10 เมษายน 2562 นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทย ไตรมาสแรก ปี 62 ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่เติบโตต่อเนื่อง ทำลายสถิติการออกสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 48,747 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนอยู่ที่ 3.68 ล้านล้านบาท เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ เช่น บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ระดมทุนต่อเนื่องจากปี 61 จากใช้เงินเข้าไปซื้อกิจการในต่างประเทศ

          “แม้ไตรมาสแรก การระดมทุนภาคเอกชนจะสร้างสถิติใหม่ แต่สมาคมฯ ยังคงเป้าหมายการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว ปี 62 อยู่ที่ 750,000-850,000 ล้านบาท เนื่องจากต้องติดตามเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกประกอบด้วย หากเติบโตได้ดี ก็อาจจะผลักดันให้เอกชนระดมทุนเพิ่มขึ้นสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้"


          ขณะที่ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย ไตรมาสแรกปี 62 ยังเติบโตได้ดี มีมูลค่าคงค้างรวม 12.96 ล้านล้านบาท ขยายตัวขึ้น 1.3% จาก 12.79 ล้านล้านบาท เมื่อสิ้นปี 61 โดยส่วนใหญ่เป็นการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว ที่เสนอขายให้แก่นักลงทุนกลุ่มสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ แต่ด้านตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น มีมูลค่าการออกลดลง และกลุ่มธุรกิจเดียวกันได้เปลี่ยนจากการออกตั๋วบีอีไปเป็นการกู้ยืมกันในรูปแบบของสัญญาเงินกู้แทน 


          ขณะที่ การลงทุนจากต่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติขายออกสุทธิตลอด 3 เดือน รวม 42,305 ล้านบาท โดยเป็นการขายออกในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น เพื่อรับรู้ผลกำไรหลังจากที่ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยเปลี่ยนเป็นขาขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง แต่ยังเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว โดยมีอายุเฉลี่ยถือครองที่ 8.46 ปี ทำให้ไตรมาสแรกต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 942,993 ล้านบาท คิดเป็น 7.3% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย


          น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่างร่างแก้กฎหมายจัดเก็บภาษีในอัตรา 15% จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ว่า อาจกระทบต่อการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม เพราะจะถูกจัดเก็บภาษีทันทีทุกครั้งที่จ่ายดอกเบี้ย ส่งผลให้นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ลดลง และกองทุนรวมก็ต้องแสวงหาผลตอบแทนอื่นมารองรับ เนื่องจากการลงทุนในตราสารหนี้ความน่าสนใจจะปรับตัวลดลงไปด้วย


          รายงานข่าวจาก บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีในอัตรา 15% จากผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ได้ผ่านความเห็นชอบ สนช.แล้ว และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน อาจสร้าง ปัจจัยเชิงลบต่อกองทุนรวมตราสารหนี้ แต่น่าจะเป็นบวกต่อสินทรัพย์อื่นๆ น่าจะทำให้เงินบางส่วน เคลื่อนไปหาสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า เช่น หุ้นปันผลสูง, กองทุนอสังหาฯ และกองทุนรวมหุ้น เป็นต้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก  www.thaipost.net