 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี หลังผ่านพ้นช่วงเลือกตั้ง โดยธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องพิจารณาจากบริบทของเศรษฐกิจ ความต้องการสินเชื่อ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ประกอบด้วยเช่นกัน

 

  สภาพแวดล้อมของปี 2562 ยังคงเต็มไปด้วยความท้าทายสำหรับธนาคารพาณิชย์

  • ธนาคารพาณิชย์ ยังคงต้องเผชิญความท้าทายหลายด้านในปี 2562 โดยเฉพาะความสามารถในการประคองความสามารถในการทำกำไรในภาพรวม และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว นับเป็นแรงกดดันต่อเนื่องจากในปี 2561 แม้โอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้น จากระดับ 3.2% ในปี 2561 ก็ตาม

นอกจากทิศทางการแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่น่าจะทวีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่องแล้ว คาดว่า ในปี 2562 จะเห็นโมเดลการปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งในส่วนของการนำข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้ามาวิเคราะห์และนำเสนอเงื่อนไขพิเศษ เพื่อกระตุ้นยอดการเบิกใช้สินเชื่อ และการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ทั้งนี้ แม้สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล (ไม่มีหลักประกัน) อาจจะเป็นสินเชื่อที่ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่มีโอกาสทยอยปรับตัวขึ้นในปี 2562 แต่ก็เป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยผลกระทบบางส่วนของการปรับลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์ที่มีผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมในภาพรวม

            ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมในภาพรวม จะยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เนื่องจากยังมีผลกระทบของรายได้ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ซึ่งอาจจะยังติดลบไปจนถึงช่วงไตรมาส 1/2562 ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลักดันรายได้ค่าธรรมเนียมในส่วนอื่นๆ มาชดเชย ทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต รายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าขายประกันและกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมจากการให้บริการที่ปรึกษา เพื่อทำให้ภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมในปี 2562 มีภาพที่ดีขึ้นกว่าปี 2561 ขณะที่ การรับรู้กำไรจากเงินลงทุนในปี 2562 อาจยังขึ้นอยู่กับจังหวะที่เหมาะสมของสภาวะตลาดในภาพรวม

            นอกจากนี้ การทยอยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลในช่วงปี 2562 นั้น อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมรับมือกับโจทย์ในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็คือ สภาวะการแข่งขันในตลาดให้บริการทางการเงินที่อาจจะเข้มข้นขึ้นจากผู้เล่นอื่นๆ อาทิ ผู้ประกอบการในกลุ่ม FinTech กลุ่ม TechFin และกลุ่ม e-commerce ที่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์ความต้องการบริการทางการเงินของผู้บริโภค ด้วยความได้เปรียบด้านต้นทุนที่อาจจะต่ำกว่าและมีความคล่องตัวมากกว่า ซึ่งทำให้ประเด็นสำคัญของธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การขยายฐานลูกค้า และสร้างรายได้ใหม่ๆ จากแพลตฟอร์มที่มี ควบคู่ไปกับการจับมือกับพันธมิตรและพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและลูกค้าธุรกิจ

 

[1] ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 19 แห่ง