Business Plan ก็ต้องมี Brand Plan ปังๆก็ต้องมา
จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อแผนการสร้างแบรนด์ (Brand Plan) ที่ใครเคยมองว่าเป็นม้านอกสายตา อาจสำคัญกว่าแผนการสร้างธุรกิจ (Business Plan)
นี่ไม่ใช่คำถามชวนหัว หรือ คำถามโลกสวย แต่เป็นเรื่องจริงในโลกธุรกิจที่ลูกค้ายุคดิจิทัลมักเลือกเข้ากูเกิ้ลเพื่อค้นหาเรื่องราวของภัตตาคารที่จะไป สินค้า หรือบริการที่จะไปใช้ก่อนที่จะไปลองสัมผัสด้วยตัวเอง หรือ ต่อให้เป็นว่าที่พาร์ทเนอร์ธุรกิจที่จะมาร่วมทุน พวกเขาก็ย่อมอยากรู้จักตัวตนหรือแบรนด์ของคุณก่อนที่จะสนใจว่าคุณมีแผนธุรกิจอย่างไรด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมคุณถึงต้องเตือนตัวเองบ่อยๆ ว่าคุณกำลังสร้างแบรนด์ ไม่ใช่แค่สร้างสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นการเอาแต่หมกหมุ่นสร้างแผนธุรกิจแบบเดิมๆ ที่โฟกัสกับตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นกระแสเงินสด รายรับ รายจ่าย และ ผลกำไร เน้นกระตุ้นยอดขายด้วยการทำโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ เพียงอย่างเดียว อาจเป็นการพาตัวเองไปสู่ทางตัน ถ้าจะให้ดีลองมาทำความรู้จักแผนการสร้างแบรนด์ อาวุธลับที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้แบรนด์กันดีกว่า
Brand plan ที่ดีต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
เมื่อไหร่ก็ตามที่คิดจะคิกสตาร์ทเริ่มต้นหรือต่อยอดธุรกิจ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรพกติดตัวไปด้วยคือ Brand plan ซึ่งเปรียบเสมือนแผนที่นำทางที่จะทำให้คุณไม่หลงทิศ ต่อให้หลงทางก็ยังกลับมาถูก ถามว่าอะไรบ้างที่ควรบรรจุไว้ใน Brand plan สิ่งแรกคือ วิสัยทัศน์ หรือ ไอเดียที่เป็นเหมือนหลังคาใหญ่ของบ้านที่คอยเตือนคุณว่า คุณเป็นใคร? จากนั้นจึงมาสู่การเลือกลงลึกถึงคาแร็กเตอร์ของบ้านหลังนี้ว่าจะเป็นสไตล์ไหน จะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีใด ช่องทางแบบไหน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่คุณวางไว้ ที่ลืมไม่ได้คือ เทคนิคที่คุณจะนำมาใช้เพื่อช่วยให้คุณสามารถพาแบรนด์ไปถึงเป้าหมายได้
อย่างไรก็ตาม ถึงจะจั่วหัวมาว่า Brand plan สำคัญไม่น้อยกว่า Business Plan แต่ใช่ว่าแผนธุรกิจหรือ Business Plan จะไร้ความจำเป็น เพราะสุดท้ายแล้ว Brand plan ก็ยังเป็นเฟืองเล็กๆ ใน Business Plan อยู่ดี
ถอดรหัสบทเรียนการสร้างแบรนด์ของอีลอน มัสก์
อีลอน มัสก์ สร้างปรากฏการณใหม่ให้สังคม ในฐานะผู้สร้างรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า Tesla มาจนถึงการตั้งบริษัท SpaceX เพื่อขนส่งคนและของไปดาวอังคาร และ ก่อตั้ง Solarcity บริษัทรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ตามบ้านเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานซ้ำอย่างยั่งยืน ผลงานที่เขาทำไม่เพียงทำให้อีลอน มักส์สามารถสร้างฐานลูกค้า แต่เขากำลังสร้างกลุ่มผู้ติดตาม (followers)
กว่าจะมายืนอยู่จุดนี้ เป็นที่รู้จักในฐานะอัจฉริยะแห่งการสร้างสรรค์ เขาอาศัยเวลาในการสร้างแบรนด์ให้ตัวเองเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เสมือนเป็นฮีโร่ที่พร้อมจะกอบกู้โลกใบนี้ ด้วยการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับโลก จนทำให้คนที่เป็นลูกค้าของเขา ไม่ได้หยุดความชื่นชอบไว้ที่สินค้าหรือบริการที่เขาสร้างสรรค์ แต่กลับมองทุกอย่างที่อีลอน มักส์ทำราวกับเขาเป็นไอดอล ยกตัวอย่าง เทสล่า มอเตอร์ ไม่ได้เป็นเป็นเพียงผู้ผลิตยนตรกรรม แต่เป็นยานพาหนะสุดคูลที่พร้อมพาทุกคนไปสู่การรับมือกับภาวะโลกร้อน
นอกจากจะสร้างแบรนด์อย่างแข็งแกร่งแล้ว อีลอน มักส์ ยังสร้างแบรนด์ลอยัลตี้ด้วยการซื้อใจ อย่างตอนที่บริษัทเจอศึกหนักจากการที่รถเทสลาเกิดเพลิงไหม้ เขาก็ออกโรงยืดอกยอมรับ แต่ไม่ยอมแพ้ เดินหน้าผลิตรถไฟฟ้า Model S ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น และ กลายเป็นเป็นรถไฟฟ้าที่ขึ้นแท่นขายดีในปี 2015-2016
ทั้งหมดนี้ คือ อีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่สะท้อนว่า การสร้างให้แบรนด์ของคุณมีมูลค่าในสายของลูกค้านั้น ไม่ใช่สิ่งที่โชคช่วยหรือความบังเอิญ แต่เกิดจากความมุ่งมั่นและการวางแผนที่รอบคอบเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์ ดังนั้น เมื่อไหร่ที่เหนื่อยกับการสร้างแบรนด์ ขอให้เตือนตัวเองด้วยคำพูดนี้ “ถ้าคนทั่วไปไม่รู้ว่าคุณเป็นใคร และกำลังทำอะไร พวกเขาไม่มีวันสนใจที่จะทำธุรกิจกับคุณ”