นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ที่มาภาพ : https://www.theepochtimes.com/stimulus-measures-trade-concessions-top-the-agenda-at-chinas-two-sessions-meeting_2825716.html


          เมื่อวันอังคารที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ในที่ประชุมประจำปีของสมัชชาแห่งชาติจีน นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ได้กล่าวรายงานต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลจีนกำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2019 ไว้ที่ 6-6.5% โดยจีนจะดำเนินการไปสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพสูงขึ้น ท่ามกลางสภาพความไม่แน่นอนมากขึ้นของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แต่นับจากปี 2015 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนมีอัตราเติบโตที่ต่ำกว่า 7% แต่ในปี 2019 จีนจะยังคงสร้างงานในเขตตัวเมืองให้มากกว่า 11 ล้านงาน


          การที่รัฐบาลจีนกำหนดให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำลง สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารโลกที่ระบุว่า ในปี 2019 การเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงเหลือ 6.3% ส่วนในปี 2020 จะอยู่ที่อัตรา 6.2% เพราะการผลิตด้านอุตสาหกรรมและการส่งออกของจีนเริ่มขยายลดตัวลง


          เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ New York Times ก็รายงานข่าวว่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงมากกว่าที่รัฐบาลจีนได้กล่าวไว้ เช่น ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ 6.4% โดยทั้งปี 2018 ตัวเลขของรัฐบาลจีนระบุว่าเศรษฐกิจขยายตัว 6.6% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดนับจากปี 1990 เป็นต้นมา


บทบาทจีนต่อเศรษฐกิจโลก


          จีนเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีบูรณาการอย่างมากกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลก ที่มากกว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป Nicholas R. Lardy ผู้เชี่ยวชาญจีนของ Peterson Institute for International Economics กล่าวว่า จีนเป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่อันดับ 1-10 ของการส่งออกกว่า 100 ประเทศในโลก เช่น จีนเป็นตลาดการส่งออกแร่เหล็กรายใหญ่สุดของออสเตรเลีย หรือชิลีส่งออกทองแดงมากสุดมาที่จีน

          เพราะเหตุนี้ เมื่อเศรษฐกิจจีนเกิดชะลอตัวลง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกว่า 100 ประเทศ เพราะการนำเข้าจากจีนจะลดลง จีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ แต่การนำเข้าของจีนกระจายสู่ประเทศต่างๆ มากกว่าการนำเข้าของสหรัฐฯ ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ประเมินว่า หากเศรษฐกิจจีนเติบโตลดลง 1% การเติบโตของเศรษฐกิจโลกก็จะลดลง 0.25% หากเศรษฐกิจจีนเติบโตในระดับเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว คือปีละ 2% การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงถึง 1%

          เมื่อวันที่ 8 มีนาคม หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ก็รายงานผลการวิจัยของบริษัท Capital Economics ว่า ในทศวรรษข้างหน้านี้ การเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวมาอยู่ที่ 2% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของสถาบันเศรษฐกิจอื่นๆ โดย Capital Economics กล่าวว่า เพราะจีนเข้าสู่การเป็นประเทศ “เศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ธรรมดาทั่วไปอีกประเทศหนึ่ง”

          Capital Economics กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ลดลงครึ่งหนึ่ง ในอีก 10 ปีข้างหน้า หากจีนยังเติบโต ท่ามกลางปัญหาโครงสร้าง การเติบโตจะลดลงมาครึ่งหนึ่งเช่นกัน ปัญหาเศรษฐกิจโครงสร้างของจีนคือ การใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีประสิทธิภาพ รัฐวิสาหกิจยังมีฐานะนำ บริษัทเอกชนขาดแคลนแหล่งเงินลงทุน ปัญหาหนี้สินที่พอกพูนขึ้น และนับจากปี 2012 เป็นต้นมา ประชากรในวัยทำงาน ช่วงอายุ 16-59 ปี มีจำนวนลดลงมาตลอด ปี 2018 ลดลงถึง 4.7 ล้านคน

          เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศในเอเชีย เพราะมีเศรษฐกิจเอเชียมีการเชื่อมโยงกับจีน ผ่านการผลิตห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) ในปี 2017 การศึกษาของธนาคารโลกกล่าวว่า 60-70% ของการค้าโลกเกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายการผลิตของโลก การผลิตชิ้นส่วน และการผลิตสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ที่มีการค้าข้ามพรมแดน ก่อนที่จะถูกนำมาประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้ว จีนจึงเป็นตัวอย่างของประเทศกำลังพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศ ที่มีบูรณาการอย่างลุ่มลึกกับห่วงโซ่คุณค่าการผลิตของโลก

