คลังยันรถไฟความเร็วสูง 'กทม.-หนองคาย' คุมทุกอย่างเอง ไม่ติดกับดักหนี้จีนแน่นอน
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงกรณีที่มีข้อวิจารณ์เรื่องการกู้เงินจากจีน สำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ทำให้เกิดความกังวลว่าไทยจะติดกับดักหนี้จีน ว่า ยืนยันว่าประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนในโครงการดังกล่าวเองทั้งหมด ไม่ได้ร่วมลงทุนกับฝ่ายจีน และดำเนินการในพื้นที่ประเทศไทย ดังนั้นไทยจึงเป็นเจ้าภาพของโครงการแต่เพียงผู้เดียว โดยจีนเป็นเพียงผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูงแก่ประเทศไทยเท่านั้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศสำหรับดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วบางส่วน และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแหล่งเงินกู้ต่างประเทศเพื่อนำมาใช้จ่ายในส่วนที่มีรายการค่าใช้จ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งยังไม่ได้มีการผูกพันสัญญาเงินกู้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสาธารณะรัฐประชาชนจีน (CEXIM) หรือแหล่งเงินกู้ต่างประเทศอื่น ดังนั้นจึงคลายกังวลได้ว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีเงื่อนไขและต้นทุนที่เหมาะสมที่สุด สำหรับดำเนินโครงการดังกล่าว
“โครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคเป็นไปตามกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (Framework of Cooperation : FOC) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2565 โดยที่ผ่านทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการร่วมกันว่า แหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าว จะมาจากหลายแหล่ง ประกอบด้วย งบประมาณของรัฐบาลไทย เงินกู้ภายในประเทศ และแหล่งเงินกู้อื่น โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเงินกู้ของฝ่ายจีนจะต้องดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งเงินกู้อื่น” นางจินดารัตน์ กล่าว
นางจินดารัตน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับดำเนินโครงการ โดยมีวงเงินลงทุนรวม 1.79 แสนล้านบาท แบ่งเป็น เงินงบประมาณ 1.32 หมื่นล้านบาท เงินกู้ 1.66 แสนล้านบาท ในส่วนนี้จะต้องใช้เงินกู้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่สำหรับว่าจ้างผู้ประกอบการในประเทศในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 1.27 แสนล้านบาท คิดเป็น 80% ของเงินกู้ และจะใช้เงินกู้ต่างประเทศสำหรับรายการที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศและจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ เช่น งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล งานจัดหาขบวนรถ งานวางรางและการฝึกอบรมบุคลากร วงเงินประมาณ 3.85 หมื่นล้านบาท
ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเห็นควรเปิดกว้างให้สามารถจัดหาเงินกู้ได้จากแหล่งเงินในประเทศและต่างประเทศ สำหรับนำมาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้ต่อเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด โดยที่ผ่านมาได้มีการกู้เงินในประเทศแล้วทั้งสิ้น 4 พันล้านบาท และมีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 2 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในส่วนข้อกังวลความคุ้มค่าในการลงทุนและปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ถึงขนาดสูญเสียความเป็นเจ้าของโครงการให้แก่ฝ่ายจีนนั้น ยืนยันว่าสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้วิเคราะห์โครงการและผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ การเงิน โดยเส้นทางรถไฟดังกล่าวเป็นเส้นทางเชิงยุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ อีกทั้งยังเชื่อมโยงการขนส่งทางรถไฟกับประเทศภูมิภาค ซึ่งได้พิจารณาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมในเชิงกว้างมากกว่าการคำนึงถึงผลตอบแทนทางการเงินเพียงอย่างเดียว
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thaipost.net