7 ก.พ. 2562 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องนั้น เป็นหน้าที่ของ ธปท. ต้องดูแล ซึ่งการชี้แจงและการดำเนินการจะต้องทำให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันด้วย

 

"มีคนบอกว่าตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 สาเหตุมาจากนโยบายการเงิน ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันต้องดูให้ดีไม่เป็นปัญหากับเศรษฐกิจเหมือนในอดีต" นายอภิศักดิ์ กล่าว

 

นายอภิศักดิ์ กล่าวก่อนหน้านี้ ธปท. ไม่ควรปล่อยให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อบ้าน เพราะทำให้กระทบการส่งออกและขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งควรเข้าไปแทรกแซงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ที่ต้องชั่งน้ำหนักผลกระทบต่อการลงทุนและการส่งออก

 

ด้านนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2562 มีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าภาคการส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ  ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่รับตัวดีขึ้น

 

ทั้งนี้ ที่ประชุม กนง.ให้ความกังวลกับเสถียรภาพการเงิน ที่มองว่ายังมีความเสี่ยงกับเศรษฐกิจในอนาคต หลายด้าน เช่น ระดับหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 2/2561 ที่อยู่ที่ 77.7% ต่อจีดีพี และเพิ่มขึ้นเป็น 77.8% ในไตรมาส 3/2561 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในไตรมาส 4 โดยมาจากการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งก็สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่พุ่งขึ้นสูงมากในช่วงปลายปี นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสินเชื่อที่อยู่อาศัย การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการอนุมัติสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ธนาคารพาณิชย์อาจจะประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

 

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ตามการเบิกจ่ายจริงและกรอบวงเงินงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน รวมถึงความล่าช้าในโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่ลดลงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความผันผวนของราคาพลังงานและอาหารสด

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ยังมีความผันผวนต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมที่จะเข้าไปดูแล และติดตามอย่างใกล้ชิดหากพบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเกินควรโดยยอมรับว่า การที่ค่าเงินสหรัฐฯอ่อนค่าจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน รวมกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอ ทำให้ค่าเงินในสกุลเงินเกิดใหม่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยเงินบาทไทยตั้งแต่สิ้นปี 2561 จนถึงปัจจุบันแข็งค่า 4.1% ซึ่งอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ได้เป็นเงินสกุลที่แข็งค่าที่สุดในโลก โดยแข็งค่าน้อยกว่าอินโดนีเซีย ที่ 4.3% ส่วนความผันผวนของค่าเงินบาท อยู่ที่ 4.3% ผันผวนน้อยกว่า สกุลเงินของ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และอินโดนีเซีย

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ว่าขณะนี้ภาคเอกชนมีความกังวลเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.4% แข็งค่ามากสุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค มาอยู่ที่ 31.31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากปลายปี 2561 อยู่ที่ 32.32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็นรองเพียงค่าเงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซียที่แข็งค่าขึ้น 3.7% เนื่องจากเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าเพราะขาดแรงหนุน หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่งสัญญาณถึงโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยที่ลดทอนลง ซึ่งหากเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยทั้งปี

 

“ดังนั้นหากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องแบบโดดๆ อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ในกลุ่มสินค้าเกษตร และการค้าชายแดนที่อยากให้มีการซื้อขายด้วยเงินบาทจะดีที่สุด ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอย่างมีนัยยะคงต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อย่างเป็นทางการเพื่อให้มีมาตรการดูแลออกมามากขึ้น โดยระดับที่เอกชนรับได้คืออยู่ในช่วง 31.50-32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และอีกประเด็นที่ภาคเอกชนเป็นห่วงคือไม่อยากให้ ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกตลอดทั้งปีนี้ ให้คงอยู่ที่ 1.75% หลังเฟดส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกมาแล้วเช่นกัน”นายสุพันธ์ กล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  www.thaipost.net