ที่มาภาพ : https://sg.news.yahoo.com/hong-kong-macau-develop-thrive-024523237.html

ปัจจัยความสำเร็จในอดีต

          การจะเข้าใจอนาคตการเติบโตของเศรษฐกิจจีน จำเป็นต้องเข้าใจปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวสูงมากในอดีต 40 ปีที่ผ่านมา จากประเทศที่ยากจนในปี 1978 กลายเป็นมาประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ในบทความชื่อ Can China’s High Growth Continue? ของ Rischard N. Cooper ที่พิมพ์อยู่ในหนังสือชื่อ The China Questions (2018) กล่าวถึงปัจจัย 7 ประการที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่สูงปีละกว่า 10% ต่อเนื่องกันนานถึง 30 ปี

          ปัจจัยแรกคือ การเปลี่ยนแปลงระบบการจัดสรรทรัพยากร จากการวางแผนของรัฐในระบบสังคมนิยมมาสู่การอาศัยกลไกตลาด หมายความว่า ครัวเรือนและบริษัทธุรกิจตัดสินใจเองในเรื่อง การบริโภคและการลงทุน โดยพิจารณาจากราคาของสินค้าต่างๆ ที่ขึ้นกับกฎอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งราคาสินค้าในประเทศ ยึดโยงกับราคาสินค้าในเศรษฐกิจโลก

          ปัจจัยที่ 2 การเปลี่ยนแปลงนโยบายของจีน จากการอยู่โดดเดี่ยวมาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก เริ่มต้นด้วยการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออก นอกจากนี้ จีนยังส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งในแบบการร่วมลงทุน และที่ต่างประเทศเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมด เป้าหมายในตอนแรกคือการได้เงินตราต่างประเทศ ต่อมาเป็นเรื่องการนำเข้าเทคโนโลยี ทักษะการตลาด และการจัดการ มายังจีน

          ปัจจัยที่ 3 ที่ผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจของจีน มาจากการอาศัยประโยชน์จากคนจีนโพ้นทะเล ที่มีทักษะความชำนาญด้านการค้า ต่อมากลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับตลาดโลก นักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลรู้ดีว่าสินค้าแบบไหนที่ขายได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ และยุโรป และยังรู้ช่องทางตลาด ทำให้การค้าต่างประเทศจีนประสบความสำเร็จ ดังนั้น ในระยะแรกๆ การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงมาจากคนจีนในฮ่องกง ไต้หวัน และจากที่อื่นๆ

ที่มาภาพ : amazon.com

          ปัจจัยที่ 4 คือสิ่งที่นักวิเคราะห์เรียกว่า ดอกผลจากประชากร (demographic dividend) คือสัดส่วนประชากรในวัยทำงานของจีน (อายุระหว่าง 16-64 ปี) เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ในปี 1990 มีสัดส่วน 66% และเพิ่มถึงจุดสูงสุด 74% ในปี 2012 เมื่อสัดส่วนประชากรวัยทำงานดังกล่าว เข้าสู่การผลิตมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มเป็นอย่างมาก ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมและรายได้ประชากรต่อคน

          ปัจจัยที่ 5 ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน คือการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรมาสู่ภาคเศรษฐกิจ ที่มีผลิตภาพมากกว่า ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปกับประเทศยากจน ที่เดิมแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร มีผลิตภาพต่ำ ยกเว้นในช่วงเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ในปี 1980 แรงงานจีน 70% อยู่ในภาคเกษตร ในปี 2016 ลดลงมาต่ำกว่า 30% มีรายงานการศึกษาที่ระบุว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานนี้มีส่วนทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตถึง 1.1-1.3% ต่อปี

          ปัจจัยที่ 6 คือการออมและลงทุนที่สูงของจีน บางส่วนของการลงทุนมาจากรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่น แต่การลงทุนจำนวนมากมาจากบริษัทใหม่ๆ ที่ตั้งขึ้นมาตามเมืองต่างๆ ตัวอย่างเช่น การลงทุนสร้างที่พักอาศัยสำหรับแรงงานในเมืองที่มีรายได้สูงขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการบริการที่จำเป็นของเมือง เช่น ระบบประปา ถนน ไฟฟ้า และการขนส่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นระบบขนส่งระหว่างเมือง เช่น การสร้างท่าเรือ สนามบิน ทางหลวง และรถไฟ

