สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ยื่นข้อเสนอแนะ ต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผื่อผลักดันให้เกิดการยกระดับและพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ (B2B Cross Border e-Trading Platform)  โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME/Startup ที่ทำการค้าแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ผ่านแพลตฟอร์มพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพื่อขยายตลาด อำนวยความสะดวกและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทยในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

       โดยข้อเสนอแนะการพัฒนาแพลตฟอร์ม B2B Cross Border e-Trading Platform เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริม ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบาย โดยมี modelที่ครอบคลุมหลักการสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1) การสร้างความตระหนัก (Awareness) 

2) การเข้าถึงเทคโนโลยี (Access to technology) 

3) การประยุกต์หรือการใช้ที่สอดคล้อง (Application) 

 

ซึ่งข้อเสนอแนะการยกระดับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ จะแบ่งเป็น 5 ส่วนสำคัญ  

1) การเข้าสู่ตลาดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในฐานะผู้ส่งออกหรือผู้ขาย แพลตฟอร์มควรช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยควบคุมต้นทุนการส่งสินค้าไปต่างประเทศ เช่น การเสนอราคาที่มีความหลากหลายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์,  การแสดงข้อมูลกฎระเบียบและเอกสารนำเข้าที่ถูกร้องขอจากประเทศปลายทางไว้บนแพลตฟอร์ม, รวมถึงควรมีระบบการคัดกรองลูกค้าปลายทาง เพื่อช่วยรับรองและตรวจสอบข้อมูลของผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อต่างประเทศว่ามีตัวตนอยู่จริง

2) การบริการที่สนับสนุนด้านการเงินและระบบการชำระเงินออนไลน์ แพลตฟอร์มฯ ควรกำหนดวิธีการชำระเงินระหว่างผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อในต่างประเทศและผู้ส่งออกหรือผู้ขายให้ครอบคลุมทุกฟังก์ชั่นการใช้งานโดยเฉพาะเทอมการชำระเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น

3) การใช้บริการด้านโลจิสติกส์ แพลตฟอร์มฯ ควรสนับสนุนการเชื่อมโยงเข้ากับระบบ National Single Window (NSW) ของกรมศุลกากร และ ASEAN Single Window (ASW) เพื่ออำนวยความสะดวกขั้นตอนพิธีการศุลกากร และช่วยลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงแพลตฟอร์มควรเปิดให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์สามารถเข้ามาแข่งขันเพื่อให้บริการบนแพลตฟอร์มให้มีความหลากหลาย

4) การเจรจาต่อรองเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มฯ เพื่อให้สามารถรองรับการกำหนดเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ เช่น การทำสัญญาการค้า (International Commercial Terms: Incoterm) ที่เกี่ยวข้อง ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ทันที

5) การฝึกอบรมผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการแพลตฟอร์ม ควรสนับสนุนให้มีการจัดอบรมกับผู้ใช้บริการหรือสมาชิก (ผู้ส่งออกหรือผู้ขายและผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อ) เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม เป็นต้น

         สำหรับการเติบโตของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกหรืออีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมมากขึ้น โดยมูลค่าของตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มเติบโตสูงสุดประมาณร้อยละ 27 ภายในปี ค.ศ. 2019 โดยเฉพาะการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ข้อมูลของUNCTAD ปี ค.ศ. 2017 ระบุว่า ประเทศที่เป็นสมาชิก UNCTAD มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของยอดขายของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 25.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็น 22.3 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับธุรกิจ (Business-to-Business: B2B) และ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับผู้บริโภค (Business-to-Customer: B2C) โดยมีจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับผู้บริโภคมากที่สุดถึง 617 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ สหรัฐอเมริกามีมูลค่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับธุรกิจมากที่สุดถึง 6,443 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ดังนั้น การพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ จึงถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการค้าระหว่างประเทศของไทยและต้องเร่งพัฒนาอย่างเร่งด่วน