โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี : EEC) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ซึ่งดำเนินการมาตลอดกว่า 30 ปี โดย “โครงการอีอีซี” นี้ เป็นแผนการลงทุนซึ่งจะยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว

 

 โดยในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี, จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ผ่านกลไกการบริหารจัดการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

 

ที่ผ่านมา “โครงการอีอีซี” สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคที่จัดตั้งโครงการในทิศทางที่ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามภาพรวมการลงทุนที่สอดรับกับยุทธศาสตร์การสนับสนุนจากรัฐบาล โดยสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออก ล่าสุดในเดือน พ.ย.2561 พบว่า ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วย

การบริโภค-ลงทุนเอกชนหนุนเศรษฐกิจโต

 

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดให้เห็นสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออกที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ว่ามีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในจังหวัดชลบุรี จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน

ทั้งนี้ สะท้อนจากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ขยายตัวได้ถึง 24.1% ต่อปี จากการขยายตัวใจจังหวัดชลบุรี ระยอง และนครนายก สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 3.7% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนของภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า แต่เม็ดเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ ขยายตัว 254.9% ต่อปี อยู่ที่ 2.56 พันล้านบาท

 

ขณะที่ด้านอุปทาน โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือน ต.ค.2561 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 110.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านี้ ใน ภาคการท่องเที่ยว เอง ก็ยังสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน ในเดือน ต.ค.2561 ขยายตัว 3.7% ต่อปี ส่วนด้านเสถียรภาพภายในก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเช่นกัน สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือน พ.ย.2561 อยู่ที่ 0.8% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน ต.ค. 2561 อยู่ที่ระดับ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

 

เชื่อมั่นภาคตะวันออกยังสดใส 

 

 ส่วนภาพดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index : RSI) ประจำเดือน ธ.ค.2561 สำหรับภาคตะวันออกยังสดใส และส่งสัญญาณที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวยังขยายตัวในทิศทางบวกที่ระดับ 61 เนื่องจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยคาดว่าจะมีจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนโยบายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ในส่วนของภาคบริการมีการสนับสนุนจากทางภาครัฐ กระตุ้นและส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวภายในจังหวัดเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม “โครงการอีอีซี” ที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นกลายเป็นแรงขับเคลื่อนความเชื่อมั่นที่สำคัญ ประกอบกับการกำหนดให้มีการเลือกตั้งของรัฐบาล ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจของไทยมากขึ้นด้วย

โดยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค เดือน ธ.ค.2561 สำหรับภาคตะวันออก ในส่วนภาคเกษตรนั้น ขยายตัวที่ระดับ 39.6, ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวในระดับสูงที่ระดับ 80.3, ภาคบริการ ขยายตัวที่ระดับ 59.9, ภาคการจ้างงาน ขยายตัวที่ระดับ 58.1 และภาคการลงทุน ขยายตัวได้ที่ระดับ 66.5

 

สอดคล้องกับ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ยังเดินหน้าออกมาตรการในการสนับสนุนการลงทุนชุดใหญ่ ทั้งการกระตุ้นโครงการใหญ่ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก และการสนับสนุนตลาดทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการขับเคลื่อน ซึ่งถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญของการลงทุนสำหรับประเทศไทย ที่จะเดินหน้าสู่การแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนมากขึ้นนั่นเอง

 

โดยล่าสุด คณะกรรมการบีโอไอได้เห็นชอบมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมภายในปี 2562 โดยมุ่งเน้นส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบสูงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นกิจการในอุตสาหกรรมที่ใช้ระดับเทคโนโลยีขั้นสูง หรืออยู่ในอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

 

โดยมาตรการดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้กับคำขอที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.2561 ไปจนถึงสิ้นปี 2562 โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมคือ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลถึง 50% เป็นเวลา 3 ปี แต่! จะต้องเป็นโครงการที่มีเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ในทุกประเภทกิจการ (ยกเว้นกิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอบการ เช่น กิจการขนส่งทางอากาศ กิจกาขนส่งทางเรือ เป็นต้น) ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปีขึ้นไปตามเกณฑ์สิทธิปกติ แต่ไม่เกิน 8 ปี ตั้งสถานประกอบการได้ในทุกพื้นที่ทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร และดำเนินการตามกำหนดเวลาทุกขั้นตอน

 

ตัดภาพมาที่ภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือน ของปี 2561 (ม.ค.-ก.ย.) พบว่า มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 1.12 พันโครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 3.77 แสนล้านบาท โดยในจำนวนโครงการที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10% ขณะที่เงินลงทุนยังคงใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ลงทุนอีอีซีขยายตัว

 

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการบีโอไอ ระบุว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนถึง 69% โดยมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 525 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนรวม 2.9 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รองลงมาคือ ยานยนต์และชิ้นส่วน การท่องเที่ยว การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ไปจนถึงดิจิทัล เป็นต้น

 

"การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ “โครงการอีอีซี” นั้น มีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยจำนวนโครงการ อยู่ที่ 288 โครงการ ขยายตัว 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีเพียง 255 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 2.3 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 117% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีเม็ดเงินลงทุนรวมเพียง 1.06 แสนล้านบาทเท่านั้น" นางสาวดวงใจ

นอกจากนี้ คณะกรรมการบีโอไอยังได้อนุมัติอีก 3 โครงการใหญ่ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 2.17 หมื่นล้านบาท ซึ่งล้วนเป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกิจการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ได้แก่ บริษัท โปรเจน โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก เงินลงทุนทั้งสิ้น 7.69 พันล้านบาท ซึ่งรถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกที่ผลิตได้ในโครงการนี้ จะเป็นประเภทที่ได้มาตรฐานการปล่อยไอเสียระดับยูโร 5 และจะใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ระบบปรับอากาศ ยางรถยนต์และชิ้นส่วนตกแต่งภายใน มูลค่ารวมประมาณ 1.37 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) เงินลงทุนทั้งสิ้น 1.14 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทได้เสนอแผนงานรวมในการลงทุนตามที่กำหนด อาทิ โครงการประกอบรถยนต์และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ โครงการนี้จะใช้วัตถุดิบในประเทศอีกเช่นกัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.94 หมื่นล้านบาทต่อปี
     

ปิดท้ายกันที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 2.6 พันล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยจะเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ “วังจันทร์วัลเลย์” ให้เป็นพื้นที่เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับการต่อยอดงานวิจัย สู่การสร้างนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์ได้จริง และช่วยทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

 

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 โครงการที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบีโอไอนั้น ได้ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ ARIPOLIS หรือศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ และเครื่องจักร 2. BIOPOLIS หรือศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มีความเกี่ยวข้องในการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ และ 3. SPACE INNOPOLIS หรือศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
     

ตรงนี้ถือเป็นอีกหนึ่ง “ความสำเร็จ” ของ “โครงการลงทุนอีอีซี” ที่สะท้อนได้จากเม็ดเงินลงทุนที่ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีกับอนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่จะสามารถก้าวไปสู่การเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยตัวขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพนี้นี่เอง.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net