          และปัจจัยสุดท้าย คือ การศึกษ นับจากทศวรรษ 1950 จีนมีนโยบายจัดการศึกษาฟรีระดับประถมศึกษา ทำให้ชาวนาสามารถอ่านออกเขียนได้ในระดับขั้นต่ำ ในกลางทศวรรษ 1980 จีนขยายการศึกษาฟรีจนถึงระดับมัธยม ส่วนระดับอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยก็รับนักศึกษาจำนวนมากขึ้น ในปี 2016 ประมาณ 30% ของเยาวชนจีน มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เทียบกับในต้นทศวรรษ 1980 มีเพียง 2%

ภาวะติดลบของปัจจัยที่เคยเป็นบวก

          ปัจจัย 7 ประการดังกล่าว ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว แล้วปัจจัยเหล่านี้จะยังมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในอนาคตหรือไม่ บทความเรื่อง Can China’s High Growth Continue? กล่าวว่า ยกเว้นปัจจัยเรื่องการศึกษา ปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือจะมีบทบาทน้อยลงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ทุกวันนี้ จีนประสบความสำเร็จในการก้าวไปสู่เศรษฐกิจแบบกลไกตลาด จะมียกเว้นก็ในเรื่องธนาคาร พลังงาน และโทรคมนาคม เพราะฉะนั้น การปฏิรูปเศรษฐกิจ คงจะมีส่วนน้อยลงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา

          การค้าต่างประเทศของจีนก็จะมีส่วนลดน้อยลงไปต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ช่วงทศวรรษ 1980 ถึงปี 2010 การส่งออกของจีนที่เป็นเงินสกุลดอลลาร์ เพิ่มขึ้นปีละ 17% ทำให้จีนกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก ในอนาคต การเติบโตด้านการส่งออกของจีน จะปรับตัวลดลงมาเหลือ 5-7% ต่อปี โดยสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

          ส่วนดอกผลจากประชากรในวัยทำงาน ก็มาถึงจุดสูงสุดในปี 2012 เมื่อจำนวนประชากรวัยทำงานเทียบกับประชากรทั้งหมดมีสัดส่วนสูงสุด หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีสัดส่วนลดลง แสดงถึงประชากรจีนที่สูงอายุมีมากขึ้น ส่วนแรงงานภาคเกษตรของจีนมีสัดส่วนต่ำกว่า 30% ของแรงงานทั้งหมด ในอนาคต การอพยพแรงงานจากภาคเกษตรจะยังมีส่วนทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ก็จะไม่มากเท่าในอดีต

          รัฐบาลจีนเองก็มองเห็นการอ่อนตัวของปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จึงกล่าวถึงอัตราการเติบโตแบบ “ปกติใหม่” (new normal) โดยแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ครั้งที่ 13 (สำหรับปี 2016-2020) ก็กำหนดให้การเติบโตเฉลี่ยที่ 6.5% ต่อปี โดยมาเน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรมให้เป็นปัจจัยที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต และการสร้างดุลยภาพใหม่ให้เศรษฐกิจ จากการพึ่งพิงการส่งออกและการลงทุน มาเป็นการอาศัยการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น

          บทความเรื่อง Can China’s High Growth Continue? กล่าวว่า หากเศรษฐกิจจีนจะเติบโตต่ำกว่า 6.5% ใน 10 ปีหน้าหน้า หรือจะต่ำกว่า 5% ในอนาคตต่อๆ ไป สิ่งนี้ก็ไม่ถือเป็นความล้มเหลว เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตลดลงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานของภาวะเศรษฐกิจ ไม่ใช่เกิดจากนโยบาย

เอกสารประกอบ

Can China’s High Growth Continue? Richard N. Cooper, in The China Questions: Critical Insights into a Rising Power, edited by Jennifer Rudolph and Michael Szonyi, Harvard University Press, 2018. The State Strikes Back, Nicholas R. Lardy, Peterson Institute for International Economics, 2019. China growth to slow to 2 per cent over next decade, South China Morning Post, March 8, 2019.

 

ขอบคุณข้อมูลจาก thaipublica.org